แก้ให้ถูกจุด!!!ทำอย่างไรเมื่อทารกก้นเปื่อย
1. ผื่นจากความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
แม้ว่าโฆษณาผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อต่าง ๆ จะมุ่งประเด็นไปที่ซึมซับยอดเยี่ยม แห้ง สบาย แต่ถ้าเผลอให้ลูกใส่นานเกินการรองรับของสารดูดซับความชื้นก็ทำให้ชื้นแฉะได้นะคะ ทำให้อึและฉี่ของเจ้าหนูซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนทำปฏิกิริยากับผิวแสนจะบอบบางทำให้ลูกก้นเปื่อยได้นั่นเอง
วิธีแก้ : คุณแม่ควรทาครีมรักษาผื่นผ้าอ้อมที่มีส่วนผสมของซิงก์ออกไซด์หรือลาโนลิน ล้างก้นให้ลูกทุกครั้งหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม น้ำที่ล้างใช้น้ำเย็นปกติไม่ควรใช้น้ำอุ่นหรือใช้สบู่ทำความสะอาด เพราะจะทำให้ผิวบริเวณก้นแห้งเกินไป เกิดการระคายเคืองได้ง่าย ไม่ควรใช้กระดาษหรือสำลีเช็ดก้น เพราะจะทำให้แผลถลอกมากขึ้น ให้ใช้ผ้าขนหนูเนื้อนุ่ม ซับให้แห้ง อย่าเพิ่งใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทันทีนะคะ ปล่อยให้ผิวได้ระบายความอับชื้นสักครู่ค่ะ
วิธีป้องกัน : เลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เหมาะกับลูก หมายถึง ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ลูกใช้แล้วไม่มีอาการแพ้ ที่สำคัญคุณแม่ควรเปลี่ยนบ่อย ๆ บางทีก็ปล่อยให้ลูกโป๊ ๆ บางก็ได้นะคะ เพื่อระบายอากาศ ควรทาปิโตรเลียมเจลหรือทาวาสลีนเคลือบก้นทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม
2. ผื่นเชื้อรา
หากคุณแม่ทาครีมรักษาผื่นผ้าอ้อมนาน 4-5 วันแล้ว แต่อาการผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณก้นของทารกน้อยยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นเพราะมีเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้เป็นเชื้อปกติในลำไส้ค่ะ แต่มาเจริญเติบโตที่ผิวหนังที่เกิดการระคายเคือง วิธีรักษา ใช้ครีมฆ่าเชื้อรา เช่น คาเนสเทน (Canesten) หรือ Nystatin
3. ติดเชื้อแบคทีเรีย Impetigo
ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนี้ จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส แล้วแตกออกเป็นรอยแดง มีน้ำเหลืองตกสะเก็ดปกคลุม หากเป็นเช่นนี้ต้องพาไปพบคุณหมอแล้วค่ะ
4.โรคผิวหนังอักเสบ Seborrheic Dermatits (SD)
ผื่นที่เกิดจากผิวหนังอักเสบจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดเหลือง ๆ ปกคลุม มักจะพบผื่นเช่นนี้อีกบริเวณที่มีต่อมไขมัน เช่น ใบหน้า คิ้ว หู และศีรษะ มักไม่คัน ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อราร่วมด้วยจึงจะมีอาการคัน รักษาได้โดยใช้ยาทาสเตียรอยด์
5. โรคอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย
เช่น โรคขาดธาตุสังกะสี เกิดจากลูกมีภาวะขาดสารอาหาร ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุสังกะสีได้ไม่เพียงพอ ทำให้ผิวหนังรอบก้นและปากลอกเป็นแผลถลอก โรคนี้ต้องพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาเท่านั้นค่ะ
จะเห็นว่า ก้นเล็ก ๆของเจ้าหนูพอมีปัญหาผิวหนังขึ้นมาบางทีเรื่องเล็ก ๆ ก็ไม่เล็กเสียแล้ว ต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดีนะคะ หากใช้ยาทาแล้วไม่ดีขึ้นคงต้องไปพบคุรณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ คุยกับหมอเด็กยามลูกป่วย โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเด็ก
Credit ภาพ : https://ereidmiller.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผื่นผ้าอ้อม ปัญหาโลกแตกที่แม่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญ
เช็คลิสต์ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเจ้าตัวน้อย