คุณแม่ขอแชร์ประสบการณ์ ! ลูกน้อยป่วย “ติดเชื้อแบคทีเรีย” ถึงขั้นลงปอด

เด็กเล็กๆ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วย ติดเชื้อแบคทีเรีย ได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ จะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร มาติดตามกัน

เพราะในเด็กเล็กๆ ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง การเป็นหวัด เป็นไข้ ติดเชื้อไวรัส หรือ ติดเชื้อแบคทีเรีย จึงมักเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อย แต่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือแม้แต่การติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

อย่างเช่นในเคสนี้ที่คุณแม่ Narinthip Suksompong ได้แชร์ประสบการณ์ไว้ในเฟซบุ๊กกลุ่มคนมีลูก “ลูกป่วยเป็นปอดอักเสบจากการ ติดเชื้อแบคทีเรีย” เพื่อเป็นความรู้และประสบการณ์ให้กับคุณคุณพ่อแม่ ที่จะต้องคอยดูแลและสังเกตอาการเมื่อลูกป่วย

แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกชายแอดมิทจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ติดเชื้อแบคทีเรีย

มาแชร์ประสบการณ์ ลูกชายแอดมิทจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งตรวจเจอด้วยการเจาะเลือด และเป็นหนักจนถึงขั้น #ปอดอักเสบ น้องฉีดวัคซีน ipd แล้วนะคะ แต่ก็เป็นปอดอักเสบได้

น้องเริ่มมีน้ำมูกหลังกลับจากโรงเรียน เช้าวันถัดมาเริ่มไอ และมีเสมหะ แม่เลยจับ swap โรคยอดฮิต ก็ไม่ขึ้นสักขีด เลยพาไปคลินิก หมอตรวจเจอว่าคอแดง และทอมซิลโต จึงได้ยากลับมากิน หมอคาดว่าน่าจะติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะน้องมีน้ำมูกเขียวขุ่นๆ

คืนถัดมาเสมหะน้องเยอะขึ้น ไอหนักทั้งคืน จนไม่ได้นอน และเริ่มหายใจหอบ แม่ใจไม่ดี ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะพาไปแอดมิด แต่โรงพยาบาลห้องพักเต็ม ต้องจองคิวและรอห้องว่าง เลยพาไปหาคลินิกอีกรอบ หมอฟังปอด อาการเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว แนะนำให้ไปพ่นยาที่โรงพยาบาลดีกว่า

พอได้ห้องก็รีบไปโรงพยาบาลทันที หมอฟังปอดอีกครั้ง รอบนี้คือหายใจหอบมากๆ และมีไข้ต่ำๆ หมอเลยให้เอกซเรย์ปอด ผลเอกซเรย์ออกมาว่าเป็น #ปอดอักเสบ สาเหตุมาจากติดเชื้อแบคทีเรีย

อยากบอกแม่ๆว่า ไม่ใช่แค่เชื้อไวรัสที่รุนแรง เชื้อแบคทีเรียก็รุนแรงไม่แพ้กันเลย น้องแอดมิทไป 4 วัน 3 คืน ได้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดวันละ 1 ขวด พ่นยาดูดเสมหะ เคาะปอด และล้างจมูก วันละ 4 ครั้ง #เชื้อแบคทีเรียใช้เวลาฆ่าให้ตายมากกว่าเชื้อไวรัสด้วยนะ

เด็กเล็กเวลาป่วยทีคือลงปอดไวมากๆ แม่ๆอย่าชะล่าใจกันนะคะ ถึงตรวจไม่เจอโรคยอดฮิต แต่ก็แอดมิทได้เหมือนกัน

 

ทาง theAsianparent ได้รับอนุญาตจากคุณแม่ Narinthip Suksompong ให้นำข้อความและภาพของน้องมาแชร์ให้เป็นความรู้และประสบการณ์ตรงของลูกชายป่วย ถึงขั้นปอดติดเชื้อในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งถือว่ามีอาการรุนแรงไม่น้อย

และในข้อความของคุณแม่ได้กล่าวถึง เกี่ยวข้องกับวัคซีนไอพีดี ว่า แม่ๆ อาจสงสัยว่า ทำไมน้องฉีดวัคซีนไอพีดีแล้ว น้องยังเป็นปอดอักเสบ เรามาทำความรู้จัก วัคซีนไอพีดีกัน รวมถึงอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัส กับเชื้อแบคทีเรีย เป็นอย่างไร

ติดเชื้อแบคทีเรีย

วัคซีนไอพีดี (IPD) คืออะไร ทำไมต้องฉีด ?

วัคซีน IPD หรือ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นวัคซีนที่สำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เช่น ความพิการทางสมอง การสูญเสียการได้ยิน หรือเสียชีวิต ซึ่งเด็กทุกคนควรได้รับวัคซีน IPD ตามที่แพทย์กำหนด โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบปี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเจ็บป่วยได้ง่าย

วัคซีน IPD สำคัญยังไง ?

  • ป้องกันโรคร้ายแรง วัคซีน IPD ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก
  • ลดความรุนแรงของโรค แม้จะติดเชื้อนิวโมคอคคัส แต่หากได้รับวัคซีนแล้ว อาการของโรคจะไม่รุนแรงเท่ากับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน
  • ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล การฉีดวัคซีน IPD ช่วยลดจำนวนเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส
  • สร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนิวโมคอคคัส ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ

ทำไมฉีดวัคซีนไอพีดีแล้ว ยังเป็นปอดอักเสบ ?

หลายคนอาจสงสัยว่าการฉีดวัคซีนแล้วทำไมยังเป็นโรคได้อีก คำตอบคือ

  • วัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก วัคซีนไอพีดีช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้เลย 100%
  • เชื้อนิวโมคอคคัสมีหลายสายพันธุ์ วัคซีนไอพีดีครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อนิวโมคอคคัสที่พบได้บ่อย แต่ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ ที่วัคซีนอาจไม่ครอบคลุม
  • ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ก็อาจทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคปอดอักเสบได้

ดังนั้น แม้ว่าการฉีดวัคซีนไอพีดีจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมากค่ะ

ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส กับ เชื้อแบคทีเรีย แตกต่างกันอย่างไร? 

การติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง โดยทั่วไป ไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งร่างกายสามารถต่อสู้และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ ตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ถ้าไข้หวัดไม่หายไปนานกว่า 5-7 วัน อาจเป็นสัญญาณว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นได้ และการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้อาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส

จากที่คุณแม่ Narinthip Suksompong ได้แชร์ข้อมูลมา อาการของลูกน้อย จากที่เริ่มมีน้ำมูก มีไข้ ทำการ swap จมูกแล้วผลไม่มีการติดเชื้อไวรัสใดๆ เริ่มมีอาการหนัก มีเสมหะเยอะขึ้น ไอหนักจนไม่ได้นอน และเริ่มหายใจหอบมากผิดปกติ และได้ทำการ Swap อีกครั้ง ก็ยังไม่พบว่า ติดเชื้ออะไร

คุณหมอที่โรงพยาบาลทำการตรวจอีกครั้งโดยการเจาะเลือดไปตรวจและเอ็กซเรย์ปอด จึงพบว่าผลเลือดที่ออกมา “มีค่าเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ” คุณหมอวินิจฉัยได้ว่าเด็กติดเชื้อแบคทีเรียและมีอาการลงปอด ทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งแบคทีเรียนี้ใช้ระยะในการฟักตัวรวดเร็วมาก ทำการรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด พ่นยา ดูดเสมหะ เคาะปอด (ให้เด็กนั่ง/นอน เอาผ้าปิด แล้วใช้มือเคาะบริเวณปอดของเด็กเพื่อระบายเสมหะ) และล้างจมูกวันละ 4 ครั้ง จนลูกชายมีอาการดีขึ้น ระยะเวลาในการรักษาที่โรงพยาบาลนานถึง 4 วัน

เพื่อติดตามอาการ ยังมีการพาน้องไปพบคุณหมออยู่ตลอด น้องยังต้องรักษาโดยการดูดเสมหะ พ่นยา และล้างจมูกอย่างต่อเนื่อง สำหรับอาการปอดที่อักเสบนั้น ยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวสักพัก จึงเป็นคำกล่าวที่ว่า ไม่ใช่แค่ติดเชื้อไวรัสที่มีอาการรุนแรงได้ การติดเชื้อแบคทีเรียก็มีอาการรุนแรงไม่แพ้กันเลย

ติดเชื้อแบคทีเรีย

เป็นไข้ติดเชื้อจากไวรัส กับ ติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการแบบไหน ?

โรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสกับโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการแตกต่างกัน สามารถสังเกตุด้วยจากอาการเหล่านี้

ตารางเปรียบเทียบอาการไข้จากเชื้อไวรัส และ เชื้อแบคทีเรีย

อาการของไข้หวัดจากเชื้อไวรัส

อาการของไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย

  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
  • ทอนซิลบวมแดง
  • ต่อมทอนซิลบวมแดง หรือมีจุดหนอง
  • มีน้ำมูก
  • คัดจมูก และปวดตึงใบหน้า
  • คอแดง
  • คอแดง ลิ้นไก่บวมแดง
  • ไอ เจ็บคอ อาจมีเสียงแหบร่วมด้วย
  • ไม่มีอาการไอ
  • ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
  • ลิ้นมีฝ้าสีเทา
  • ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง

เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ติดได้ยังไง ?

เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อเหล่านี้มักเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ

การสัมผัสโดยตรง 

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น การจับมือ การกอด หรือการใช้ของใช้ร่วมกัน
  • การสัมผัสบาดแผลของผู้ป่วย หรือบาดแผลของตนเองที่สัมผัสกับเชื้อโรค

การสัมผัสทางอ้อม

  • การสัมผัสกับวัตถุหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น มือจับประตู โต๊ะ เก้าอี้ แล้วนำมือมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก หรือปาก
  • การกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
  • การสูดดมละอองฝอยที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น จากการไอหรือจามของผู้ที่ป่วย

ติดเชื้อแบคทีเรีย

การดูแลและป้องกัน การติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อต่างๆ การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งค่ะ โดยสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

  • ล้างมือบ่อยๆ ใช้สบู่และน้ำล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก โดยเฉพาะเมื่อมือสกปรกหรือยังไม่ได้ล้างทำความสะอาด
  • สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หรือเมื่อมีอาการไอ จาม เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • รักษาสุขอนามัย อาบน้ำสระผมเป็นประจำ ตัดเล็บให้สั้น
  • ทำความสะอาดสิ่งของใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู โต๊ะ เก้าอี้
  • กินอาหารที่ปรุงสุกสะอาด และดื่มน้ำสะอาด โดยเฉพาะวิตามินซี เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัดได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • ไม่สัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย หากสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้ป่วย อาจสูดหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป หรือสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น
  • เมื่อไม่สบายควรพักฟื้น การออกไปข้างนอกขณะป่วย อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ และตัวเองก็อาจติดเชื้อโรคอื่นๆ เพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากร่างกายในช่วงที่ป่วยจะมีภูมิต้านทานลดลง
  • ฉีดวัคซีนตามกำหนด ปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก การฉีดวัคซีน เป็นต้น ควรได้รับตามกำหนด

การเจ็บป่วยเป็นไข้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยดูแลสุขอนามัยของลูก เช่น การล้างมือบ่อยๆ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และการได้รับวัคซีนตามกำหนด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี อย่างเคสข้างต้นของคุณแม่ Narinthip Suksompong ที่แชร์ประสบการณ์มา ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะฉีควัคซีนแล้วก็ตาม ก็ยังมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้นเมื่อลูกป่วยต้องคอยสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และไม่ควรนิ่งนอนใจ หากมีความผิดปกติต้องรีบพาลูกหาหมอทันที

ที่มา : Narinthip Suksompong , โรงพยาบาลเปาโล , ชีวิตดีดี

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แม่โพสต์เตือน! ลูกเป็น โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก หลังไปเล่นที่สวนสาธารณะ

รู้จัก ฮิคิโคโมริ ซินโดรม ภัยเงียบของ เด็กเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มากับฝน ถ้าไม่อยากให้ลูกป่วย ต้องทำแบบนี้!

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!