4 โรคนี้ต้องระวัง ถ้าแม่ท้องเป็นอาจต้องผ่าคลอด
4 โรคนี้ต้องระวัง ถ้าแม่ท้องเป็นอาจต้องผ่าคลอด …นพ.ภูมิพร อัจฉรารัตนโสภณ สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยถึงสัญญาณเตือนแม่ท้องมีความเสี่ยงผ่าคลอดว่า การผ่าตัดคลอดจะเกิดขึ้นเมื่อคุณหมอเห็นว่าการคลอดปกติแบบธรรมชาติ จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะต่อตัวคุณแม่ หรือลูกก็ตาม ซึ่ง 4 โรคที่ต้องระวัง ถ้าแม่ท้องเป็นอาจต้องผ่าคลอด ได้แก่
1.โรคหัวใจ
เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบบางชนิด เป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ควรต้องผ่าคลอด เพราะเวลาขณะที่เบ่งคลอดจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน คือ การทำงานของหัวใจแย่ลง มีอาการเหนื่อยหอบ ระบบการหายใจทำงานถี่ หายใจไม่ทัน หมดสติ น้ำท่วมปอดหรือหัวใจวาย เป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และทารกได้ การผ่าตัดคลอดจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารกมากกว่า
2.มะเร็งปากมดลูก
ขณะตั้งครรภ์ก็มีโอกาสทำให้การคลอดมีปัญหาได้ โดยอาจเป็นจากก้อนมะเร็งมาขัดขวางช่องทางคลอด หรือทำให้มีเลือดออกรุนแรงจากก้อนมะเร็ง การดูแลรักษา การผ่าตัดคลอดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณแม่ ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลร่วมกันของคุณหมอสูติและคุณหมอมะเร็งนรีเวช
3.เนื้องอกในมดลูก และยังไม่ได้ผ่าตัดเนื้องอกออกไป
การมีเนื้องอกอาจจะส่งผลให้ทารกไม่กลับศีรษะลง หรือถ้ามาอยู่ในตำแหน่งที่อุดกั้นปิดขวางช่องทางการคลอดก็ทำให้ทารกไม่สามารถคลอดออกมาได้
4.เบาหวาน
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลส่วนหนึ่งให้ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากกว่าปกติ มีผลทำให้คลอดยาก หากคุณหมอประเมินแล้วว่าทารกในครรภ์น้ำหนักเกิน 4.2 – 4.5 กิโลกรัม ก็เป็นข้อบ่งชี้ตัวหนึ่งว่าควรจะผ่าตัดคลอด เพราะถ้าปล่อยให้คลอดเองจะทำให้ช่องคลอดเกิดการฉีกขาด คลอดไหล่ติด หรือติดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกได้
สำหรับลักษณะของแผลผ่าตัดคลอดมี 2 แบบ
– การผ่าตัดแนวตั้ง ใช้เวลาในการผ่าตัดเพื่อเข้าสู่ช่องท้องได้เร็วกว่า ผ่าตัดได้ง่ายสะดวก ช่วยคลอดทารกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกรณีที่ทารกอยู่ผิดท่า ทั้งยังสามารถผ่าตัดอวัยวะอื่นในช่องท้องได้ด้วย แต่ก็เจ็บแผลผ่าตัดมากกว่า ฟื้นตัวช้ามีแผลเป็นที่เห็นเด่นชัด
– การผ่าคลอดแนวนอน ข้อดีหลักๆ คือ เจ็บแผลผ่าตัดน้อยกว่า แผลเป็นน้อยกว่าเพราะลงมีดตามแนวของรอยพับผิวหนัง แต่ผ่าตัดได้ยากกว่าโดยเฉพาะกรณีที่มีพังผืดในช่องท้อง ช่วยคลอดทารกได้ยากกว่า และต้องใช้เวลาในการผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องนาน จึงใช้ได้กับการผ่าคลอดที่มีการวางแผนเอาไว้ ไม่เร่งรีบ
เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในท้อง ขอแนะนำให้ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด พบกับคุณหมอทุกครั้ง เพื่อที่คุณหมอจะได้ให้คำแนะนำ และเลือกการคลอดได้อย่างเหมาะสมของคุณแม่แต่ละท่าน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดที่ต้องระวัง!!
เล่าประสบการณ์จริง บล็อคหลังผ่าคลอด ช็อตต่อช็อต นาทีต่อนาที
วินาทีประทับใจ! ทารกเอาก้นออกจากท้อง แม่ผ่าคลอด