พฤติกรรม หมายความถึง การกระทำ การลงมือ การแสดงออก ? แน่นอนว่า ทั้งหมดที่กล่าวมากนั้นคือ พฤติกรรม แต่จริง ๆ แล้วพฤติกรรมมนุษย์นั้นไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่แสดงออกมาในรูปแบบของการปฏิบัติอย่างเดียว แต่พฤติกรรมยังหมายถึง สิ่งที่อยู่ด้านในจิตใจของคนเราอย่างความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ตลอดจนความรู้สึกเองก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรม เช่นกัน เรามาดูว่า พฤติกรรมพื้นฐาน ของเด็กในวัย 1 ขวบนั้น จะมีอะไรบ้าง
ช่วงวัย 0 – 1 ปีของเด็กเล็ก จะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งการนั่ง การยืน การเดิน การสื่อสารด้วยภาษา การที่คุณพ่อ – คุณแม่ มีความเข้าใจถึง พฤติกรรมพื้นฐาน ของเด็กในวัยนี้ จะทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยได้อย่างมีสติ และจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นใจ และปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา
พัฒนาการทางร่างกาย
- เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ปัสสาวะและขับถ่ายได้ แต่อาจยังไม่พร้อมต่อการใช้ห้องน้ำ
- เดินได้โดยไม่ต้องคอยช่วยเหลือ และเริ่มหัดวิ่งแต่ยังไม่ค่อยคล่องตัวหรืออาจหกล้มบ่อย ๆ
- เดินขึ้นบันไดได้โดยใช้มือข้างหนึ่งจับราวบันไดไว้
- เริ่มถอดเสื้อผ้าชิ้นที่ถอดออกง่ายได้ด้วยตนเอง เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า เป็นต้น
- ดื่มน้ำจากแก้วหรือใช้ช้อนตักอาหารกินเองได้โดยหกเลอะเพียงเล็กน้อย
- ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ที่ไม่สูงมากได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- เปิดหนังสือโดยจับทีละ 2-3 หน้า
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- พูดออกมาเป็นคำ ๆ ได้มากขึ้นหลายคำ โดยเป็นคำใหม่ ๆ ที่มีความหมาย และไม่ใช่คำว่าพ่อแม่ ชื่อคนคุ้นเคย ชื่อของ หรือชื่อสัตว์เลี้ยงในบ้าน
- พูดพร้อมกับส่ายหัวเพื่อบอกปฏิเสธ
- ชี้สิ่งของเพื่อบอกว่าอยากได้หรือเพื่อให้ผู้ใหญ่สนใจ
- เรียนรู้ชื่อและวัตถุประสงค์ของการใช้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน ช้อน โทรศัพท์ เป็นต้น
- ชี้และระบุชื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลาย ๆ ส่วนได้
- แสดงความสนใจเมื่อเล่านิทานให้ฟังและมองภาพตาม
- ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนโดยไม่ต้องใช้ท่าทางประกอบ เช่น ลุกขึ้น นั่งลง เป็นต้น
- มักเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่
- เริ่มวาดขีดเขียนบนกระดาษหรือพยายามวาดรูปตามต้นแบบ
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- ให้ความสนใจตุ๊กตาและเล่นป้อนอาหารให้ตุ๊กตา
- ชอบเล่นโดยถือสิ่งของต่าง ๆ ไปยื่นให้คนอื่น
- อาจแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือโกรธ
- อาจกลัวคนแปลกหน้า และเกาะติดพ่อแม่หรือผู้ดูแลเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
- แสดงความกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนที่คุ้นเคย
- แสดงความรักต่อคนที่ตนคุ้นเคย เช่น จูบแบบปากจู๋ เกาะแขน เป็นต้น
- เดินดูสิ่งต่าง ๆ ตามลำพังได้ แต่ยังอยู่ในระยะใกล้กับผู้ดูแล
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านนิทานให้เด็กฟัง
- จัดหาพื้นที่ว่างเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมและได้เล่นสนุก
- หาของเล่นที่เลียนแบบอุปกรณ์จริง เช่น พลั่วพลาสติก ช้อนหรือส้อมพลาสติก เป็นต้น
- ให้เด็กมีส่วนช่วยในการทำกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในครอบครัว
- ส่งเสริมให้เด็กเล่นสร้างสิ่งต่าง ๆ อย่างการต่อตึก และสิ่งอื่น ๆ ที่เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
- ชวนเล่นเกมง่าย ๆ เช่น เกมจิ๊กซอว์ เกมเติมของเล่นให้ตรงตามรูปร่างที่หายไป เป็นต้น
- ให้ของสำหรับปลอบโยนเมื่อเด็กต้องห่างพ่อแม่ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กดูโทรทัศน์หรือวิดีโอจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใด ๆ จนกว่าจะถึงอายุ 2 ขวบ
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- เดินไม่ได้
- ไม่ชี้สิ่งต่าง ๆ ให้ดู
- ไม่รู้ว่าสิ่งของที่ใช้เป็นประจำทุกวันคืออะไร หรือใช้เพื่ออะไร
- ไม่เลียนแบบท่าทางของคนอื่น ๆ
- ไม่เรียนรู้คำใหม่ ๆ หรือรู้คำศัพท์น้อยกว่า 4 คำ ซึ่งไม่รวมคำเรียกพ่อแม่อย่างปาป๊า มาม้า ชื่อสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของ
- ไม่แสดงความสนใจเมื่อพ่อแม่เพิ่งกลับมา หรือดูไม่กังวลเมื่อต้องห่างจากพ่อแม่
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมี
พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรับให้ได้
อารมณ์ปรี๊ดของลูกน้อย
เชื่อหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว เด็กน้อยก็มีอารมณ์เหวี่ยง วีน ปรี๊ดแตก ได้เช่นกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว อารมณ์เหล่านี้ถือเป็นช่วงหนึ่งในพัฒนาการของลูกน้อย ที่จะแสดงถึงความต้องการบางอย่าง ให้คนรอบข้างได้รับรู้ว่าเขาต้องการอะไร เช่น ต้องการเรียกร้องความสนใจ เอาแต่ใจ เป็นต้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนเป็นพ่อแม่อย่างเรา ต้องเตรียมการรับมือกับอารมณ์ลักษณะนี้ของลูกน้อยอย่างถูกวิธี อาจจะต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วย เพื่อเป็นการช่วยบรรเทา และขจัดอารมณ์ร้าย ๆ เหล่านี้ ให้คลี่คลายลงอย่างนุ่มนวลมากที่สุด
ก่อนอื่นตัวคุณพ่อคุณแม่เอง จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับอารมณ์วีนแตกของลูกน้อยไว้ก่อน ด้วยการเข้าใจอารมณ์ของเขา มอบความอบอุ่นทางกาย และใจ ให้เขารู้สึกผ่อนคลายด้วยการ “สวมกอด” พร้อมกับ “คำพูด” ที่เข้าใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกของเขา เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยออกมา จนลูกน้อยเริ่มมีทีท่าที่สงบลง จากนั้น คุณพ่อคุณแม่ใช้จังหวะนี้ค่อย ๆ “อบรมสั่งสอน” ด้วยการอธิบายตามหลักของเหตุผลที่เข้าใจง่าย และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้บ่อย ๆ กับลูก จะช่วยทำให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับอารมณ์ และเหตุผลด้วยตัวของเขาเอง
ถึงแม้ว่า ลูกน้อยอาจจะยังไม่เข้าใจคำพูดที่เราสื่อสารมากนัก แต่ด้วย น้ำเสียง ท่าทาง ที่แสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นสิ่งที่เด็กจะสามารถรับรู้ได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่คุณพ่อคุณแม่ จะสามารถรับมือกับอารมณ์ลูกน้อยได้เหมาะสมมากที่สุด และถือเป็นโอกาสในการปรับอารมณ์ของตัวเอง และลูกน้อยเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข และเป็นการสร้างนิสัย “ที่ดี” ในอนาคตด้วยค่ะ
การหัดเดินของลูกน้อย
เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าสู่วัย 11 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มสนุกกับการหัดเดิน ดังนั้นจึงทุ่มเทพลังไปกับการฝึกเดิน ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบที่หัดเดินของตัวเอง เข่น เก้าอี้เล็ก ๆ ในบ้านที่ลูกอาจจะไปเกาะ หรือพิงโดยไม่รู้ตัว และเก้าอี้ก็เคลื่อนออกไป เมื่อลูกรู้ว่าสามารถทำให้เก้าอี้เลื่อนออกไปได้ ลูกจะสนุกกับการเดิน แล้วก้าวเดินตาม คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกก้าวเดินต่อไปด้วยตัวเอง โดยคุกเข่าต่อหน้าลูก และกางมือออกมารับ จากนั้นเรียกลูกโผเข้ามาหา เพื่อให้ลูกเดินต่อไปไกลเพิ่มขึ้นค่ะ
การนั่งเปิดหนังสือ
พัฒนาการการจับสิ่งของของเด็ก จะเริ่มดีขึ้น เด็กจะมีพฤติกรรมที่อย่างเรียนรู้ การมีหนังสือซักหนึ่งเล่ม ให้เด็กรู้จักเปิดเปลี่ยนหน้า เพื่อดูภาพในหนังสือ จะเป็นการสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ให้เด็กมากยิ่งขึ้น หากคุณแม่เห็นลูกผลักหน้าหนังสือด้วยความรุนแรง ไม่ควรไปดุ เนื่องจาก การควบคุมร่างกายของเด็กยังไม่สามารถทำได้ดีเพียงพอ คุณแม่ควรปล่อยให้เด็กเปิดหน้าหนังสือเอง แล้วคอยชี้ให้สังเกต หรือมองภาพในหน้าหนังสือนั้น ๆ เพื่อสร้างพฤติกรรมการสังเกตให้เด็กน้อย
พฤติกรรมการเลียนแบบ
ช่วงเด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้สิ่งรอบด้าน ดังนั้น เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมการเลียนแบบทางด้านอารมณ์ การออกเสียง แม้ว่าจะไม่สามารถสื่อสารออกเป็นประโยคได้ หากคุณพ่อคุณแม่ จะคอยพูดให้ลูกน้อยฟัง เป็นคำ ๆ ที่สามารถออกเสียงง่าย เด็กน้อยจะพยายามเลียนแบบการออกเสียงได้ไวยิ่งขึ้น ตัวคุณแม่เองควรที่จะพูดกับลูก ด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ ไม่ควรพูดไม่ชัด หรือใช้คำพูดที่ไม่สามารถจำคำพูดได้ง่าย การฝึกแบบนี้ จะทำให้การพัฒนาทางด้านการออกเสียงของเด็ก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การพัฒนาของเด็กช่วงอายุ 0-5 ขวบ พฤติกรรมต่าง ๆ และวิธีรับมือกับลูก
พัฒนาการด้านร่างกาย : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ