ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หมอมีโอกาสได้ไปดูแลเด็กในรายการแข่งขันร้องเพลงรายการหนึ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ในสังคมปัจจุบัน การแข่งขันของเด็กดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เพียงแต่การแข่งขันร้องเพลง ยังมีการสอบเข้าโรงเรียนประถมชื่อดัง การสอบทางวิชาการเพื่อเหรียญรางวัลและการแข่งความสามารถพิเศษด้านอื่นๆ อีกมากมาย และเมื่อมีคนชนะ ย่อมมีคนแพ้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากพ่ายแพ้แล้วจะรับมืออย่างไร
- ครอบครัวสำคัญที่สุด ในยามที่ผิดหวังท้อแท้ เด็กย่อมต้องการการประคับประคองจิตใจจากครอบครัวเป็นหลัก หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ คือ ต้องเป็นผู้ประคับประคอง ให้เด็กรู้สึกพึ่งพิงได้ ไม่แสดงความอ่อนแอให้เด็กเห็น สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการแสดงความเสียใจอย่างมากหรือแสดงความผิดหวัง จะทำให้เด็กเสียขวัญและรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อคุณแม่เสียใจผิดหวัง
- ภาษากาย เมื่อรู้สึกเสียใจผิดหวัง เด็กอาจไม่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดปลอบประโลมหรือคำอธิบายต่างๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือพูดให้น้อยที่สุด แล้วหันมาใช้ “ภาษากาย” เพื่อแสดงการปลอบโยนและเข้าใจถึงความรู้สึกที่เด็กมี อาทิ การกอด เอามือตบไหล่หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้นานขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ
- ไม่ซ้ำ – ไม่ย้ำ – ไม่ตำหนิ การตำหนินั้น อาจไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามอาจบั่นทอนกำลังใจได้ นอกจากคำตำหนิแล้ว คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดให้เด็กได้ยิน เช่น น่าเสียดาย หรือกล่าวโทษสิ่งอื่นๆ เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้น
- เป็นผู้รับฟังที่ดี เมื่อเวลาผ่านไป เด็กอาจยังอยากพูดถึงเรื่องที่เสียใจ คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้พูด ระบาย และให้กำลังใจ ไม่ควรปิดกั้นไม่ให้พูดถึงเรื่องที่เสียใจ การได้เล่าหรืออธิบายถึงสิ่งที่ยังติดค้างในใจ จะทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้นได้ เพราะเพียงแค่ได้เล่าออกมาให้ใครสักคนฟัง เด็กก็จะรู้สึกสบายใจขึ้น
- เบี่ยงเบนความสนใจจากอดีต บางครั้งเด็กจะกังวลและยังจดจ่ออยู่กับความพ่ายแพ้ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและแนะนำโดยให้มองไปยังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแทน รวมทั้งให้เบี่ยงเบนความคิดไปในเรื่องที่ตนเองทำได้ดี และเป็นจุดแข็งเรื่องอื่นๆ
- ความพ่ายแพ้และความผิดหวัง คือ แรงต่อสู้ หลังจากผ่านช่วงเวลาเศร้าและพอปรับตัวและจิตใจได้ สามารถนำความพ่ายแพ้มาสร้างเป็นพลังให้พยายามพัฒนาตัวเองต่อไป ถึงแม้ว่าอาจยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็ขอเพียงได้ชื่นชมกับความพยายามและความไม่ย่อท้อ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เด็กเป็นคนที่มีความมุมานะพยายามในเรื่องต่างๆ ต่อไป
ทุกอย่างล้วนเป็นเหรียญสองด้าน ในด้านดีของการแข่งขัน คือ ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น มีวินัยในการฝึกฝนทำให้เป็นคนมีวินัยในตัวเอง และมีความมุมานะพยายาม ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
ในด้านลบ การให้เด็กแข่งขันความสามารถเฉพาะเพียงด้านใดด้านหนึ่ง อาจทำให้มุ่งมั่นพัฒนาเพียงด้านเดียว ขาดโอกาสในการพัฒนาด้านอื่นๆตามวัยที่เหมาะสมกับอายุ เช่น เด็กอนุบาลแทนที่จะวิ่งเล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน ซึ่งได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อ การเข้ากลุ่มสังคมเป็นต้น กลับต้องมานั่งอ่านเขียนหนังสือวันละหลายชั่วโมง ในขณะเดียวกัน อาจทำให้เกิดความเครียด จากการถูกบังคับ จนบางครั้งทำให้สัมพันธภาพกับพ่อแม่มีปัญหา หรือเกิดความล้าต่อสิ่งที่ทำ เมื่อโตขึ้นกลับไม่อยากทำสิ่งนั้นอีก
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
วิธีรับมือ เมื่อลูกร้องไห้ไปซะทุกเรื่อง
10 สิ่งที่พ่อแม่ทำลายความภาคภูมิใจในตนเองของลูกโดยไม่รู้ตัว