เมื่อลูกถูกรังแก พ่อแม่ต้องทำยังไง
เมื่อลูกถูกรังแก …ในรายที่สามารถบอกเล่าให้ผู้ปกครองหรือครูฟังได้ ย่อมจะได้รับการช่วยเหลือ ดูแล จากผู้ใหญ่ แต่ในเด็กบางคน ไม่ยอมเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น เก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง พยายามอดทนหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่มักจะไม่สำเร็จ ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจ เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนแย่ลง บางรายรุนแรงขนาดเป็นโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว
การรังแกกันในโรงเรียนนั้น ทั้งเด็กที่ถูกรังแกและเด็กที่รังแกผู้อื่น เป็นเด็กที่มักมีปัญหาในตัวเอง โดยพบว่า เด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ มักเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดทักษะทางสังคมที่ดี ขาดทักษะในการสื่อสารกับคนรอบข้าง มีความวิตกกังวลสูง อาจมีปัญหาด้านสุขภาพทำให้ดูอ่อนแอ บางครั้งมีการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้มาก ทำให้คนรังแกยิ่งรู้สึกสนุก
ส่วนเด็กที่เป็นผู้กระทำ รังแกผู้อื่น ก็พบว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน ได้แก่ อาจมาจากครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง มีตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่ดีสำหรับเด็ก ครอบครัวขาดระเบียบวินัย กลุ่มเพื่อนและสังคมก็มีส่วนสำคัญ เช่น การได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เมื่อมีการแสดงอำนาจโดยการรังแกคนอื่น ทางด้านจิตใจ เด็กส่วนหนึ่งที่มีการใช้ความรุนแรงรังแกผู้อื่น แท้ที่จริงแล้วเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดความรู้สึกดีต่อตนเอง ทำให้พยายามแสดงพฤติกรรมรังแกผู้อื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับและรู้สึกดีและมั่นใจตนเองมากขึ้น ในบางรายอาจมีความผิดปกติทางด้านจิตเวชอื่นๆ ที่ต้องการการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเมื่อลูกถูกรังแกมีดังนี้ค่ะ
- ประเมินว่าปัญหาของเด็กที่เป็นเป้าของการรังแกคืออะไร พัฒนาทักษะที่บกพร่องไป เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเข้าสังคมเป็นต้น
- ผู้ปกครองไม่ควรเข้าไปแก้ปัญหาให้เด็กตั้งแต่ต้น แต่ควรมีหน้าที่เป็น “โค้ช” ฝึกให้เด็กแก้ปัญหาต่างๆด้วยตนเอง กรณีที่การข่มเหงรังแกมีความรุนแรง และตัวเด็กเองไม่สามารถจัดการปัญหาได้เลย จึงค่อยเข้าไปช่วยจัดการให้
- ควรให้เด็กได้เล่าเรื่อง เพื่อให้ได้ระบายความรู้สึกไม่สบายใจภายใน ผู้ปกครองควรรับฟัง แสดงความเห็นใจ และให้คำแนะนำหลังจากที่เด็กได้ระบายความอึดอัดใจออกมาแล้ว
ในกรณีของเด็กที่ถูกรังแก แนะนำให้
- พัฒนาทักษะทางสังคม ให้หากลุ่มเพื่อนที่ไม่รังแก เพื่อที่จะได้อยู่เป็นกลุ่ม ลดความเสี่ยงการถูกรังแก
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่ถูกรังแกบ่อย เช่น ที่ลับตาคนต่างๆ
- ระมัดระวังตัว หลบ หลีก เลี่ยง การไปอยู่ใกล้คนที่มารังแก
- ไม่แสดงพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อการถูกแกล้งมากจนเกินไป เพราะยิ่งมีท่าทีสงบ ผู้ที่มารังแกจะรู้สึกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จในการรังแก
- พัฒนาทักษะในการต่อสู้ด้วยตนเอง ในกรณีที่ต้องเผชิญหน้า โดยอาจให้ฝึกเล่นบทบาทสมมุติที่บ้านเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริง ตัวอย่างเช่น
- การฝึก จ้องหน้า สบตา ไม่หลบสายตาหากถูกแกล้ง แต่ต้องระวังว่าไม่ใช่การจ้องหน้าเพื่อหากระตุ้นให้คนอื่นเข้ามารังแก
- การฝึกสื่อสารด้วยเสียงที่ดัง หนักแน่น ไม่แสดงความกังวลให้เห็น เช่นพูดว่า “หยุดนะ อย่ามาทำแบบนี้ ไม่ชอบ”
- การฝึกป้องกันตัวเอง หากมีการแกล้งโดยการใช้กำลัง
- ทุกครั้งที่มีการรังแกเกิดขึ้นควรแจ้งให้คุณครูทราบทุกครั้ง แม้ว่าบางครั้งจะถูกล้อว่า ขี้ฟ้อง หรือ ถูกขู่ว่าหากฟ้องครูจะรังแกหนักขึ้น แต่ต้องไม่กลัวที่จะบอกเล่าให้ครูฟังทุกครั้ง
ในส่วนของโรงเรียน ก็มีบทบาทสำคัญ คือ
- ต้องไม่ละเลยปัญหาการรังแกกัน ควรรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ให้การช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กที่ถูกรังแกรู้สึกมั่นใจว่ามีคนคอยปกป้องดูแล
- มีการจัดการปัญหา เช่น การลงโทษเด็กที่รังแกผู้อื่นทุกครั้ง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เป็นที่ยอมรับ
- ประเมินปัญหาและให้การช่วยเหลือ ทั้งในเด็กที่ถูกรังแกและเด็กที่รังแกผู้อื่น และช่วยเหลือพัฒนาทักษะต่างๆที่บกพร่องไป
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สอนลูกยังไงให้โตไปไม่เป็นผู้ใหญ่อารมณ์ร้อน
20 เรื่องเบสิกที่แม่ควรสอนลูกชายตั้งแต่เล็ก