ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท ปกติไหม แก้อาการลูกบิดตัวยังไงดี

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เรามาทำความเข้าใจอาการทารกบิดตัวบ่อย เกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้อาการลูกบิดตัวอย่างไร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และบางครั้งก็เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กแรกเกิด  แต่อาการบิดตัวบ่อยครั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน เรามาทำความเข้าใจอาการทารกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท ตื่นมาร้องไห้กลางดึก เกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้อาการลูกบิดตัวอย่างไร

 

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท ปกติไหม

การที่ลูกบิดตัวไปมาขณะหลับนั้นเป็นอาการปกติของพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของทารกแรกเกิด ที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกายของตัวเอง การบิดตัวจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลใจเสมอไป แต่อาการบิดตัวบ่อย ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่นกัน 

 

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท เกิดจากอะไร

ลูกบิดตัวบ่อย แม้อาจจะเป็นอาการปกติในเด็กแรกเกิด แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ ดังนี้

1. ความหิว

ลูกน้อยบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท และตื่นกลางดึก ร้องไห้ อาจเกิดจากความหิวได้ โดยเฉพาะในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน ที่ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ต้องการนมบ่อยครั้ง ประมาณทุก 2-3 ชั่วโมง หากก่อนนอนลูกยังไม่ได้รับนมเพียงพอ ลูกอาจตื่นขึ้นมาบิดตัวและร้องไห้หาอาหารในช่วงกลางดึกได้

2. ความไม่สบายตัว

หากห้องนอนร้อนหรือเย็นเกินไป ลูกจะรู้สึกไม่สบายตัวและบิดตัวเพื่อปรับอุณหภูมิ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณที่ลูกน้อยส่งมา เช่น การบิดตัว การร้องไห้ หรือเหงื่อออกมากผิดปกติ ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม รวมถึง เลือกผ้าห่มที่มีความหนาพอดีกับอุณหภูมิในห้อง เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นแต่ไม่ร้อนเกินไป  นอกจากนี้ ความไม่สบายตัวอาจเกิดจาก ผ้าอ้อมเปียกชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกอึดอัดและรบกวนการนอนหลับได้เช่นกัน

3. ความเจ็บป่วย

บิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท และตื่นกลางดึกบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังไม่สบาย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • มีไข้ ลูกอาจมีไข้ ตัวร้อน ขยี้ตา หู หรือจมูก และร้องไห้ไม่หยุด หากลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที ส่วนลูกที่อายุมากกว่า 3 เดือน ควรพาไปพบแพทย์เมื่อไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ซึม เฉื่อย หรือมีผื่น
  • ท้องอืด การกินมากเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร หรือการแพ้อาหาร อาจทำให้ลูกท้องอืด ปวดท้อง และนอนไม่หลับได้
  • ท้องผูก หากลูกมีอาการท้องผูกต่อเนื่อง อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว และส่งผลต่อการนอนหลับได้

4. โคลิค

โคลิคเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารกแรกเกิด โดยลักษณะเด่นคือ ลูกจะร้องไห้เสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น หิว ปวด หรือเจ็บป่วย และมักจะร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน อาการโคลิคนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อลูกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อลูกอายุประมาณ 3-4 เดือน

สาเหตุของโคลิค จริงๆ แล้วแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ อาจเกิดจาก 

  • ระบบย่อยอาหารของเด็กทารกยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้ลูกอาจมีอาการจุกเสียด แสลมท้อง หรือปวดท้องได้ 
  • ระบบประสาทของลูกยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกได้ดี ทำให้ลูกอาจร้องไห้แสดงออกถึงความไม่สบายใจ
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เสียงดัง แสงจ้า หรือการสัมผัสที่รุนแรง อาจกระตุ้นให้ลูกเกิดอาการโคลิคได้
  • ปัจจัยอื่นๆ การแพ้อาหาร การดื่มนมมากเกินไป หรือดื่มนมน้อยเกินไปได้เช่นกัน

5. ยังสับสนเรื่องกลางวันกลางคืน

ลูกน้อยยังสับสนเรื่องกลางวันกลางคืน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกบิดตัวบ่อยและหลับไม่สนิทในเวลากลางคืน เพราะลูกยังไม่เข้าใจว่าช่วงเวลาไหนควรเป็นเวลาพักผ่อน และช่วงเวลาไหนควรเป็นเวลาตื่นตัว หากลูกหลับในช่วงกลางวันมากเกินไป หรือมีกิจกรรมที่ตื่นเต้นในช่วงใกล้เวลานอน ก็อาจทำให้ลูกงงและหลับยากในเวลากลางคืนได้

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างกิจวัตรประจำวันให้ลูกเป็นประจำ เช่น การอาบน้ำ อ่านนิทาน หรือร้องเพลงกล่อมก่อนนอนในทุกคืน และพยายามให้ลูกตื่นนอนในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ตื่นเต้นในช่วงก่อนนอนด้วย

6. ภาวะการนอนถดถอย

ลูกน้อยที่เคยหลับสบาย กลับเริ่มตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น หรือไม่ยอมนอนนานเหมือนเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณของ ภาวะการนอนถดถอย ภาวะนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยทารกและเด็กเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย โดยที่ภาวะการนอนถดถอยสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุต่างๆ ของลูกน้อย แต่ช่วงที่พบบ่อยคือช่วงอายุ 4 เดือน, 8 เดือน และ 18 เดือน แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้นในช่วงที่ลูกมีพัฒนาการก้าวกระโดดอื่นๆ เช่นกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เด็กที่มีภาวะการนอนถดถอยจะมีอาการ ตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น อาจตื่นขึ้นมาทุก 2-3 ชั่วโมง หรือไม่ยอมนอนต่อหลังจากตื่น ใช้เวลานานกว่าจะหลับ บิดตัวบ่อย ขณะหลับหรือก่อนนอน ร้องไห้งอแง โดยเฉพาะก่อนนอนหรือตอนกลางคืน รวมถึงนอนกลางวันน้อยลง หรือไม่ยอมนอนกลางวันเลยก็ได้

 

ลูกนอนดิ้นไปมา บิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท แบบไหนอันตราย

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดี เพราะบางครั้ง อาการดิ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ มาดูกันว่า ลูกนอนดิ้น บิดตัวบ่อย แบบไหนควรไปพบแพทย์

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • บิดตัวรุนแรง หากลูกบิดตัวจนหน้าแดง หน้าดำ หรือหน้าเขียวคล้ำ กระตุกแขนขา โยกศีรษะ หรือมีท่าทางผิดปกติขณะนอนหลับบ่อยๆ
  • บิดตัวร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ร้องไห้เสียงดัง ซึม เบื่ออาหาร หรือมีไข้
  • บิดตัวบ่อยและต่อเนื่อง แม้จะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและการดูแลแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น
  • หายใจลำบาก ถ้าลูกหายใจเสียงดัง หายใจติดขัด หายใจเร็ว หรือหน้าเขียวขณะนอนหลับ ควรพาไปพบแพทย์ทันที อาจเป็นสัญญาณของการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ตื่นกลางดึกบ่อยและร้องไห้เสียงดัง อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วย หรือปัญหาอื่นๆ

 

อาการบิดตัวของทารกจะหายตอนไหน

ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้จะค่อยๆ ลดลงและหายไปเองเมื่อลูกโตขึ้น แต่ระยะเวลาที่อาการจะหายไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาการของลูก การดูแลของพ่อแม่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว

  • การเจริญเติบโต เมื่อลูกน้อยโตขึ้น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะพัฒนาขึ้น ทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้น อาการบิดตัวจึงลดลงตามไปด้วย
  • การดูแล ดูแลลูกให้ได้รับอาหารครบถ้วน พักผ่อนเพียงพอ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาด จะช่วยให้อาการบิดตัวลดลงได้เร็วขึ้น
  • สาเหตุของการบิดตัว หากการบิดตัวเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ปวดท้อง หรือติดเชื้อ การรักษาสาเหตุนั้นๆ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

วิธีแก้อาการลูกบิดตัว

ถ้าลูกบิดตัวบ่อยจนเกินไปอาจส่งผลต่อการพักผ่อนของทั้งลูกและพ่อแม่ ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อช่วยให้ลูกน้อยหลับสนิทมากขึ้น

  • สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัก 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดแสงไฟในห้องนอน ปิดเสียงรบกวน เพื่อสร้างบรรยากาศที่สงบและเอื้อต่อการนอนหลับ
  • ปรับอุณหภูมิห้อง ควบคุมอุณหภูมิในห้องให้อบอุ่นไม่ร้อนเกินไป และไม่เย็นจนเกินไป
  • เปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนนอนทุกครั้ง เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสะอาดและสบายตัว
  • ให้นมที่เหมาะสม ให้นมลูกอิ่มพอดีก่อนนอน แต่ไม่มากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกจุกเสียดและนอนไม่หลับ
  • กิจกรรมก่อนนอน สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่สม่ำเสมอ เช่น อ่านนิทาน ร้องเพลงกล่อม หรือกอดลูกเบาๆ เพื่อให้ลูกผ่อนคลายและพร้อมสำหรับการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ตื่นเต้น ก่อนนอนควรหลีกเลี่ยงการเล่นเกมส์ที่ตื่นเต้นหรือดูโทรทัศน์ เพราะจะทำให้สมองตื่นตัวและหลับยาก
  • รักษาตารางนอน พยายามให้นอนและตื่นในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน เพื่อฝึกให้ร่างกายคุ้นเคยกับวงจรการนอนหลับ

หากลูกน้อยยังคงมีอาการบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท แม้จะปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลแล้ว  หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น บิดตัวร่วมกับการร้องไห้ไม่หยุด มีไข้สูง ท้องเสีย อาเจียน หรือดูซึม ไม่ค่อยมีแรง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง และรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไปค่ะ

 

ที่มา : pobpad , โรงพยาบาลศิครินทร์ , hellokhunmor

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา