พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร ลูกในวัย 5 ปี 6 เดือน เติบโตแค่ไหน
พัฒนาการเด็ก 5 ปี 6 เดือน
เวลาผ่านไป ลูกน้อยเติบโตตามวัย จนถึงตอนนี้ลูกก็มีอายุ 5 ขวบ 6 เดือนแล้ว พัฒนาการของลูกน้อยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พัฒนาการเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เมื่อพ่อแม่กังวลว่า ลูกจะมีพัฒนาการที่ช้า ลองปรึกษากุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีที่สุด ส่วนพัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน มีอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านกันได้เลย
พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ของเด็กวัย 5 ขวบ 6 เดือน
ลูกน้อยวัย 5 ปี 6 เดือน มีร่างกายที่แข็งแรง เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว สนุกสนานกับการกระโดดโลดเต้น พ่อแม่จึงต้องให้ลูกได้ปลดปล่อยพลังงานด้วยกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้ลูกได้ฝึกการเคลื่อนไหว ซึ่งสำคัญกับพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือนที่ทำได้
- ปีนป่ายและโยกตัวไปมา
- ขี่รถจักรยานสามล้อเด็กเล็กได้
- ปีนบันไดโดยใช้เท้าทั้งสองข้างได้
- สามารถใช้ช้อน ส้อม ทานอาหารเองได้
- สามารถกระโดดข้าม หรือกระโดดโลดเต้นได้
- สามารถยืนกระต่ายขาเดียวได้นานกว่า 10 วินาที
- สามารถขับถ่ายในห้องน้ำคนเดียวได้แล้ว (ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของพ่อแม่)
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
- ลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน อยากจะวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น โชว์ความสามารถทางร่างกายให้พ่อแม่ได้เห็น ดังนั้น พ่อแม่ควรพาลูกไปสถานที่ที่เด็กจะสามารถออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของลูก
- พาลูกไปสนามเด็กเล่นหรือสถานที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้ลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน ได้ฝึกทักษะใหม่ ๆ หรือชวนลูกเล่นกีฬาด้วยกันก็ได้
- เพื่อให้ลูกได้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ควรปล่อยให้ลูกได้ทานอาหารเอง แม้จะหกเลอะเทอะหรือเปรอะเปื้อนบ้าง
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
หากลูกไม่ได้มีพัฒนาการตามวัย หรือไม่สามารถทำบางอย่างได้เหมือนเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ก็อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ เด็กบางคนมีพัฒนาการที่ช้า เด็กบางคนมีพัฒนาการที่เร็ว แต่ถ้าเช็คจากตารางพัฒนาการเด็กแล้ว ลูกมีพัฒนาการช้ามากจนผิดสังเกต ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัย สำหรับข้อควรสังเกต เช่น
เด็กวัย 5 ขวบ 6 เดือน ควรมีความสนใจในกิจกรรมที่ใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหว หากลูกไม่กระตือรือร้น นิ่งเฉย จนผิดสังเกต ก็ควรปรึกษาคุณหมอ
พัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้ ของเด็กวัย 5 ขวบ 6 เดือน
ลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน จะมีความสนใจใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น มีจินตนาการ ช่างซักช่างถาม สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าลูกมีพัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้
วัยนี้เองที่ลูกจะช่างถามและช่างเถียง ลูกจะหาเหตุผลมาโต้ตอบ หรือยืนยันในสิ่งที่ลูกต้องการ การตอบโต้ของลูกอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่พอใจ แต่นี่คือพัฒนาการของลูก เพราะลูกเริ่มคิดอย่างมีวิจารณญาณ
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือนที่ทำได้
- สามารถวาดสามเหลี่ยมและวาดรูปทรงต่าง ๆ ที่เห็นจากหนังสือได้
- สามารถนับเลข 1-10 หรือมากกว่านั้นได้
- เด็กบางคนสามารถวาดรูปร่างของมนุษย์ หรือรูปทรงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้บ้างแล้ว เช่น วาดมือ วาดแขน หรือวาดขา
- รู้เรื่องการใช้เงิน รู้ว่าเงินสามารถใช้ซื้อสิ่งของได้
- สามารถวาดคัดลอกตัวหนังสือ ตัวอักษร หรือตัวเลขได้
- มีทักษะการใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา
- มีทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
- ลูกอาจจะแสดงความคิดเห็นที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่พ่อแม่ควรพูดกับลูกด้วยคำพูดง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน
- พ่อแม่ควรกระตุ้นให้ลูกวาดรูป ขีดเขียน หรือคัดลอกตัวหนังสือ เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ และยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกได้ด้วย
- ถามลูกเวลาที่กลับมาจากโรงเรียนในทุกวัน และชวนลูกพูดคุย สอบถามเรื่องในโรงเรียน เพื่อให้ลูกเรียนรู้การใช้ศัพท์ที่แสดงออกถึงความคิดของตัวเอง แล้วพ่อแม่จะแปลกใจว่า ลูกไม่เพียงแต่เล่าเรื่องกิจกรรมในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวลูกได้ด้วย
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- หากลูกไม่สามารถให้ความสนใจหรือโฟกัสสิ่งไหนได้นาน ๆ และถูกรบกวนจนไม่มีสมาธิได้ง่าย
- หากลูกไม่สามารถเล่าเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไปได้ หรือไม่สามารถเล่าเรื่องราวในวันนั้นได้
- หากลูกไม่สามารถตอบสนองต่อผู้คน หรือลูกตอบกลับแบบเนือยนิ่ง ไม่กระตือรือร้น
- หากลูกเล่าเรื่องของอดีตผสมปนเปกับปัจจุบัน
- หากลูกไม่สามารถวาดเขียนได้
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ของเด็กวัย 5 ขวบ 6 เดือน
พัฒนาการเด็กทางอารมณ์และสังคมของลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน จะมุ่งเน้นไปที่จิตนาการ ทำให้ลูกมีจิตนาการที่เจิดจ้า สร้างเรื่องราวไร้สาระ หรือคำถามตลก ๆ ลูกจะเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างทางความคิดของผู้คนว่า แต่ละคนก็มีความคิดที่หลากหลาย และอาจไม่จำเป็นต้องคิดเหมือน ๆ กัน สำหรับพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็กวัยนี้ เช่น
- ลูกจะเริ่มมีเหตุผลของตัวเองมาโต้แย้งโต้เถียง เพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองออกมาทางคำพูด
- ลูกจะพยายามทำให้เพื่อนรอบ ๆ ตัวพึงพอใจ
- ลูกจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนได้ บางครั้งเห็นด้วยกับเรา บางครั้งก็ไม่ให้ความร่วมมือ
- ลูกจะเริ่มเข้าใจถึงกฎ และพยายามที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ
- ลูกจะเริ่มเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางเพศ
- ลูกจะเริ่มทำตัวเลียนแบบเพื่อน ๆ หรือทำตัวให้เหมือนเพื่อน
- เด็กบางคนมีความสนใจในการร้องเพลง การเต้น หรือการแสดง
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
- เสริมทักษะในการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง และสอนให้ลูกรู้จักการขอโทษเมื่อทำผิด ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องรู้จักขอโทษลูกเมื่อตัวเองทำผิดด้วย
- ลูกเรียนรู้ที่จะสื่อสารเพื่อแสดงความไม่พอใจผ่านทางคำพูด หากพ่อแม่ใช้เวลารับฟังอย่างตั้งใจ ค่อยพูดค่อยจา จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมที่แสดงความไม่พอใจได้
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- ถ้าลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือแม้กระทั่งแสดงออกอย่างรุนแรงเรื่องอารมณ์ด้านอื่น ๆ เช่น ขี้อายมากเกินไป ขี้กลัวมากเกินไป หรือเศร้าโศกเสียใจมากเกินไป
- ถ้าลูกไม่แสดงออกถึงอารมณ์อะไรเลย ก็น่ากังวลเช่นกัน
- ถ้าลูกปฏิเสธที่จะเล่นกับคนอื่น ๆ
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ของเด็กวัย 5 ขวบ 6 เดือน
ลูกจะเริ่มเรียนรู้คำศัพท์มากมาย ทักษะทางภาษาของลูกก้าวหน้ามากพอที่จะคุยกับผู้ใหญ่ได้รู้เรื่อง เด็กบางคนจะเริ่มร้องเพลง พูดคำคล้องจองหรือแต่งกลอนได้นิดหน่อย เด็กบางคนยังชอบสร้างคำขึ้นมาเองอีกด้วย สำหรับพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของลูก เช่น
- ลูกจะสามารถนับ 1 ถึง 10 ได้แล้ว
- ลูกจะสามารถระบุสีได้มากถึง 4 สี สามารถระบุรูปร่างได้มากถึง 4 แบบ
- ลูกจะเริ่มรู้จักตัวอักษรหรือตัวหนังสือบ้างแล้ว
- ลูกจะพูดจาได้ชัดและฉะฉานขึ้น
- ลูกจะเข้าใจเรื่องเวลา โดยเชื่อมโยงเวลากับกิจกรรม เช่น ไปโรงเรียนในตอนเช้า และเข้านอนในตอนกลางคืน
- ลูกจะรู้เรื่องบ้าน ตอบได้ว่าอยู่ที่ไหน
- ลูกจะสามารถอ่านคำง่าย ๆ เช่น แมว หมา ถ้วย
- เด็กบางคนจะสามารถเขียนชื่อตัวเองได้แล้ว
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
- ลองสื่อสารกับลูกด้วยประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น หากลูกไม่เข้าใจก็อธิบายช้า ๆ
- ลองถามคำถามลูกด้วยคำถามใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกคิดหาคำตอบ หรือแสดงความคิดเห็นผ่านทางคำพูด
- ถ้าลูกไม่ชอบตอบคำถาม หรือไม่อยากพูดเยอะ ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นเอาคำตอบ
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 6 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- หากลูกหลบสายตาเวลาพูดคุย
- หากลูกไม่สามารถแสดงออกทางร่างกายโดยไม่ใช้คำพูด หรือไม่สามารถแสดงอวัจนภาษาได้
สุขภาพและสารอาหาร
ความสูงโดยเฉลี่ยของเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน ประมาณ 109 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 19.5 กิโลกรัม ตอนนี้ลูกจะกินอาหารแบบเดียวกับผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว ลูกจะบอกพ่อแม่เวลาที่หิว และสามารถใช้ช้อมส้อมได้อย่างคล่องขึ้น แต่พ่อแม่ก็ยังไม่ควรให้ลูกกินอาหารที่เค็มมากหรือหวานจัดเกินไป
การจัดสมดุลด้านอาหารให้กับเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน จะช่วยให้ร่างกายของลูกเติบโตอย่างแข็งแรง และนี่คือตัวอย่างอาหารสำหรับลูก
สารอาหาร | ปริมาณ | ไอเดียมื้ออาหาร |
แคลอรี่ | 1,200-2,000 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโต และกิจกรรมที่ลูกทำ | แซนวิชไก่ชีส, ซีเรียลใส่นม, ซุปไก่และผัก |
โปรตีน | 0.5 ถ้วย | ปลานึ่ง หรือไข่ต้ม |
ผลไม้ | 1-1.5 ถ้วย | มื้อที่กินซีเรียล สามารถใส่ผลไม้หั่นชิ้นพอดีคำใส่ลงไปด้วยได้ หรือใส่ผลไม้หลากชนิดลงในโยเกิร์ต |
ผัก | 1.5-2.5 ถ้วย | เลือกผักที่มีไฟเบอร์และธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม แครอท และบีทรูท |
ข้าวและธัญพืช | 3/4 ถ้วยตวง | ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นพาสต้า |
ผลิตภัณฑ์จากนม | 2.5 ถ้วย | นมสด 1 แก้ว หรือเลือกโยเกิร์ต |
วัคซีนและอาการป่วยของเด็ก 5 ขวบ 6 เดือน
เด็ก 5 ขวบ 6 เดือน ยังไม่มีวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดประจำเดือนนี้ แต่ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็ลองปรึกษาคุณหมอดูได้ ส่วนอาการเจ็บป่วยของเด็กที่ต้องระวัง เช่น ไข้หวัด โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคคางทูม โรคมือเท้าปาก นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังเรื่องอาการแพ้อาหารของลูก รวมถึงสอนให้ลูกล้างมือและดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 6 เดือนของแต่ละคนแตกต่างกันไป พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดี หากรู้สึกว่าลูกมีพัฒนาการช้า หรือมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบปรึกษาแพทย์
ที่มา: sg.theasianparent
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ 7 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี [ออนไลน์] เช็กเลย!