เคยรู้สึกบ้างไหมค่ะว่าลูกของคุณทำหูทวนลมเวลาคุณสั่งให้เขาปิดทีวีแล้วหันมาตั้งใจทานข้าว หรือขอให้ปิดเครื่องเล่นเกมแล้วเริ่มทำการบ้านเสียที ขอให้รู้เอาไว้ว่าคุณไม่ใช่พ่อแม่คู่แรกที่ประสบกับปัญหานี้หรอกค่ะ มีหลากหลายวิธีที่จะทำให้ลูกของคุณหันมาฟังสิ่งที่คุณพูดมากขึ้น ฟังทางนี้เลยค่ะ
ฟังเขาก่อน
วิธีแรกที่จะทำให้ลูกคุณฟังสิ่งที่คุณพูด ดูจะไม่ใช่’วิธี’ สักทีเดียว เพราะอันที่จริงแล้ว ก่อนที่คุณจะให้ลูกคุณฟังคุณ คุณจะต้องเริ่มฟังเขาพูดก่อน ลองฟังเขาทั้งจากภาษาพูดและภาษากาย นั่นหมายถึงคุณอาจจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเขาว่าเขากำลังอยู่ในอารมณ์ใด เศร้าหมอง ไม่สบายใจ หรือมีอะไรที่ผิดปกติไปหรือเปล่า บางครั้งเพราะอาการเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ลูกไม่ฟังสิ่งที่คุณพูดเท่าใดนัก หากคุณลองฟังเขาพูด และสังเกตท่าทางและภาษากายของเขาแล้ว จะช่วยให้ลูกของคุณรู้สึกว่าเขาเองก็ต้องฟังคุณเช่นกัน
บทความแนะนำ: วิธีทำให้ลูกอยู่นิ่ง
เรียกชื่อ
เป็นวิธีที่อาจจะง่ายที่สุดในบรรดาวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้ลูกหันมาฟังคุณ หากอยากให้เขาหันมาสนใจคุณ ก็เพียงแค่เรียกชื่อเขาชัด ๆ แต่อย่าตะโกนข้ามห้อง หรือจากห้องครัวไปที่สวนหน้าบ้านเมื่อเขากำลังเล่นอยู่ข้างนอก คุณควรเดินมาหาเขาที่ห้องที่เขาอยู่แล้วเรียกชื่อเขา เมื่อเขาหันกลับมาหาคุณ คุณค่อยพูดในสิ่งที่อยากจะบอกเขา
ใช้ภาษาตาเข้าช่วย
อย่าดูถูกพลังของสายตาไปเชียว เพราะสายตานี่แหละที่เป็นหน้าต่างของหัวใจ หากอยากให้ลูกหันมาฟังคุณ คุณต้องก้มลงไปให้หน้าของคุณอยู่ในระดับสายตาของเขา แล้วมองลึกลงไปที่ตาของเขาขณะพูด จะทำให้ลูกคุณให้ความสนใจในสิ่งที่คุณพูดเต็มที่ แล้วยังช่วยให้คุณได้สังเกตเขาอย่างใกล้ชิดว่าเขากำลังฟังคุณอยู่จริงหรือไม่ หรือเขามองข้ามสายตาของคุณไป การมองตาเขาและก้มลงไปอยู่ในระดับสายตาของเขายังช่วยให้คุณได้พิสูจน์ให้ลูกเห็นว่าคุณยินดีที่จะก้มลงไปคุยกับเขาและจะตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดเช่นกัน
บทความแนะนำ: ตั้งกฎในบ้านอย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง
เช็คคำพูดตัวเอง
สิ่งสุดท้ายที่จะทำให้ลูกฟังสิ่งที่คุณพูด นั่นคือคุณต้องเช็คที่ตัวคุณ ว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณพูดกับลูก คุณคิดไตร่ตรองคำพูดของคุณและคำพูดของคุณหมายความตามนั้นจริง ๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณสัญญากับลูกว่าจะพาเขาไปสวนสัตว์พรุ่งนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จบลงที่ไม่ได้พาเขาไปเพียงเพราะคุณลืม การที่คุณผิดสัญญากับเขาบ่อยๆอาจทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นในตัวคุณ และอาจจะทำให้เขาไม่อยากฟังคุณพูดเพราะคำพูดของคุณอาจดูไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เขาเชื่ออีกต่อไปแล้ว
บทความแนะนำ: คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรใช้กับลูก