ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่ทุกคนได้ยินกันมาบ่อยจนติดหู พอ ๆ กับก๊าซออกซิเจน เนื่องจากทั้งคู่ต่างมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตระดับพื้นฐาน นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ ยังมีความสำคัญต่อระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ หากมีปริมาณมากเกินไป หากเด็ก ๆ คนไหนยังไม่รู้ว่าก๊าซชนิดคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง วันนี้เราจะพามารู้จักกัน
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คืออะไร
Carbon Dioxide หรือ CO2 คือ ก๊าซเรือนกระจกธรรมชาติ (Greenhouse gases) ที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่หนักกว่าอากาศ สามารถทำให้อยู่ในรูปแบบของแข็งได้ คือ น้ำแข็งแห้ง (Dry ice) หรือทำให้เป็นของเหลว คือ คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (Liquid carbon dioxide) ก๊าซนี้มีบทบาทสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตทั่วไป และสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในระบบสิ่งแวดล้อม ทำให้ถูกผลิตออกมาได้มาก แต่หากไม่มีการจัดการที่ดี จะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา และส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ความสำคัญ และประโยชน์ของคาร์บอนไดออกไซด์
ก๊าซชนิดนี้เป็นหนึ่งในก๊าซที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่มนุษย์ต้องการอุปโภคบริโภคกันเป็นปกติในทุก ๆ วัน ตัวอย่างเช่น
- อุตสาหกรรมโรงงานผลิตวัสดุโฟม, พอลิเมอร์ และเหล็ก
- อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
- ใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงเครื่องมือแพทย์
- เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตคอนกรีต
- ใช้ในการเก็บรักษาอาหารสดในระหว่างการขนส่ง
- เป็นก๊าซที่พืชใช้ในการสังเคราะห์แสง เพื่อผลิตออกซิเจนให้กับมนุษย์
บทความที่เกี่ยวข้อง : ห่วงโซ่อาหาร คืออะไร สำคัญกับระบบนิเวศแค่ไหน ความรู้เสริมสำหรับหนูน้อย
วิดีโอจาก : ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน
คาร์บอนไดออกไซด์มาจากไหน ?
โดยทั่วไปจะเกิดจากกระบวนการหายใจของมนุษย์ด้วยการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชต่อ และพืชจะปล่อยออกซิเจนออกมา แต่ในกระบวนการนี้ไม่ได้ส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณที่มากนัก เนื่องจากส่วนมากแก๊สชนิดนี้จะเกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม หรือเครื่องจักร ,โรงงานต่าง ๆ มากกว่า รวมไปถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิง เพื่อนำมาทำเป็นพลังงาน, การผลิตไฟฟ้า หรือระบบขนส่ง เป็นต้น
กิจกรรมของมนุษย์เหล่านี้ล้วนแต่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมากเกินไปจนเกินควบคุม เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงการผลิตก๊าซชนิดนี้ได้ยาก แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการรณรงค์ และคิดค้นกระบวนการใหม่ ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสมอมา
ชีวิตประจำวันของเราสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากแค่ไหน ?
การใช้ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดก๊าซชนิดนี้ขึ้นมา จึงมีคำเรียกที่ว่า “Carbon Footprint” ที่สื่อให้เห็นว่า ทุกกิจกรรมของมนุษย์จะทิ้งก๊าซคาร์บอนไว้เสมอ ตัวอย่างเช่น
- การค้นหา Google เพียง 1 ครั้ง จะสร้างก๊าซคาร์บอนเฉลี่ยที่ 35 กรัม
- ต้มกาแฟ 1 แก้ว จะสร้างก๊าซคาร์บอน 23 กรัม แต่หากเป็นกาแฟใส่นมจะเพิ่มเป็น 74 กรัม
- คุยโทรศัพท์ 1 นาที สร้างก๊าซคาร์บอนเฉลี่ยที่ 57 กรัม
- ดูทีวีจอแบน 32 นิ้ว 1 ชั่วโมงสร้างก๊าซคาร์บอน 97 กรัม
- การขับรถน้ำมันเบนซิน 1 ลิตรทำให้เกิดก๊าซคาร์บอน 2.29 กิโลกรัม และสำหรับน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะปล่อยแก๊สได้มากถึง 66 กิโลกรัม
กิจกรรมทั่วไป ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเป็นปกตินั้น มีทั้งการผลิตก๊าซที่ไม่เยอะ แต่ในบางกิจกรรมก็ทำให้น่าเป็นห่วง เช่น การขับรถ เป็นต้น ซึ่งการคมนาคม สัญจรไปมา เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดก๊าซชนิดนี้ จนเกิดการรณรงค์ให้ใช้รถสาธารณะ หรือการปั่นจักรยานแทนในหลายประเทศ
อันตรายจากคาร์บอนไดออกไซด์
ก๊าซชนิดนี้สามารถส่งผลโดยตรงด้วยการทำให้ออกซิเจนมีปริมาณน้อยลง ส่งผลให้เกิด “ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia)” ได้ ก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้หากมีในร่างกายมากยังทำให้เสี่ยง “เลือดเป็นกรด (Acidosis)” โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมเข้าสู่ร่างกายมากจนเกินไปจะทำให้มีอาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ เช่น หายใจลำบาก, หายใจติดขัด ไปจนถึงการขาดออกซิเจน วิงเวียนศีรษะ, หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาจหมดสติได้ภายใน 1-2 นาที จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น หากอยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือให้สังเกตปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- การระบายอากาศของตัวอาคาร
- จำนวนของคนที่อยู่ในอาคาร
- ลักษณะของสิ่งแวดล้อมโดยรอบแออัดแค่ไหน
- ขนาดความกว้างของห้อง
- กิจกรรมของคนในอาคาร
จะป้องกันร่างกายให้ปลอดภัยได้อย่างไร
เนื่องจากเป็นก๊าซที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ความรอบคอบของผู้ผลิต หรือผู้ที่ดูแลเกี่ยวข้อง เช่น ต้องตรวจสอบ และได้รับการยืนยันในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือการก่อสร้างอาคารที่ต้องคำนึงถึงการถ่ายเทอากาศ ไปจนถึงการเฝ้าระวังระดับก๊าซที่มากเกินไปในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนช่วยลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว, ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ไม่เปิดทีวี ไม่เปิดไฟทิ้งไว้, ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงการปลูกต้นไม้ ช่วยปลูกป่า เป็นต้น
หากเด็ก ๆ คนไหนอยากช่วยโลก ช่วยลดก๊าซชนิดนี้ ก็สามารถทำได้ด้วยการสอดส่องภายในบ้าน ว่ามีใครเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้หรือไม่ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รุ้งกินน้ำ เกิดจากอะไร ? การเกิดรุ้งกินน้ำ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เด็ก ๆ ควรรู้ !
รอบรู้ทุกเรื่องของยอดคนสมองอัจฉริยะ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”
เทคนิคไม่ลับท่องจำ “ตารางธาตุ” สำหรับเด็กมัธยมว้าวุ่นเคมี
ที่มาข้อมูล : sci.psu scimath, workpointtoday