บทความนี้รวบรวมมาจากการบรรยายในงานของ International Parenting Network (IPN) โดยพญ. อนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ผิดปกติของเด็ก โรคอ้วน การกินผิดปกติ โรคบูลิเมีย และปัญหาของวัยรุ่น
โรคบูลิเมีย (Bulimia) และอโนเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) สองโรคนี้คล้าย ๆ กัน คือผู้ที่เป็นจะมีความรู้สึกอยากผอม ถึงขั้นทรมานตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ จนสุขภาพเสีย แต่วิธีการทำให้ผอมนั้นแตกต่างกันระหว่าง 2 โรคนี้ หลายคนก็อยากผอมเอามากถึงขั้นเสียชีวิตเลย เมื่อลูกผอมมาก พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นต้องคอยสังเกตพฤติกรรม เพราะวัยนี้ลูกสามารถปิดบังพฤติกรรมที่ไม่ดีได้อย่างแนบเนียน ขอบอกว่าทั้งบูลิเมียและอโนเร็กเซีย ผู้ชายก็เป็นได้ แต่ส่วนมากเราจะพบได้กับผู้หญิงมากกว่า
วัยรุ่นผู้หญิงคนไหนก็อยากผอมกันหมด แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราอยากผอมให้ปริมาณที่พอเหมาะเพราะสังคมเป็นอย่างนั้น หรืออยากผอมจนเว่อเข้าข่ายเป็นโรค เรามาดูกัน
โรคอโนเร็กเซีย (Anorexia Nervosa)
อาการ
– กินข้าวน้อยมาก หรืออดอาหาร โดยเริ่มจากกินน้อยลงนิดหน่อย และน้อยลงเรื่อย ๆ จนแทบจะไม่กินอะไรเลย
– ผอมจนเหลือแต่กระดูก สังเกตได้จากข้อต่อกระดูกจะปูดออกมา เพราะกล้ามเนื้อหายไปหมดแล้ว
– เป็นห่วงหุ่นตัวเองเพราะอยากผอมลงไปอีก โดยจะชั่งน้ำหนักบ่อย นับแคลอรี่
– ไม่ร่วมงานเลี้ยงที่มีการกินร่วมด้วย เพราะไม่อยากกิน หรือบางคนจะไม่ออกไปร่วมสังคมเลยเพราะรู้สึกว่าตัวเองดูดีไม่พอ
– ออกกำลังมากเกินความจำเป็น
– อยากผอมกว่าเดิมและคิดว่าตัวเองยังอ้วนอยู่ ทั้งที่คนอื่นก็มองว่าลูกผอมมากจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
หากลูกผอมมาก และมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ต้องรีบช่วยเหลือและรักษา
หากปล่อยไว้
– ลูกสาวจะเริ่มมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และไม่มาไปเลย เพราะสุขภาพไม่ดี
– กระดูกเปราะ หักง่าย
– กล้ามเนื้อหายไปหมด
– ความดันต่ำ
– หัวใจเต้นช้า จนสุดท้ายหัวใจจะหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
โรคบูลิเมีย (Bulimia)
อาการ
– กินอาหารเหมือนคนปกติ แต่ข้อสังเกตที่เด่นชัดของคนที่เป็นบูลิเมีย คือ จะไปอาเจียนหลังจากกินข้าว
– ออกกำลังกายเกินความจำเป็น
– มีการใช้ยาระบาย เพื่อขับอาหารที่กินเข้าไปออกมา
– รู้สึกว่าตัวเองดูไม่ดี อยากผอมกว่าเดิม ทั้งที่ดูดีอยู่แล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคบูลิเมีย
– มีอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะการล้วงคออาเจียน เช่น แก้มใหญ่ ปวดท้อง เจ็บคอ นิ้วมือด้าน ฟันผุ (เพราะกรดที่ออกมาเวลาอาเจียน)
– กระเพาะอาหารถูกทำลาย และไตทำงานหนัก
– ประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ และจะไม่มาเลย
– เมื่อยกล้ามเนื้อ
– ท้องผูก
– นอนไม่หลับ
– มีโพแทสเซียมน้อยลง (เพราะอาเจียนเอาสารอาหารออกไป) ทำให้หัวใจเต้นช้าและหยุดเต้นในที่สุด
สิ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องสังเกตหากลูกคุณเป็นโรคบูลิเมีย
– ไม่ชอบน้ำหนักตัวเอง และไม่อยากได้ยินเรื่องน้ำหนัก
– ชอบขอไปห้องน้ำหลังกินข้าว
– กินอาหาร low-fat ได้ในปริมาณเยอะ ๆ
– ซื้อยาระบายมาใช้
– ออกกำลังเยอะผิดปกติ
– ไม่ร่วมสังคม
วิธีป้องกันหรือแก้ปัญหาหากลูกเพิ่งเริ่มเป็นระยะแรก ๆ สำหรับทั้งโรคบูลิเมียและอโนเร็กเซีย
– พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่พูดพ้อว่าแม่ก็อ้วนเหมือนกัน พ่อแม่ไม่ควรบอกว่าตัวเองก็อยากผอมเหมือนกัน แต่ควรแสดงออกว่าพอใจกับรูปร่างตัวเอง
– ออกกำลังกายอย่างพอเพียง
– ศึกษาปัญหาเรื่องการกินผิดปกติ (Eating Disorder) และแชร์กับลูก เพื่อให้ลูกรู้ตัวและรับรู้ว่ามีโรคชนิดนี้
– ไม่ให้ดูละครที่มีนางแบบผอม ๆ หรือคนสวย ๆ มากเกินไป เพราะจะอยากผอมนางแบบจนหลุดออกจากโลกแห่งความจริง
– ให้กำลังใจลูก เช่น เวลาเรียนเก่งก็ชม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวลูก
– พยายามคุยกับลูก ถึงแม้ว่าวัยรุ่นจะไม่ค่อยอยากคุยกับพ่อแม่ แต่คุณก็ต้องบอกลูกว่าลูกคุยกับพ่อแม่ได้เสมอ อย่าบังคับเพราะเมื่อลูกพร้อม เขาจะเข้ามาคุยกับคุณเอง และพ่อแม่ก็ควรเตรียมบทพูดของคุณ เตรียมตอบคำถาม รวมทั้งเผื่อลูกมีอารมณ์ที่เอ่อล้น หยุดตัวเองไม่ได้ เพราะวัยรุ่นไม่ค่อยได้แชร์อะไรกับพ่อแม่ เมื่อได้แชร์อาจจะหยุดอารมณ์ตัวเองไม่ได้
บทความใกล้เคียง: วิธีรับมืออารมณ์วัยรุ่น
– อย่าวิจารณ์ และอย่าชม ว่าลูกสวยหรือน่าเกลียด หรือรูปลักษณ์ลูกเป็นอย่างไร
– ทำอาหารทานในครอบครัว ไม่เปิดทีวีหรือมีสิ่งอื่นดึงความสนใจการทานอาหารและพูดคุยของครอบครัว
– ทำกิจกรรมร่วมกันหลังทานข้าว เช่นเดินเล่น นั่งคุย เล่นเกม หรือดูทีวี (เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกขอไปเข้าห้องน้ำอาเจียนออก)
บทความนี้ได้รับการรวบรวมมาจากการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษในงานของ International Parenting Network (https://ipnthailand.com/) โดยพญ. อนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ผิดปกติของเด็ก โรคอ้วน การกินผิดปกติ และปัญหาของวัยรุ่น
เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น