มันเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์มาก! ในตอนแรกที่เขาออกมาสู่โลกจากท้องของฉัน ฉันมองดูลูกด้วยความกลัว ความเจ็บปวดจากการคลอดลูกที่ฉันเพิ่งประสบมาไม่สามารถเทียบได้กับความสุขเมื่อตอนที่ฉันได้เห็นลูกน้อยครั้งแรก น้ำตาล้นเอ่อเมื่อได้อุ้มลูกน้อยไว้บนตัก ฉันรู้สึกถึงแรงผลักดันอันแรงกล้าและรู้สึกถึงความห่วงใยที่มีต่อลูก ฉันมีความสุขมาก! ฉันไม่เคยลืมวันที่ฉันให้กำเนิดลูกน้อยคนแรก มันเจ็บปวดมากแต่ก็มีความสุขที่รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตได้ก่อรูปขึ้นในท้องของฉัน และความผูกพันที่ฉันรู้สึกกับลูกน้อยนั้นยิ่งมีมากและลึกซึ้งขึ้น ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไร มันเป็นความรู้สึกของความใกล้ชิดที่มากกว่าที่ฉันรู้สึกกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ๆ หรือสามีของตัวเองเสียอีก นี่อาจเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าสายใยพิเศษระหว่างแม่และลูกก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังเชื่อว่าการทำให้สายใยพิเศษระหว่างแม่และลูกแข็งแกร่งขึ้นนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้น คุณแม่ทั้งหลายมีวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไรบ้าง?
ขณะตั้งท้อง
จริง ๆ แล้ว การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกเริ่มตั้งแต่ในท้อง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของแม่หมายถึงมีอีกชีวิตหนึ่งกำลังเติบโตอยู่ในท้อง เมื่อร่างกายแม่มีการเปลี่ยนแปลง คุณควรสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อย ลูกน้อยสามารถได้ยินและจำเสียงคุณได้ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 4 เดือน และขณะอยู่ในท้อง ลูกของคุณก็จะตอบสนองต่อเสียงของคุณเมื่อคุณคุยกับเขา
หลังคลอด
แม่และลูกที่สร้างความสัมพันธ์กันตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง สามารถทำได้ต่อหลังจากที่คลอดลูก ขณะที่อยู่โรงพยาบาล คุณอาจขอให้แพทย์หรือคนอื่น ๆ ช่วยวางลูกที่ตักหรือหน้าอกของคุณเพื่อที่คุณจะได้คุยกับลูกน้อยที่เป็นทารกแรกเกิด หากเป็นไปได้และคุณไม่เหนื่อยจนเกินไป คุณสามารถให้นมลูกหลังคลอดได้ทันที ถ้าคุณไม่สามารถให้นมได้ พยายามให้ลูกน้อยอยู่กับคุณให้มากที่สุดขณะที่คุณยังอยู่ที่โรงพยาบาล และเมื่อคุณกลับบ้าน ลองใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อยของคุณ:
สัมผัสลูกน้อยบ่อยครั้ง
การอุ้มหรือกอดลูกจะทำให้เขารู้สึกสบายใจ และเป็นวิธีแรก ๆ ที่ใช้ในการสื่อสารกับทารกแรกเกิด เช่นเดียวกับการสัมผัสที่ผิวของลูก ซึ่งถือเป็นการการบำบัดอย่างหนึ่งสำหรับลูกน้อยของคุณ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอีกวิธีที่จะให้คุณได้สัมผัสลูก ซึ่งจะช่วยสร้างสายใยรักที่แข็งแกร่งขึ้นได้ การนวดทารกแรกเกิดเบา ๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง นอกจากจะช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นอีกวิธีที่จะให้คุณได้สัมผัสกับลูก
มองที่ตาของลูก
คุณสามารถสื่อสารกับลูกด้วยการมองที่ตาของลูกได้ อุ้มลูกน้อยหรือให้ลูกอยู่ในระยะใกล้ประมาณ 8-10 นิ้ว เพื่อให้ลูกน้อยได้เห็นคุณ เมื่อคุณคุยกับลูก ให้มองที่ตาของลูกและคุณจะรู้ว่าลูกตอบสนองต่อคุณอย่างไร
คุยกับลูก
ถ้าลูกคุณจำเสียงคุณได้แล้วตั้งแต่ที่เขาอยู่ในท้อง ลูกคุณก็ยิ่งจะจำเสียงคุณได้มากขึ้นเมื่อเขาออกมาลืมตาดูโลก นอกจากนี้ ทารกแรกเกิดชอบฟังเสียงคน ดังนั้น คุณควรพูดกับลูกบ่อย ๆ คุยกับลูกเมื่อคุณทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาบน้ำให้ลูก เปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น คุณอาจอ่านนิทานหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ลูกคุณเรียนรู้เสียงและช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาได้
การสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อยสามารถทำได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกอดหรือจั๊กจี๋เบา ๆ แต่อย่ารู้สึกกลุ้มใจไปหากคุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกยังไม่ไปถึงไหน เพราะมันต้องใช้เวลา ดังนั้น คุณควรกอดและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกไปเรื่อย ๆ
บทความใกล้เคียง: อะไรเป็นสิ่งปกติและไม่ปกติในเด็กแรกเกิด