เคยสังเกตไหมคะว่าเด็กๆ ที่ช่วยเหลือตัวเองและทำงานบ้านได้ จะมักเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบสูง มีระเบียบวินัย และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดี นั่นเป็นเพราะการทำงานบ้านไม่ใช่แค่การช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะสำคัญที่เรียกว่า Executive Functions (EF) หรือทักษะการทำงานของสมองส่วนหน้า อีกด้วย คุณแม่ต้อง ฝึกลูกทำงานบ้าน กันบ่อยๆ แล้วล่ะค่ะ แต่ก่อนอื่นคุณแม่มาทำความรู้จักกับ EF กันก่อนนะคะ
ทักษะ EF คืออะไร และมีความสำคัญยังไง ?
ทักษะ Executive Functions หรือ EF คือ กระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ อีกทั้งยังเป็นทักษะที่สำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อน การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต เรียกได้ว่า EF เป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนสำคัญ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงทราบดีว่าสมองของเด็กวัยเตาะแตะนั้นเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 3-6 ปีแรก ซึ่งถือเป็น “ช่วงเวลาทองของสมองเด็ก” ในการพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) หรือ ทักษะการทำงานของสมองส่วนหน้า นั่นเอง การพัฒนาทักษะ EF ในช่วงวัยนี้ จะเป็นเหมือนการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับการพัฒนาสมองในระยะยาว และเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น ปรับตัวได้ และการเติบโตของเด็ก
งานบ้าน พัฒนา EF ได้ยังไง ?
การทำงานบ้านเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับการพัฒนาทักษะ EF ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ครบทุกองค์ประกอบของทักษะ EF ที่มี 9 ด้าน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างพฤติกรรมเชิงบวกในทุกๆ ด้านของลูกน้อย ดังนี้
-
- Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) การจำลำดับขั้นตอนการทำ เช่น การทำอาหาร ตอกไข่ ตีไข่ ผัดไข่ เพื่อให้ได้ 1 เมนูที่ต้องการ
- Inhibitory Control (การยั้งคิดไตร่ตรอง) การอดทนรอคอยอาหารที่กำลังทำ หรือการยับยั้งความอยากเล่นเมื่อถึงเวลาทำงานบ้าน ช่วยให้เด็กควบคุมความอยากและความต้องการของตนเองได้
- Shifting หรือ Cognitive Flexibility (การยืดหยุ่นความคิด) การปรับเปลี่ยนวิธีการทำความสะอาดเมื่อเจออุปสรรค เช่น เปลี่ยนจากแปรงมาใช้ผ้าชุบน้ำ ช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
- Focus หรือ Attention (การจดจ่อ ใส่ใจ) การตั้งใจทำความสะอาด หรืองานบ้าน จุดใดจุดหนึ่งให้เสร็จสิ้น หรือการจดจ่อกับส่วนผสมของการปรุงอาหาร ช่วยให้เด็กมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น
- Emotional Control (การควบคุมอารมณ์) การควบคุมอารมณ์เมื่อทำอะไรหกเลอะเทอะ หรือเมื่อรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานบ้าน จะช่วยให้เด็กจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
- Self-Monitoring (การติดตามประเมินตนเอง) การตรวจสอบความสะอาดของพื้นที่ที่ทำความสะอาด หรือการชิมรสชาติอาหารที่ปรุง ช่วยให้เด็กสามารถประเมินผลงานของตนเองและปรับปรุงแก้ไขได้
- Initiating (การริเริ่มและลงมือทำ) การอาสาช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ในการทำงานบ้านโดยไม่ต้องรอให้บอก ช่วยให้เด็กมีความคิดริเริ่มและกล้าที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ
- Planning and Organizing (การวางแผนและจัดระบบดำเนินการ) การวางแผนว่าจะทำความสะอาดส่วนไหนก่อนหลัง หรือการจัดเตรียมวัตถุดิบก่อนทำอาหาร ช่วยให้เด็กวางแผนและจัดลำดับขั้นตอนในการทำงานได้อย่างเป็นระบบ
- Goal-Directed Persistence (การมุ่งเป้าหมาย) การตั้งใจทำความสะอาดให้เสร็จสิ้น หรือการพยายามทำอาหารให้มีรสชาติอร่อย ช่วยให้เด็กมีความมุ่งมั่นและอดทนในการทำงานจนบรรลุเป้าหมาย
7 เทคนิค ฝึกลูกทำงานบ้าน ช่วยเพิ่มพัฒนา EF
งานบ้านอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูกมีปัญหาได้ เด็กๆ มักจะงอแงและคุณพ่อคุณแม่มักจะจู้จี้ บ่น เรื่องให้ทำงานบ้าน มาดูวิธีทำให้ลูกๆ ตื่นเต้นกับงานบ้านกันค่ะ
1. อย่าใช้คำว่า “งานบ้าน”
เพราะคำว่า งานบ้าน แค่ได้ยินก็จะรู้สึกเหนื่อยและเบื่อแล้วค่ะ แทนที่จะบอกว่า “วันนี้เราต้องทำงานบ้านนะ” ลองเปลี่ยนเป็น “วันนี้เราจะมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ประจำบ้านกันนะ ภารกิจของเราคือการแปลงโฉมห้องนอนให้สวยเหมือนปราสาทของเจ้าหญิงเลย หรือหน้าที่รับผิดชอบของคนเก่ง เกมทำความสะอาดบ้าน ก็ได้เช่นกัน
2. สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน ร่าเริง
เด็กๆ มักจะเลียนแบบสิ่งที่เห็น คุณพ่อคุณแม่คือแบบอย่างที่ดีที่สุดของลูกเสมอนะคะ ถ้าเราทำงานบ้านด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และพูดถึงประโยชน์ของการทำงานบ้าน เช่น ทำให้บ้านสะอาด สบายตา สบายใจ หรือทำให้เราภูมิใจในตัวเอง ลูกก็จะรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและสนุกกับการทำงานบ้านไปด้วยค่ะ เพราะเด็กๆ มักจะอยากทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำอยู่แล้วนั่นเองค่ะ
3. ตั้งความหวังให้สมเหตุผล
บางครั้งเด็กๆ ไม่ทำตามที่ขอมากนัก เพราะคุณพ่อคุณแม่มีคาดหวังไว้สูงเกินไป ควรให้เด็กทำงานบ้านให้เหมาะสมกับวัย หากลูกๆ พยายามเพื่อที่จะทำงานตามความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ให้ได้ อาจใช้วิธีลองถามลูกดูว่ามีอะไรที่แม่ช่วยได้บ้าง แล้วลงมือทำไปพร้อมๆ กัน อาจเป็นแรงผลักดันให้ลูกตั้งใจทำงานนั้นให้สำเร็จได้
4. มีภาพประกอบในการทำงาน
การที่คุณพ่อคุณแม่ ชวนลูกทำงานบ้าน นอกจากการถามเด็กๆ ว่าพวกต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหมแล้ว การมีภาพประกอบและขั้นตอนในการทำงาน ก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนเพื่อให้ลูกๆ เพื่อที่ลูกจะสามารถกลับมาดูได้ ว่าตัวเองทำถูกต้องไหม กำลังทำอยู่ในขั้นตอนไหน และเหลืออีกกี่ขั้นตอน งานถึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ
5. มีทางเลือกให้ลูก
การให้ลูกได้มีส่วนในการเลือก ว่าจะทำงานบ้านอะไร เลือกอุปกรณ์แบบไหน การให้ทางเลือกจะช่วยให้ลูกอยากช่วยงานที่ตัวเองเลือกจะทำเองมากขึ้น สำหรับเด็กเล็ก ควรจำกัดตัวเลือกให้เหลือเพียง 2 ตัวเลือก ถ้ามีมากกว่านี้ อาจทำให้ลูกสับสนได้
6. อารมณ์ต้องเย็น
การที่ลูกๆ จะทำอะไรได้คล่องแคล่วเหมือนผู้ใหญ่เลยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นและให้กำลังใจลูกเสมอเมื่อลูกทำผิดพลาด หรือทำไม่ได้นะคะ การดุว่าหรือลงโทษจะทำให้ลูกขาดความมั่นใจและไม่กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ค่ะ เช่น การสังเกตว่าลูกพยายามทำอะไรบ้าง หรือการชมเชยในความพยายามของลูก ก็จะช่วยให้ลูกมีความสุขและอยากจะทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่มากขึ้นค่ะ
7. กำหนดตารางการทำงานบ้าน
เมื่อคุณแม่ต้อง ฝึกลูกทำงานบ้าน การทำตารางงานบ้านให้ลูกก็เป็นวิธีที่ให้เด็กๆ สนใจทำงานบ้านมากขึ้นได้ การออกแบบตารางให้ดูน่ารัก มีสีสัน และมีภาพประกอบที่น่าสนใจอีกทั้งอาจจะมีรางวัลให้หลังทำภารกิจเสร็จ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากทำตามภารกิจที่กำหนดไว้ และที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงตารางงาน ของรางวัล ในแต่ละสัปดาห์ จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกเบื่อและยังคงตื่นเต้นกับการทำงานบ้านอยู่เสมอค่ะ
7 กิจกรรมส่งเสริม EF ให้ลูก
1. วาดภาพระบายสี
ศิลปะถือเป็นอีกสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ การวาดภาพและระบายสีไม่ใช่แค่กิจกรรมสนุกๆ แต่ยังเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่ช่วยปลดปล่อยจินตนาการของลูกน้อยได้อย่างอิสระ การได้จับดินสอสี ปากกา หรือแปรงทาสี จะช่วยให้ลูกได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง และพัฒนาทักษะทางด้านศิลปะไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการผสมสี การสร้างสรรค์ลวดลาย หรือการเล่าเรื่องผ่านภาพวาด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองและความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อยทั้งสิ้นค่ะ
2. ปล่อยให้เล่นอิสระ
การเล่นเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กค่ะ การเล่นอิสระเปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นสำหรับจินตนาการของลูกน้อย เมื่อลูกได้เล่นอย่างอิสระ ลูกจะได้เรียนรู้ที่จะคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต การที่พ่อแม่เลือกของเล่นที่เหมาะสมและคอยสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด จะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
3. ฝึกลูกทำงานบ้าน
การฝึกให้ลูกมาร่วมทำงานบ้านง่ายๆ ด้วยกันนั้น ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะ EF เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โลกของการเรียนรู้และพัฒนาการที่สำคัญเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนทักษะการควบคุมตัวเอง การวางแผน หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถดูแลตัวเองได้ในอนาคตค่ะ
4. กีฬาพาเพลิน
กีฬา คือกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นทักษะ EF ให้ลูกได้เป็นอย่างดี ได้เรียนรู้ทักษะสำคัญๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม การวางแผน การควบคุมอารมณ์ หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ
5. พาลูกเข้าครัว
การพาลูกเข้าครัว ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยฝึกฝนทักษะ EF ของลูกได้ การได้ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการล้างผัก หั่นผลไม้ หรือตีไข่ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบต่างๆ และกระบวนการทำอาหาร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองและร่างกายของลูกอย่างมาก ยังช่วยฝึกให้ลูกมีสมาธิ รู้จักลำดับขั้นตอน และมีความรับผิดชอบมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
6. อ่านนิทานให้ลูกฟัง
เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง พร้อมกับชวนลูกคุยถึงเรื่องราวในนิทาน หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพประกอบ ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะ EF จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ใช้ความคิดวิเคราะห์ จินตนาการ และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
7. นักสำรวจตัวน้อย
การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงค่ะ การที่ลูกได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ดอกไม้ แมลง หรือสัตว์เลี้ยง จะช่วยให้ลูกเข้าใจโลกใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น และจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นานกว่าการอ่านจากหนังสือ การสำรวจธรรมชาติยังช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วยค่ะ
จะเห็นได้ว่าการ ฝึกลูกทำงานบ้าน เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยพัฒนา EF ให้ลูกได้ การส่งเสริมลูกด้วยทักษะ EF คือความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง ในการคิด วางแผน และควบคุมพฤติกรรม ซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้และการเข้าสังคมของเด็กเล็ก การฝึกทักษะ EF ตั้งแต่ช่วงวัย 3-6 ปี จะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถจัดการกับชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : Big Life Journal , Hand-s on EF , Speakup Language Center , แคร์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ส่อง ! 7 คาเฟ่เด็ก ราชพฤกษ์ 2024 พาลูกไปสนุก ฟินกันได้ทั้งครอบครัว
12 โรงแรมสำหรับครอบครัว ตะลุยความสนุก กับสไลเดอร์ สวนน้ำ และกิจกรรมสำหรับเด็ก
พัฒนาการเด็ก 8 ขวบ ต้องพร้อมรับมือยังไง กับวัยเลี้ยงยาก!