ลูกร้องไห้ดูดนมบ่อยมาก
ลูกร้องไห้ดูดนมบ่อยมาก ลูกติดเต้ามาก ดูดนมแต่ละครั้งเป็นชั่วโมงๆ จนแม่ไม่เป็นอันทำอะไรเลย เป็นเพราะอะไร แล้วจะทำอย่างไรดี
#1 ลูกอาจดูดผิดวิธี ทำให้ได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
ปกติแล้วถ้าลูกงับหัวนมได้ถูกต้อง เหงือกของลูกจะงับที่ลานนม ลูกจะดูดได้แรงและเป็นจังหวะช้าๆ โดยคุณแม่จะสังเกตได้ว่า เต้านมที่อยู่เหนือปากลูกจะค่อยๆกระเพื่อมและกล้ามเนื้อขากรรไกรของลูกมีการขยับ คุณแม่จะได้ยินเสียลูกกลืนน้ำนมเป็นระยะๆ หากลูกดูดนมแบบนี้ก็แสดงว่าลูกดูดแล้วได้น้ำนม แต่หากลูกอมงับหัวนมแม่ผิดวิธี ก็จะทำให้ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ โดยลูกอาจดูดนมเป็นจังหวะถี่เกินไป แต่ดูดได้เบา บางครั้งจะมีแก้มบุ๋ม ซึ่งวิธีแก้เบื้องต้นง่ายๆเลยคือ ให้คุณแม่สอดนิ้วเข้าไปที่มุมปากลูกระหว่างช่องเหงือก ให้ปากของลูกออกจากหัวนม แล้วจึงนำลูกกลับมาเข้าเต้าใหม่
#2 ลูกดูดไปหลับไป เพราะยังไม่อิ่มนม
คุณแม่หลายท่านพอเห็นลูกหลับก็มักจะคิดว่าลูกอิ่มแล้ว จึงเอาลูกออกจากเต้า แต่พอจะเอาออกก็ร้องขอดูดนมต่อ หรือเมื่อหลับได้ครู่เดียวก็ร้องไห้ดูดนมอีก คุณแม่บางท่านก็อาจจะเข้าใจผิดไปว่าตัวเองมีน้ำนมน้อย คุณแม่ควรดูว่าลูกกินนมอื่มหรือไม่ ถ้าลูกหลับขณะกินนมและคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินนมอิ่มแล้ว แต่ถ้ายังไม่คาย แต่ยังอมหัวนมไว้ หรือยังดูดหัวนมเบาๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดนมต่อ โดยคุณแม่อาจใช้วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย
วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม ทำอย่างไร?
- จับเต้านม โดยนิ้วมืออยู่ค่อนข้างห่างจากหัวนม ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านหนึ่งของเต้านม และนิ้วอื่นๆอยู่ด้านตรงข้าม (หากนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านบนของเต้านมจะง่ายที่สุด)
- สังเกตการกินนมของทารก โดยทารกจะกินนมได้เยอะเมื่อเค้ากินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”
- เมื่อทารกเริ่มอมหัวนม และไม่ได้กินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” ให้ใช้นิ้วชี้ที่ประคองด้านล่างของเต้านมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ดูดต่อ และเริ่มบีบเต้านม แต่อย่าบีบแรงมาก พยายามอย่าบีบจนลานนมเปลี่ยนรูปร่าง และอย่าคลึงนิ้วตามเต้านมไปหาทารก
- ค่อยๆบีบเต้านมไปเรื่อยๆจนกระทั่งลูกหยุดกินนม จากนั้นจึงคลายแรงบีบ โดยเหตุผลที่ต้องคลายแรงบีบก็เพื่อให้คุณแม่ได้พักมือ และได้ปล่อยให้น้ำนมเริ่มไหลให้ลูกอีกครั้ง หากลูกหยุดดูดนมตอนที่คุณแม่คลายแรงบีบ เขาจะเริ่มดูดอีกครั้งเมื่อน้ำนมเริ่มไหล
- ทำต่อเนื่องที่เต้านมข้างแรกต่อไป จนกระทั่งทารกไม่กินนมอีกแล้วแม้จะบีบหน้าอกช่วย คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ที่เต้าข้างนั้นต่อไปอีกสักครู่หนึ่ง เพราะบางทีน้ำนมของคุณแม่อาจจะยังคงมีกลไกการหลั่งค้างอยู่ และทารกก็อาจจะกินนมต่อได้
- ถ้าทารกยังต้องการกินนมต่อ สลับให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้าง และทำซ้ำตามขั้นตอนข้างบน โดยหากคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม คุณแม่ก็อาจจะให้ทารกกินนมสลับกันไปมาในลักษณะนี้ได้หลายครั้ง
- ถ้าลูกไม่ยอมตื่นมาดูดต่อ ให้เอาลูกออกจากเต้า และปลุกให้ตื่นก่อน จึงนำเข้าเต้าเพื่อดูดนมอีกครั้ง
วิธีปลุกลูกดูดนม ทำอย่างไร
- ลดแสงไฟในห้อง หรือปิดม่าน เพราะถ้าแสงสว่างมากเกินไปลูกจะหลับตา
- หากลูกห่มผ้า หรือใส่เสื้อหนาๆ ให้เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าบางๆ เพราะยิ่งลูกรู้สึกอุ่นมากเค้าก็จะยิ่งหลับง่าย
- เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก
- ค่อยๆเช็ดบริเวณหน้าผากและแก้ม
- เขี่ยมือและเท้า หรือลูบหลังลูกเบาๆ
- พยายามจ้องตาและพูดคุยกับลูก
#3 ลูกอาจจะดูดได้แต่น้ำนมส่วนหน้า
อีกสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้ดูดนมบ่อยๆ อาจเป็นเพราะลูกกินนมไม่อิ่มท้อง เนื่องจากคุณแม่บางท่านมักจะให้ลูกดูดสลับเต้าไปมาอยู่ตลอดโดนที่ลูกยังดูดไม่เกลี้ยงเต้า จึงทำให้ลูกได้รับแต่น้ำนมส่วนหน้าซึ่งมีไขมันน้อยกว่าน้ำนมส่วนหลัง ทำให้ไม่อยู่ท้อง คุณแม่จึงควรให้ลูกดูดนมข้างหนึ่งให้เกลี้ยงเต้าแล้วจึงค่อยให้ลูกดูดนมอีกข้าง และครั้งต่อไปที่ต้องให้นมลูก ก็ให้เริ่มจากข้างที่ดูดไว้มื้อที่แล้ว จึงจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมทั้งสองส่วน
#4 อาจเป็นเพราะลูกอยากได้ความอบอุ่น
ทารกในวัยแรกเกิดหรือในช่วง 2 เดือนแรกบางคนก็อยากดูดนมแม่ตลอดเวลาเพราะต้องการความอุ่นใจ เพราะก่อนหน้าที่เค้าจะลืมตาออกมาดูโลกนั้น เค้าอยู่ในท้องแม่อย่างอบอุ่น เมื่อคลอดออกมาก็อาจเกิดความอ้างว้าง คุณแม่ก็อาจจะต้องคอยส่งเสียงพูดคุยให้ลูกได้ยิน อุ้มปลอบบ้างโดยไม่จำเป็นต้องให้ลูกดูดนมทุกครั้งที่ร้อง และเมื่อลูกค่อยๆโตขึ้นเค้าก็จะค่อยๆปรับตัวได้เอง
ที่มา thaibreastfeeding.org
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
นมแม่ปั๊มแล้วเก็บอย่างไร ให้ถูกวิธีและยังมีคุณค่า
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?