พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน มีพัฒนาการอย่างไร ลูกในวัย 5 ปี 3 เดือน เติบโตแค่ไหน
พัฒนาการเด็ก 5 ปี 3 เดือน
รู้หรือเปล่าว่า ลูกวัย 5 ปี 3 เดือน ก็สามารถฝึกผูกเชือกรองเท้าได้แล้ว และยังทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย เพราะพัฒนาการลูก ยิ่งโต ยิ่งไปได้เร็ว ถ้าลูกเริ่มมีสังคมจะเห็นได้ว่า ลูกสงบนิ่ง คอยสังเกตและเรียนรู้สิ่งใหม่ ผิดกับตอนอยู่ในบ้าน
ถ้าอยากรู้ว่าเด็ก 5 ปี 3 เดือน มีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างไร ติดตามอ่านได้เลย
พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ของเด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน
เด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน จะอยากเคลื่อนไหว ชื่นชอบการปล่อยพลัง หรือเล่นกีฬามากเป็นพิเศษ ลูกจะชอบกระโดดโลดเต้น วิ่งกระโดดข้ามโน่นข้ามนี่ เพราะร่างกายของเด็กวัยนี้ มีความกระฉับกระเฉงและคล่องแคล่ว ทั้งยังสนใจใคร่รู้เรื่องราวของโลกกว้างอีกด้วย
ช่วงวัยนี้ เด็กควรนอนหลับให้ได้ 11 ชั่วโมงต่อคืน จะงีบหลับช่วงกลางวันบ้างก็ไม่แปลก แม้ว่ากิจกรรมกลางแจ้งจะจำเป็นสำหรับเด็กวัยนี้ แต่การให้ลูกได้มีเวลาส่วนตัว เล่นต่อบล็อก หรืออ่านหนังสือ ก็สำคัญกับลูกเช่นกัน จัดเวลาให้ดี เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า เวลาไหนเล่น เวลาไหนต้องอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ
การให้ลูกรู้จักเล่น รู้จักพัก จะช่วยรักษาระดับพลังงานของเด็กในช่วงวัยนี้ ทำให้เด็กให้ความร่วมมือตอนมื้อเย็นได้ด้วย
พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว 5 ขวบ 3 เดือนที่ทำได้
- ลูกใส่รองเท้าเองได้
- ยืนกระต่ายขาเดียวได้นาน 10 วินาที
- ตบมือเป็นจังหวะ
- ลูกสามารถใช้ช้อนส้อม กินอาหารด้วยตัวเองได้
- เข้าห้องน้ำเองได้ อาบน้ำเองได้ ซึ่งอยู่ที่การสอนของพ่อแม่ด้วยว่า เริ่มฝึกลูกตั้งแต่ตอนไหน
- เดินขึ้นบันไดด้วยขาทีละข้างได้คล่องขึ้น
- วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน ไม่ค่อยสะดุดล้ม
- ชอบที่จะปีนป่าย ให้ระวังตอนลูกไปปีนต้นไม้ด้วย
- เด็กบางคนชอบที่จะตีลังกา
- ไม่ค่อยจะฉี่รดที่นอนแล้ว ทั้งนอนกลางวัน หรือนอนตอนกลางคืน
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
- เด็กบางคนเริ่มอยากอาบน้ำด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่อย่าเพิ่งปล่อยให้ลูกอาบน้ำเองลำพัง ให้อยู่ในห้องน้ำ คอยดูพัฒนาการของลูก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
- พาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ใหม่ แล้วสนับสนุนให้ลูกเริ่มลองเล่นเครื่องเล่นอะไรใหม่ ๆ แต่ความปลอดภัยของเด็กต้องเป็นที่หนึ่ง
- วัยนี้สามารถเรียนว่ายน้ำอย่างจริงจังได้แล้ว
- แทนที่จะให้ลูกจ้องจอ ควรให้ลูกทำกิจกรรมกลางแจ้งเยอะ ๆ
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 3 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- ถ้าลูกยังฉี่รดที่นอนบ่อย ๆ หรือเวลาฉี่รู้สึกปวด แสบ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
- ลูกเนือยนิ่ง เฉี่อยชา ทำอะไรช้า ก็ควรปรึกษาแพทย์
- หากการมองของลูกผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงอาการสายตาเอียง หรือชอบหรี่ตาบ่อย ๆ รวมถึงฟังไม่ค่อยได้ยิน ไม่หันตามเสียงเรียก
พัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้ ของเด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน
สำหรับพัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้ของลูก ทำให้พ่อแม่ประหลาดใจได้เสมอ ทั้งเรื่องความจำ การมีสมาธิจดจ่อที่ทำได้มากขึ้น และแม้ว่าพ่อแม่อยากปกป้องลูกมากแค่ไหน ก็ต้องปล่อยให้ลูกได้รู้จักแก้ปัญหา เผชิญหน้ากับข้อจำกัดบางอย่าง และคอยสังเกตว่าลูกจะแก้ไขอย่างไร อย่าช่วยลูกไปเสียทุกอย่าง ให้ลูกได้ท้าทายความสามารถตัวเองบ้าง
พัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้ ของเด็ก 5 ขวบ 3 เดือนที่ทำได้
- เริ่มรู้จักคำว่า ถูก และ ผิด ค่อย ๆ เรียนรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด
- เขียนตัวหนังสือ ตัวอักษร บางตัวได้แล้ว
- เขียนตัวเลขบางตัวได้
- นับ 1-10 ได้เป็นอย่างน้อย
- ท่องก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เริ่มท่องได้บ้างแล้ว
- วาดรูปคน ร่างเส้นเป็นรูปคนได้แล้ว
- มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นาน 5-10 นาที
- สามารถอ่านคำบางคำได้
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
- ให้ลูกลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ คอยสนับสนุนแต่ปล่อยให้ลูกทำด้วยตัวเอง เพื่อฝึกความมั่นใจและทักษะในการแก้ปัญหา
- เล่นเกมปริศนา ต่อจิ๊กซอว์ ต่อบล๊อก หรือเล่นของเล่นเสริมพัฒนาการ
- กระตุ้นให้ลูกฝึกวางแผนล่วงหน้า ให้ลูกอธิบายสิ่งที่อยากทำในแต่ละวัน เพื่อกระตุ้นให้ลูกฝีกการวางแผนล่วงหน้า
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 3 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมนาน ๆ ได้เกิน 5 นาที
- จับดินสอหรือถือสีไม้ไม่ได้ แต่ชอบที่จะกำ
- สูญเสียทักษะและความสามารถที่เคยมี
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ของเด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน
ก่อนที่ลูกจะเข้าเรียนประถม ควรให้ลูกฝึกทักษะต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ เริ่มพาลูกเข้าสังคม เพราะวัยนี้เด็กจะเริ่มสนใจเพื่อนวัยเดียวกัน รวมถึงผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ลูกชอบที่จะเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน
วัยนี้ลูกจะอยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ หากได้รางวัล หรือแข่งบางอย่างชนะ มักจะวิ่งมาบอกพ่อแม่เสมอ ดังนั้น อย่าลืมที่จะชมเชยลูก และให้กำลังใจเวลาลูกรู้สึกผิดหวัง
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ของเด็ก 5 ขวบ 3 เดือนที่ทำได้
- มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
- ชอบและสนุกสนานกับการเล่นกับเพื่อน
- แชร์ของเล่นให้คนอื่นด้วยความเต็มใจ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำ และเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ
- เลียนแบบผู้ใหญ่ รวมถึงเริ่มมีอารมณ์แบบผู้ใหญ่แล้ว
- เริ่มสังเกตคนอื่น บอกได้ว่า คนนั้นรู้สึกมีความสุข เศร้า หรือโกรธ
- เข้าใจเรื่องจิตนาการ ที่แตกต่างจากความเป็นจริง
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
- ลองให้ลูกเลือกสิ่งที่ลูกต้องการ
- ถ้าลูกพูดโกหกแล้วจับได้ ควรพูดคุย อธิบายเรื่องการโกหกกับลูกให้เข้าใจ เด็กในวัยนี้เริ่มรู้จักต่อรอง หรือหาเหตุผลเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
- ควบคุมการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของลูก ทั้งเรื่องหน้าจอและการดูโทรทัศน์
- ระหว่างการเดิน ข้ามถนน หรือวิ่งเล่น อย่าปล่อยให้ลูกคลาดสายตา เพราะเด็กวัยนี้จะรู้สึกมีอิสระมากขึ้น อยากทำอะไรด้วยตัวเอง
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 3 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- ถ้าลูกเริ่มเก็บตัว เงียบ ไม่อยากเล่าเรื่องที่ไปเจอเพื่อน ให้ลองสอบถามลูกดูว่าโดนเพื่อนแกล้งหรือไม่
- หากลูกมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ของเด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน
พัฒนาการสำหรับลูกวัย 5 ขวบ 3 เดือน จะพูดได้เก่งขึ้น เรียบเรียงประโยคได้ดีขึ้น เมื่อผู้ใหญ่คุยกับเด็ก เด็กก็จะเข้าใจมากขึ้น วัยนี้ลูกจะขี้สงสัย ชอบซักถาม อยากรู้เรื่องราวต่าง ๆ แต่บางครั้งการออกเสียงบางคำยังไม่ชัดเจน พ่อแม่สามารถสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้กับลูก เพื่อเพิ่มพูนคลังคำศัพท์ในหัว
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ของเด็ก 5 ขวบ 3 เดือนที่ทำได้
- ลูกจะโต้เถียง หาเหตุผลมาแย้งได้แล้ว เช่น หนูทำอย่างนี้เพราะว่า…
- เริ่มใช้คำเปรียบเทียบ หรือสร้างประโยคเปรียบเทียบได้แล้ว เช่น มือของแม่ใหญ่กว่ามือของหนู
- เข้าใจคำศัพท์มากขึ้น
- สามารถอธิบายรูปทรงหรือรูปร่างได้
- ขำและเข้าใจมุกตลกของผู้ใหญ่บ้างแล้ว
เคล็ดลับสำหรับเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
- หากิจกรรมเพื่อฝึกทักษะทางภาษาของลูก ลองเล่นเกมให้ลูกพูดตาม เช่น ระนอง ระยอง ยะลา หรือให้ลูกตบมือตามตัวเลขที่แม่บอก
- สอบถามลูกเรื่องโรงเรียน ถามว่าลูกชอบอะไรในโรงเรียน หรือไม่ชอบอะไร พ่อแม่จะได้รู้เรื่องราวของลูก และยังให้ลูกได้ฝึกแสดงความคิด การใช้คำ รวมถึงการใช้ภาษาแสดงความรู้สึกของตัวเอง
เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกวัย 5 ขวบ 3 เดือน ไปพบกุมารแพทย์
- ถ้าลูกยังแยกเรื่องเวลาไม่ได้ เช่น เมื่อวาน วันนี้ หรือพรุ่งนี้
- หากลูกยังพูดเรื่องเดิม ไม่ชอบซักถาม หรือเงียบมากจนผิดปกติ
สุขภาพและสารอาหาร
น้ำหนักของลูกมักจะอยู่ราว ๆ 17 กิโลกรัม – 20 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับรูปร่าง เพศชายหรือเพศหญิง และมักจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1.8 -3.1 กิโลกรัมต่อปี ส่วนความสูงนั้นอยู่ราว ๆ 106 – 112.2 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับเพศชายหรือเพศหญิง และพันธุกรรม เมื่อลูกอายุ 6 ขวบ มักจะสูงขึ้นอีก 6 เซนติเมตร
สิ่งสำคัญมากกว่าความสูงและน้ำหนัก คือสุขภาพที่แข็งแรง เด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและสมองให้แข็งแรง สำหรับอาหารที่เหมาะสมกับเด็กวัย 5 ขวบ 3 เดือน มีดังนี้
สารอาหาร | ปริมาณ | ไอเดียมื้ออาหาร |
แคลอรี่ | 1,200-2,000 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโต และกิจกรรมที่ลูกทำ | แซนวิช, ข้าวต้มไก่, ผัดผัก |
โปรตีน | 0.5 ถ้วย | ไก่ย่าง ปลานึ่ง หมูต้ม หรือไข่ต้ม |
ผลไม้ | 1-1.5 ถ้วย | มื้อที่กินซีเรียลหรือมูสลี่ สามารถใส่ผลไม้หั่นชิ้นพอดีคำใส่ลงไปด้วยได้ หรือใส่ผลไม้หลากชนิดลงในโยเกิร์ต |
ผัก | 1.5-2.5 ถ้วย | เลือกผักที่มีไฟเบอร์และธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม แครอท และบีทรูท
ในแต่ละวันควรให้ลูกกินผัก 2-3 ชนิด |
ข้าวและธัญพืช | 3/4 ถ้วยตวง | ข้าว ขนมปังโฮลวีต หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว |
ผลิตภัณฑ์จากนม | 2.5 ถ้วย | นมสด 1 แก้ว หรือเลือกโยเกิร์ต |
- ระวังอย่าให้ลูกทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือทานอาหารมากเกินไป เพื่อให้น้ำหนักลูกอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หากรู้สึกว่าลูกมีน้ำหนักมากเกินไป ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อจัดการโภชนาการอย่างเหมาะสม
- ตอนลูกกำลังกินอาหาร พ่อแม่จะสังเกตได้หลายอย่าง เช่น ลูกถนัดมือซ้ายหรือถนัดมือขวา แล้วจัดตำแหน่งที่นั่งรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
ข้อสังเกตที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์
- ถ้าลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือมากเกินเกณฑ์
- หากร่างกายมีผื่นหลังกินอาหารบางชนิด หรือผิวหนังมีลักษณะคล้ายแผลฟกช้ำ หรือมีก้อนใต้ผิวหนัง
- ลูกมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
วัคซีนและอาการป่วยของเด็ก 5 ขวบ 3 เดือน
ลูกในช่วงวัยนี้ ควรพาไปพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง และคอยดูแลสุขภาพของลูก ส่วนวัคซีนก็ต้องสอบถามกับคุณหมอเพิ่มเติมว่า ควรฉีดวัคซีนเสริมตัวไหนอีกบ้าง
พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ 3 เดือนของแต่ละคนแตกต่างกันไป พ่อแม่ไม่อาจคาดหวังให้ลูกเป็นเหมือนตัวเอง หรือเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ได้ และพ่อแม่ก็ต้องสังเกตให้ดี หากรู้สึกว่าลูกมีพัฒนาการช้า หรือมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบปรึกษาแพทย์
ที่มา: sg.theasianparent
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ 7 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี [ออนไลน์] เช็กเลย!