เนื่องจากเด็กต้องอาศัยการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่เป็นเวลานานหลายปี จึงจะสามารถช่วยตนเอง และพึ่งตนเองได้ ฉะนั้นการเลี้ยงดู และการอบรมเด็กจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ในการจะทำให้เด็กมีสุขภาพกาย และใจดีเต็มที่ตามศักยภาพสูงสุด (maximum potential) ของเด็กแต่ละคน การเข้าใจในเรื่องของ จิตวิทยาเด็ก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
กุมารแพทย์เป็นผู้หนึ่งสามารถที่จะมีบทบาทได้อย่างมากในการให้คำแนะนำ และปรึกษา เกี่ยวกับ จิตวิทยาเด็ก เพราะกุมารแพทย์มักจะเป็นผู้ที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กให้ความเชื่อถือ และมาพบอยู่แล้วเสมอ ๆ ด้วยปัญหาทางกาย เช่น เป็นหวัด ตัวร้อน หรือมาสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เด็ก
จิตวิทยาการเลี้ยงดูเด็ก (Psychological aspect of child rearing)
สิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต และการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์นั้น แบ่งได้เป็น ๒ พวกใหญ่ ๆ คือ
- สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย (physical needs) เช่น อากาศสำหรับหายใจ อุณหภูมิที่เหมาะสม เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น
- สิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ (psychological needs) ที่จะทำให้มนุษยนั้นอยู่อย่างปกติสุข สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพ คือ สามารถประกอบการงานให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และสังคม
ความต้องการด้านจิตใจของเด็ก
ความต้องการด้านจิตใจของเด็กนั้นมีความแตกต่างกันไปบ้าง ตามวัยของเด็ก แต่พอจะสรุปได้กว้างๆ ว่า สิ่งต่อไปนี้มีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กทุกคน คือ
- ความรักความอบอุ่น เด็กรู้สึกอยากให้พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูรักตน รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการ มีค่าสำหรับพ่อแม่ รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ เด็กไม่ควรรู้สึกว่าพ่อแม่รังเกียจตน ไม่ชอบ ลำเอียง ปฏิเสธ หรือไม่เป็นที่ต้องการ เป็นส่วนเกิน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตามใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผล จนทำให้กลายเป็นคนตามใจตัวเองตลอดเวลา ไม่สามารถอดทนต่อภาวะที่คนปกติธรรมดา
- การกระตุ้นอย่างเหมาะสม การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมนั้น ขึ้นกับวัยของเด็ก เช่น วัยทารกแรกเกิดก็ต้องการ การอุ้ม การสัมผัส การยิ้ม การพูดคุยด้วยเพื่อให้ได้ยินเสียง พอโตขึ้นก็ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น การเล่น การพูดคุย ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยก็จะช่วยกระตุ้นได้ดี สำหรับเด็กในขวบปีแรก เพื่อกระตุ้นการได้ยิน
การใช้สายตา ควรใช้ของเล่นที่เคลื่อนไหวที่มีสีสด และมีเสียงพอโตขึ้นอีกเด็กจะต้องการการกระตุ้น เพื่อลดการเคลื่อนไหว ควรใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เช่น การใช้นิ้วมือ การใช้มือเท้า และอื่น ๆ การกระตุ้นต่าง ๆ นี้ผลทางจิตใจที่ได้ คือเด็กรู้สึกได้รับความรัก ความสนใจ และที่สำคัญ คือ ได้กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกสนุก อยากทดลองอยากลองทำ ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกตามไปด้วย
- ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย (Security and protection) ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเด็ก ได้มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครอบครัวสงบสุข เด็กจะไม่รู้สึกกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง โดยไม่มีโรคทางกายเป็นเหตุ แต่กลับสัมพันธ์กับเวลาเด็กเกิดรู้สึกเครียด รู้สึกกลัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายกัน หรือกำลังจะหย่าร้างกัน
- คำแนะนำ และการสนับสนุน (Guidance and support) เด็กต้องการคำแนะนำ หรือคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น บทบาทที่เหมาะสม ตามเพศของเด็กหญิง หรือเด็กชาย การปฏิบัติตัวในสังคม ค่านิยม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ และควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ที่เห็นเหมาะสม เช่น กิจกรรมที่เด็กต้องการจะทำ อาจช่วยด้านการเงิน หรือช่วยหาอุปกรณ์ช่วยให้ความคิด
- ความสม่ำเสมอ และการมีขอบเขต (Consistency and limits) ทั้ง 2 อย่างมีความสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้หรือไม่ได้ ไม่สับสนทั้งความคิดและการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ที่ใช้ควรจะมีเหตุผล และมีการปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าในบ้าน เพราะทำให้บ้านสกปรก
จิตวิทยาการเลี้ยงดู และอบรมเด็กนั้นไม่ใช่ของยากจนเกินไป ขอเพียงแต่พ่อแม่ และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กมองเห็นความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องรู้ และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เท่านั้น ก็จะสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาทางกาย และใจของเด็กได้มาก จึงหวังว่าการพยายามเผยแพร่ความรู้อันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ ๆ ไป
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เลี้ยงลูกยังไง ให้เป็นเด็กจิตใจดี ตามงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก
เล่นกับลูกอย่างไร เพื่อให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
เลี้ยงลูกเอง หรือฝากเลี้ยง : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ