5 ข้อชวนคิดก่อนตัดสินใจมีลูกคนที่สอง

ครอบครัวไหนกำลังวางแผนมีลูกคนที่สองยกมือขึ้น !!! แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้ซึ้งแล้วว่ามีลูกแต่ละคนนั้นมีอะไรมากมายที่ต้องคิดใคร่ครวญให้ดี แล้ววางแผนมีลูกคนที่สองล่ะต้องวางแผนอย่างไร ติดตามอ่าน

5 ข้อชวนคิดก่อนตัดสินใจมีลูกคนที่สอง

ข้อ 1. ระยะเวลาที่ควรจะมีลูกคนถัดไป เมื่อไหร่ดี 

มีต่อกันไปเลย

เรียกว่าหัวปีท้ายปี เหนื่อยคราวเดียวพอโตก็สบาย แต่กว่าจะโตล่ะคะ หากคุณพ่อคุณแม่คิดจะมีลูกต่อกันไปเลยต้องยอมรับว่าเหนื่อยมากเพราะต้องเลี้ยงลูกเล็กและต้องตั้งครรภ์ไปด้วย ยิ่งถ้าคนที่สองคลอดแล้ว ลูกคนแรกยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องดูแลคนเล็กที่ยังแบเบาะอีก  หากมีญาติหรือมีพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลก็จะแบ่งเบาไปได้ส่วนหนึ่ง

ห่างกัน 1-2 ปี

ทิ้งระยะให้ลูกตนโต โตสักนิดแล้วมีอีกคน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเวลาที่ยังเหน็ดเหนื่อยอยู่เช่นกัน และยิ่งลูกคนโตเป็นวัยกำลังเตาะแตะ เล่นซน ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ ต้องคิดด้วยว่าจะวิ่งไล่จับลูกคนโตไหวหรือไม่

ห่างกัน 3-4 ปี ขึ้นไป

หลาย ๆ ครอบครัว วางแผนมีลูกในช่วงระยะเวลาประมาณนี้ เพราะคิดว่าไม่ห่างกันไปนัก และลูกคนโตก็พอรู้เรื่องแล้ว จะไม่เหนื่อยมากจนเกินไป  เพราะลูกคนโตจะอยู่ในวัยรู้เรื่องแล้ว สามารถปล่อยให้อยู่กับคนอื่น หรือให้พ่อคอยดูแลได้ แบบสบาย ๆ แล้ว สามารถพาไปไหน มาไหน ช่วยเหลือตัวเองได้ดี และยังอาจจะคอยช่วยเหลือดูแลน้องได้ด้วย แต่ในทางกลับกันในวัยนี้ก็ต้องไม่ทอดทิ้ง หรือละเลยกับลูกคนโต เพราะลูกอาจจะเกิดอาการน้อยใจ ว่าพ่อแม่หรือครอบครัวไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญกับเขาเหมือนที่เคยได้รับมาหลายปี

ข้อ 2. เวลาสำหรับดูแลลูกทั้งสองอย่างเพียงพอหรือไม่

ตอนมีลูกคนแรกก็ยังไม่วุ่นวายเรื่องการบริหารเวลาสักเท่าไร  เพราะต่างก็ทุ่มเทเวลาให้เจ้าตัวน้อยได้เต็มที่ เรื่องแบ่งเวลาของพ่อแม่โดยเฉพาะที่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ยังผลัดกันดูแลได้ ยิ่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว  พอจะช่วยเหลือตนเองได้บ้างก็จะทำให้เรื่องการดูแลง่ายขึ้น หากช่วงเวลาดังกล่าวคุณแม่ตั้งครรภ์และคลอดน้องเล็ก ๆ ออกมา คนโตก็อาจจะให้คุณพ่อ  ญาติ  หรือพี่เลี้ยงมาช่วยดูแล  แต่คุณแม่ก็ยังต้องเป็นหลักสำคัญ  เพราะหากดูแลแต่น้องเล็กลูกคนโตจะน้อยใจและอาจจะมีปัญหาเกลียดน้องได้นะคะ  เคยดูแลเขายังไงก็ต้องดูแลให้ได้เหมือนเดิมหรือพยายามเท่าเดิม  ลูกคนโตจะได้ไม่รู้สึกว่าเขามีน้องมาแย่งความรัก  ต้องวางแผนให้รอบคอบจัดสรรเรื่องเวลาว่าจะดูแลคนโตและคนเล็กอย่างไร

ข้อ 3. เงิน ค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดูที่เพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด  ได้แก่  ค่าทำคลอดซึ่งราคาจะต่างกันอีกระหว่างคลอดตามธรรมชาติและผ่าคลอด  นอกจากนี้ยังมีค่าวัคซีน ค่านม ค่ายา ค่าผ้าอ้อม เป็นต้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่การมีลูกคนแรกดีตรงที่คุณแม่สามารถเอาของใช้ของลูกคนโตมาให้น้องได้ก็จะช่วยประหยัดไปได้พอสมควร

วางแผนสะสมเงิน มีลูกคนที่สองนอกจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึง คือ  เงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามที่จำเป็น ควรมีเงินสำรองไว้เพื่อใช้จ่ายลูกทั้งสองคน  โดยเฉพาะคนเล็กที่ยังแบเบาะจะมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดมาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองคำนวณดูว่าควรมีเงินในบัญชีเท่าไรเพื่อให้เพียงพอสำหรับลูกทั้งสองคน คุณพ่อคุณแม่จะได้คิดทางวิธีบริหารเงินได้ชัดเจน รวมถึงการหาช่องทางในการเพิ่มรายได้เข้าครอบครัวมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอและเหมาะสมกับการดูแลลูกทั้งสองคนได้อย่างไม่ลำบาก

ข้อ 4. อายุ และความสมบูรณ์ของร่างกายคุณแม่

เรื่องของอายุไม่ใช่แค่ตัวเลขแล้วคะสำหรับการตัดสินใจมีลูกคนที่สอง เพราะถ้าหากอายุเลย 35 ปีไปแล้ว คุณแม่อาจไม่มีเวลามากนักที่จะเว้นวรรคระหว่างลูกคนแรกและลูกคนที่สอง แต่หากคุณอายุเพียง 30 ปี คุณก็อาจมีเวลาที่จะไตร่ตรองนานขึ้นอีกนิด ฉะนั้น หากคุณกำลังวางแผนจะมีลูกคนที่สอง ควรปรึกษาแพทย์ด้วยว่าอายุของคุณจะทำให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงหรือไม่

ข้อ 5. ความคิดเห็นที่ตรงกันของคุณพ่อคุณแม่

เรื่องการวางแผนมีลูกคนที่สองทั้งคุณแม่และคุณพ่อควรมีความคิดเห็นที่ตรงกัน หากฝ่ายหนึ่งพร้อม อีกฝ่ายหนึ่งไม่พร้อม หากคุณมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ควรนั่งลงพูดคุยอย่างจริงจัง ชี้แจงความต้องการของตนเอง และรับฟังอีกฝ่ายอย่างเปิดใจ แม้ว่าจะตกลงกันไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยคุณก็เข้าใจกันมากขึ้น และน่าจะนำไปสู่บทสรุปที่ตรงใจทุกฝ่ายได้ในที่สุด

เรื่องน่ารู้

การวิจัยที่ University of California,San Francisco พบว่า ระยะห่างที่เหมาะที่สุดที่จะมีลูกคนต่อ ๆ ไปคือ 24-35 เดือน การตั้งครรภ์ที่เร็วกว่าช่วงเวลาดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่ทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ คุณหมอคาดเดาว่า มารดาอาจจะต้องการเวลาที่จะหายจากอาการเครียดและต้องการบำรุงร่างกายให้แข็งแรงหลังจากการคลอดบุตรครั้งที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ Jeannie Kidwell แห่ง University of Tennessee กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ลูกคนแรกอายุน้อยกว่า 1 ขวบ หรือ มากกว่า 4 ขวบเป็นช่วงเวลาที่ดีเลิศในแง่ของ ความสัมพันธ์ของเด็กๆ กับพ่อแม่ การชิงดีชิงเด่นกับพี่น้อง และการนับถือตนเอง (self-esteem) ของเด็ก ๆ Jeannie เชื่อว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ จะยังไม่มีเซนส์เรื่องของสถานภาพของตนเอง และ เด็กที่อายุมากกว่า 4 ขวบจะไม่ค่อยต้องการความสนใจจากพ่อแม่มากเท่าเดิม และเริ่มจะรู้จักใช้ชีวิตด้วยตนเองได้แล้ว

ถึงยังไงการวางแผนที่จะมีลูกคนที่สองไม่ใช่ต้องอาศัยหลักทางวิชาการเป็นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความพร้อมในการวางแผนของพ่อแม่นั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   เพราะแต่ละครอบครัวย่อมมีความแตกต่างกัน  ดังนั้น ไม่มีใครรู้ได้ว่าคุณพร้อมที่จะมีลูกคนที่สองเมื่อไร มาเริ่มวางแผนกันดีกว่าค่ะ หากคิดจะมีลูกคนที่สอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

kapook

bloggang

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ฝึกให้พี่รักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง

ชีวิตแม่ลูกสอง ที่ไม่มีใครเคยบอก

มีลูกหัวปีท้ายปี: ฉันท้องตอนลูกเพิ่งสองเดือน