เด็กหลายคนอยากฝึก ร้องเพลง ตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยความฝันที่อยากเป็นนักร้อง หากลูกมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง คุณพ่อคุณแม่ควรให้การส่งเสริมไปในทิศทางที่ถูกต้อง ช่วยฝึกฝนและช่วยแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการร้องเพลงเท่าที่สามารถทำได้ คอยให้กำลังใจอย่างเต็มที่ ทั้งตอนที่ลูกสมหวัง หรือผิดหวัง
ค้นหาตัวเองว่าชอบ ร้องเพลง จริง ๆ ไหม
เด็กจะมีพัฒนาการด้านการฟังเต็มที่เมื่ออายุ 2-6 ปี ทำให้มีโอกาสที่ลูกดูการร้องเพลงจากสื่อต่าง ๆ จนเกิดความฝันอยากเป็น “นักร้อง” ขั้นแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ถามความตั้งใจของลูกว่ามีความต้องการที่จริงจังมากแค่ไหน เพื่อที่จะได้สามารถช่วยส่งเสริมลูกให้ถูกทาง เนื่องจากการร้องเพลงต้องใช้เวลาฝึกฝน เรียนเทคนิคต่าง ๆ และอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำให้ฝันเป็นจริงได้เสมอ เด็กต้องเข้าใจว่าต้องใช้ความพยายาม และเวลาควบคู่กันไป ทางด้านของคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเปิดใจยอมรับในความต้องการของลูก และช่วยสนับสนุนเขาให้เต็มที่อย่างที่สุด
หมั่นฝึกฝนการร้องเพลง เพิ่มเติมส่วนที่ขาด
จุดเริ่มต้นของความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองต้องสอนให้ลูกเข้าใจในเรื่องนี้ ดังนั้นลูกควรมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการร้องเพลงเมื่อมีโอกาส หรือควรได้รับการฝึกฝนจากโรงเรียนสอนร้องเพลงที่เหมาะกับเด็กโดยตรง เพื่อให้ลูกได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเรียนกับโรงเรียนสอนร้องเพลงยังสามารถช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานที่มักเป็นอุปสรรคต่อความฝันของลูก เช่น เสียงเบาไม่มีน้ำหนัก พูดไม่ค่อยชัด อาจเกิดจากการที่เด็กเลียนแบบคนรอบตัว ร้องเพลงเพี้ยน คร่อมจังหวะ หรือลืมหายใจเวลาร้องเพลง รวมไปถึงปัญหาของเด็กยุคใหม่ที่เป็นอุปสรรคของการร้องเพลง คือ การเว้นวรรคคำไม่ถูกต้อง เป็นต้น
การแก้ปัญหาการออกเสียงในเด็ก อุปสรรคของการ ร้องเพลง
-
การพูด หรือออกเสียงไม่ชัดเจน
การออกเสียงไม่ชัดเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปสำหรับเด็กที่กำลังฝึก ร้องเพลง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และต้องแก้ตามสาเหตุนั้น ๆ ได้แก่ เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ เช่น ริมฝีปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือมีเส้นยึดที่ปลายลิ้น เป็นต้น สามารถแก้ได้ด้วยการผ่าตัด, เกิดจากความไม่พร้อมของอวัยวะจากการที่อวัยวะยังไม่พร้อมใช้งานเต็มที่ พบได้มากในเด็กเล็ก เมื่อเวลาผ่านไปอวัยวะจะพร้อมใช้งานมากขึ้นเอง และเกิดจากการเลียนแบบคนรอบตัว สามารถแก้ได้ด้วยการให้คนรอบข้างพยายามปรับการพูด เพื่อให้เด็กซึมซับลักษณะการพูดที่ถูกต้อง
-
ลูกพูดเสียงเบา หรือดังมากเกินไป
ฝึกง่าย ๆ ด้วยการเหยียดหลังตรง หายใจเข้าลึก ๆ เพื่อเปล่งเสียงออกมาจากท้องจะช่วยให้เสียงดังขึ้นในระดับที่พอดีได้ หรือฝึกด้วยการไม่รีบพูด ค่อย ๆ พูดให้ช้าลง แต่เพิ่มความชัดเจน และมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองกำลังพูดอยู่เสมอ อย่าลืมที่จะเว้นวรรคคำให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้มีจังหวะหายใจ ให้การออกเสียงสามารถคงระดับไว้ได้ตลอด
-
ลูกร้องเพลงเพี้ยนไม่ตรงจังหวะ
นอกจากการไปเรียนโดยตรงแล้ว อาจใช้เวลาว่างชวนลูกร้องเพลงเป็นการฝึกไปในตัวเมื่อมีเวลาว่าง ยิ่งลูกได้มีโอกาสร้องเพลงบ่อยแค่ไหนก็จะยิ่งเรียนรู้จังหวะของเพลงนั้น ๆ และปรับตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น
หากเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้ว จะเริ่มมีการพูดที่ชัดเจนขึ้นตามอายุ แต่หากยังพูดไม่ชัด แม้ไม่มีปัจจัยตามที่กล่าวมาควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำในการแก้ปัญหาที่ได้ผลดี และลดอุปสรรคต่อการร้องเพลงของเด็กได้ในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกให้เป็นนักดนตรี ทำอย่างไรได้บ้าง ทำไงให้ลูกรักเสียงเพลง
ควบคุมความรู้สึกตนเอง เมื่อไม่ชนะ
เด็กหลายคนอาจไม่พอใจ หรือไม่เข้าใจกับสิ่งที่ตนทำอยู่ เนื่องจากเวลาผ่านไปการฝึกฝนร้องเพลงเป็นเวลานานจนมีความมั่นใจ แต่พอได้โอกาสไปประกวดกลับไม่ได้รับรางวัล หรือไม่ชนะรายการใดได้เลย ดังนั้นการที่เด็กจะมีความไม่พอใจ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ในฐานะผู้ปกครองควรช่วยให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย คอยให้กำลังใจ และพูดคุยกับเด็กเรื่องการจัดการอารมณ์ความรู้สึกอยู่เสมอ ไม่ให้ลูกรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ หรือกำลังสู้อยู่คนเดียว
ระวังอันตรายจากความฝันของการร้องเพลง
การอยากเป็นนักร้องหลายครั้งอาจได้รับการติดต่อให้ไปทดสอบความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย เหมือนกับศิลปินชื่อดังหลายคน แต่ในสังคมปัจจุบันที่มีอันตรายอยู่รอบด้าน ผู้ปกครองจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อลูกต้องการไปทดสอบความสามารถจึงควรตรวจสอบทั้งสถานที่ ความเหมาะสมของเวลา รวมไปถึงการหาข้อมูลของการประกวด หรือเวทีทดสอบนั้น ๆ ว่ามีข้อมูลความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ภัยใกล้ตัวลูก เตือนพ่อแม่!! ให้รู้เท่าทันอันตรายรอบตัวเด็ก
รักในสิ่งที่ทำ ได้รับกำลังใจจากพ่อแม่
เนื่องจากความหนักของการฝึกฝนร้องเพลง ยิ่งถ้ามีอุปสรรคที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ได้ไปต่อ เด็กอาจเกิดความท้อต่อสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ แต่ถ้าหากเด็กมีความรัก และมีความต้องการที่จะทำตามฝันของตนเอง พ่อแม่ต้องให้กำลังใจพยายามพูดทัศนคติในแง่ดีให้ลูกฟัง หรือชวนลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างความผ่อนคลาย ลดความเหนื่อยล้าลงบ้าง ในส่วนของคำพูดนั้นมีความสำคัญ ซึ่งมีวิธีพูดกับเด็กหลายแบบ ได้แก่
- สร้างทัศนคติแง่ดี : ถึงแม้ลูกจะประสบความสำเร็จ หรือชนะการประกวดร้องเพลงหรือไม่ พ่อแม่ก็ควรให้กำลังใจด้วยคำพูดที่สร้างทัศนคติเชิงบวก เช่น “พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะ” “ไม่เป็นไรนะ ครั้งหน้ามาเริ่มกันใหม่” ”พ่อกับแม่รักลูกมากนะ” หรือ “ลูกทำดีที่สุดแล้ว สู้ ๆ นะ”
- หลีกเลี่ยงการตัดกำลังใจ : ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่อาจจะมองเห็นจุดบกพร่องของลูก ก็ไม่ควรที่จะเข้าไปพูดเชิงทำร้ายจิตใจ หากต้องการบอกลูกควรพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพ หรือเลือกเวลาพูดที่เหมาะสม ไม่ควรพูดกับลูกทันทีเนื่องจากอาจกระทบกับความรู้สึกของลูกที่กำลังเสียใจมากขึ้นไปอีกนั่นเอง
- แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ลูกเลือกไม่ใช่สิ่งที่ผิด : ลูกอาจมีความลังเลเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก นอกจากคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยลูกได้แล้ว การร่วมร้องเพลงกับลูก หรือพาลูกไปดูการแสดงดนตรีที่ลูกชอบ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้อีกครั้ง
เมื่อลูกไปไม่ถึงฝันการเป็นนักร้อง
สุดท้ายแล้วเมื่อเด็กพยายามทุกอย่างแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่อย่างถึงที่สุด แต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในอนาคต คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้เรียน และฝึกฝนมาจะไม่เปล่าประโยชน์ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง แต่เขายังสามารถใช้ความสามารถที่ได้ฝึกฝนมาประกอบอาชีพในแวดวงที่ตนเองถนัดได้อยู่ เพื่อให้ลูกได้สร้างพลังบวกให้กับคนอื่น ๆ รอบตัวต่อไป
ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่เพียงความฝันของเด็กที่จะเป็นนักร้องเท่านั้นที่ควรได้รับการส่งเสริม หากเด็กมีความต้องการที่จะเติบโตไปทำอาชีพที่มีความสุจริต การคอยสนับสนุนเขาเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำให้ดีที่สุด
ที่มาข้อมูล : thairath thaihealth synphaet
บทความที่น่าสนใจ
ควรให้ลูกเริ่มเรียนดนตรีเมื่อไหร่ดี
ร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อย ๆ ปูทางลูกฉลาด
คนท้องร้องเพลง แล้วดีอย่างไร ? ช่วยให้ลูกอารมณ์ดีได้ไหม ?