โรคเบาหวานเป็นอย่างไร ในเด็กกับผู้ใหญ่แตกต่างกันหรือไม่?
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ชื่อ “อินซูลิน” ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ของร่างกายเพื่อนำไปเผาผลาญให้พลังงาน โดยอาจเกิดจากการขาดอินซูลิน หรือการทำงานของอินซูลินผิดปกติจึงออกฤทธิ์ได้ไม่ดี
โรคเบาหวานไม่ได้เกิดในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สามารถเกิดในเด็กโดยที่อาการและภาวะแทรกซ้อนก็สามารถพบได้ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด?
โรคเบาหวาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. เบาหวานชนิดที่ 1 (เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน) เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพราะเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย เป็นเบาหวานที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น
2. เบาหวานชนิดที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน) เกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินได้แต่เซลล์ของร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน เบาหวานชนิดนี้พบบ่อยในเด็กอ้วนและผู้ใหญ่ โดยมีความเสี่ยงของการเกิดโรคคือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง?
อาการที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าลูกเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีมดมาตอม กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ผิวหนังติดเชื้อบ่อย ๆ เป็นแผลเรื้อรังหายช้า หรือบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงจนช็อคหรือหมดสติได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางคนอาจไม่เคยมีอาการอะไรเลยแต่มาพบคุณหมอเพราะอ้วนมาก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน เมื่อทำการตรวจเลือดแล้วจึงพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ
ระดับน้ำตาลเท่าใดถือว่าเป็นโรคเบาหวาน หน้าถัดไป>>>
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่าใดคุณหมอจึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน?
เมื่อเจาะเลือดพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเจาะหลังจากงดอาหารมา 8 ชั่วโมงขึ้นไปสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเจาะหลังจากทานน้ำตาลกลูโคสในปริมาณที่คุณหมอสั่งไปแล้ว 2 ชั่วโมงสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร คุณหมอก็จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานค่ะ
หากลูกเป็นโรคเบาหวานจะมีการดูแลรักษาอย่างไร?
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน คุณหมอจะให้การรักษาดังนี้ค่ะ
เบาหวานชนิดที่ 1 คุณหมอจะสอนการฉีดยาอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 คุณหมอจะให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และอาจให้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดถ้ายังควบคุมไม่ได้ก็จะให้ฉีดยาอินซูลินค่ะ ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรจะดูแลสุขภาพ เรียนรู้เรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
สุดท้ายหมอขอฝากว่าหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการที่เข้าได้หรือมีความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานก็ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อรีบรับการรักษาจะได้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของไต จอตา และหลอดเลือด ในอนาคตค่ะ และเนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับภาวะอ้วน คุณพ่อคุณแม่อาจลดความเสี่ยงของโรคได้โดยสร้างนิสัยการกินที่ดีให้กับลูก ไม่กินจุบจิบ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนะคะ
ลูกเป็นเด็กเลือกกินและชอบกินอาหารขยะ
เด็กฐานะดีและฐานะไม่ดีกินต่างกันอย่างไร