วิธีทําให้ลูกฉลาด 30 วิธีง่ายๆ ช่วยลูกสมองดี หัวไวตั้งแต่ยังแบเบาะ

วิธีทำให้ลูกฉลาด สิ่งที่เป็นเครื่องมือสู่การต่อยอดและช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย แต่ผู้ช่วยที่สำคัญที่สุดก็คือ “พ่อแม่” โดยเฉพาะใน 2 ขวบปีแรก ที่พ่อแม่คอยดูแลเอาใจใส่ แค่คำพูด เสียงร้องเพลง เสียงหัวเราะ หรือแม้แต่กิจกรรมเล็ก ๆ ที่ทำกับลูกน้อย ก็จะส่งผลให้ลูกฉลาดได้นะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ว่าด้วยเรื่องสมอง มีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร 

มนุษย์เรามีสมองเป็นอวัยวะที่โดดเด่นมากที่สุดของร่างกาย  สมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 

  1. ก้านสมอง (Brain Stem) เป็นศูนย์ควบคุมการหายใจ มีเครือข่ายระบบประสาทที่เกี่ยวกับการหลับ ตื่น เป็นที่อยู่ของประสาทสมองที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ใบหน้า ลิ้น กล่องเสียง การกลืน
  2. สมองน้อย (Cerebelium)ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลการเคลื่อนไหว การกะระยะ การประสานให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ละเอียด และแม่นยำของกล้ามเนื้อแขนขา
  3. สมองใหญ่ (Cerebrum) แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
  • สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) มีหน้าที่เกี่ยวกับการคิด วางแผน ตัดสินใจ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา
  • สมองส่วนกลาง (Parietal Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้และแปลผลข้อมูลที่มาจากประสาทสัมผัสที่มาจากแขน ขา ลำตัว และผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น อุณหภูมิ ความร้อน ความเย็น หนัก เบา ความหยาบ ละเอียดของพื้นผิว และมิติทางเรขาคณิตของสิ่งต่าง ๆ
  • สมองส่วนขมับ (Temporal Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ แปลผลและตัดสินข้อมูลเสียงที่เข้ามาทางหูทั้งหมดที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก มี Hippocampus ที่ฝังตัวอยู่ด้านในทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Main Memory Circuit ของสมอง
  • สมองส่วนหลัง (Occipital Lobe) ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้ แปลผลและตัดสินข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางสายตาทั้งหมดจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก

สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ซีก แต่ละซีกทำงานแตกต่างกัน คือ 

  1. สมองซีกซ้าย ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องภาษาทั้งหมด การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน
  2. สมองซีกขวา ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องแผนที่ และมิติทางเรขาคณิตของสิ่งแวดล้อมของตัวเด็ก รวมทั้งทัศนะทางศิลปะ

พัฒนาการสมองของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ ภายใน 2 ปีแรกนั้นสำคัญที่สุด

เด็กเกิดมาพร้อมด้วยเซลล์สมองจำนวนมากมาย แต่สมองจะเจริญเติบโตได้และทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองและการพัฒนาวงจรปฏิกิริยาของสารเคมีในสมอง เซลล์สมองจะเริ่มทำงานเมื่อได้รับการกระตุ้น โดยสมองจะพัฒนาสูงสุดใน 1,000 วันแรกของชีวิตลูก หรือตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ไปจนถึง 2 ขวบปีแรก จึงเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่จะส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกอย่างเต็มที่

 

วิธีทำให้ลูกฉลาด 30 วิธีง่ายๆ ช่วยลูกสมองดี หัวไวตั้งแต่ยังแบเบาะ

1. ฉลาดเพราะโภชนาการที่พบในนมแม่ 

ผลการศึกษาในเด็กวัยเรียนพบว่า เด็กที่กินนมแม่ตอนที่เป็นทารกมักจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะในนมแม่นั้น นอกจากจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของเด็กกว่า 200 ชนิดแล้ว ยังมีสารอาหารสำคัญอย่าง MFGM (Milk Fat Globule Membrane) คือ เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนม ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสฟิงโกไมอิลีน ฟอสโฟไลปิด โคลีน แกงกลิโอไซต์ เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยพัฒนาด้าน EQ ของลูก ให้พวกเขามีความฉลาดด้านอารมณ์อีกด้วย 

นอกจากนี้ ในนมแม่ยังมี DHA สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันในตระกูลโอเมก้า 3 ช่วยสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดยองค์ประกอบหลักในสมองมี DHA 40% และมี DHA ในจอประสาทตาถึง 60% DHA จะเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ ส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน

เนื่องจากในช่วง 1,000 วันแรก ของลูกนั้น พัฒนาการสมองจะสามารถไปได้ถึงขีดสุด หากได้รับโภชนาการนมแม่อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกฉลาดและมีไอคิวที่ดีได้อย่างแน่นอน แต่สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาการให้นมบุตร น้ำนมไม่พอ หรือต้องทำงานจนไม่สามารถให้นมเองได้ ควรเลือกนมที่มีสารอาหาร  สมองอย่าง MFGM สฟิงโกไมอีลิน ดีเอชเอ โคลีน และฟอสโฟลิปิด รวมทั้งสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นแต่ละช่วงวัย ก็จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองของลูกได้อย่างมาก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. ตามองตา

เมื่อหนูน้อยลืมตาตื่นขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่ลองมองหน้าสบสายตากับเจ้าตัวน้อย เด็กแรกเกิดจะจดจำใบหน้าของคนได้เป็นสิ่งแรกเสมอ และใบหน้าของพ่อแม่คือใบหน้าแรกที่ลูกอยากจะจดจำ ซึ่งแต่ละครั้งที่หนูน้อยจ้องมองใบหน้า สมองก็จะบันทึกความทรงจำไว้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

3. พูดต่อสิลูก

ตอนคุณแม่พูดกับลูกน้อย ให้ลองเว้นช่องว่างในช่วงคำง่าย ๆ ที่ลูกจะสามารถพูดต่อได้ เช่น พยางค์สุดท้ายของคำ หรือคำสุดท้ายของประโยค ในช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะเงียบและทำหน้างง แต่ถ้าทำแบบนี้บ่อย ๆ ในประโยคซ้ำ ๆ ลูกจะค่อย ๆ จับจังหวะ จับคำพูดบางคำได้ และเริ่มพูดต่อในช่วงว่างที่พ่อแม่หยุดไว้ให้

4. ให้ลูกเป็นตัวเองในนิทาน

เพิ่มเติมจากการเล่านิทานธรรมดา ด้วยการใส่ชื่อลูกแทนชื่อตัวละครตัวสำคัญในนิทานเล่มโปรด เพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานไปกับชื่อของตัวเองในนิทาน เป็นการให้ลูกได้สร้างจินตนาการตามบทบาทนั้น ๆ

5. ทำหน้าตลกใส่ลูก

เช่น การแลบลิ้นปลิ้นตา หรือทำหน้าประหลาด ๆ ตลก ๆ ใส่ลูก เด็กน้อยเพียงแค่อายุ 2 วันก็มีความสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าอย่างง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้ แถมยังสร้างรอยยิ้มร่วมกันได้อีก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

6. กระจกวิเศษ

กระจกถือเป็นอุปกรณ์การเล่นที่แสนวิเศษของลูก ทารกเกือบทุกคนชอบส่องกระจก หนูน้อยจะสนุกที่ได้เห็นเงาของตัวเองในกระจก แถมยังมีการขยับแขนขาโบกมือหรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้

7. มากกว่าการอาบน้ำ

ช่วงจังหวะที่อาบน้ำให้ลูกน้อยนั้น คุณแม่สามารถสอดแทรกคำศัพท์ลงไปได้ เช่น สอนให้ลูกรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือบรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่ากำลังทำอะไรและจะทำอะไรต่อ เช่น แม่กำลังถูสบู่ให้ลูกอยู่นะ เพื่อช่วยให้ลูกได้เรียนรู้กับคำศัพท์และเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันไปในตัวด้วย

8. สองภาพที่แตกต่าง

ถือรูปภาพ 2 รูป ที่คล้ายกันให้ลูกมอง โดยวางให้ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เช่น ภาพรูปบ้านที่เหมือนกันทั้งสองรูป แต่อีกรูปหนึ่งมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ข้างบ้าน แม้ยังเป็นเด็กทารกแต่ลูกจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ได้ เป็นการสร้างความจำที่จะเป็นพื้นฐานในการจดจำตัวอักษรและการอ่านสำหรับลูกต่อไป

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

9. ชมวิวนอกบ้าน

พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งที่เห็นให้ลูกฟัง เช่น ต้นไม้สีเขียวมีนกเกาะเต็มไปหมด ดอกไม้สีแดง การบรรยายสิ่งแวดล้อมให้ลูกฟังสร้างโอกาสการเรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ ให้กับลูกได้นะคะ

10. ทำเสียงประหลาด

ทำเสียงเป็นสัตว์ประหลาด หรือเสียงสัตว์ต่าง ๆ เป็นเสียงสูง เลียนแบบเสียงเวลาที่ลูกพูด ทารกน้อยจะพยายามปรับการรับฟังเสียงให้เข้ากับเสียงต่าง ๆ จากพ่อแม่ เป็นการเสริมทักษะการได้ยินของลูกได้ดีทีเดียว

11. เป่าลมฟู่ ๆ

การเป่าลมเบา ๆ ไปตาม ใบหน้า มือ แขน หรือท้องของลูก หาจังหวะในการเป่าของตัวเอง เช่น เป่าเร็ว ๆ สลับกับช้า หรือเป่าแล้วตามด้วยเสียงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของพ่อแม่ จะช่วยให้ลูกน้อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นและสามารถสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองทางด้านอารมณ์จากลูกได้

12. พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุด

เพียงแค่คุณพ่อหรือคุณแม่นอนราบลงไปบนพื้น และปล่อยให้หนูพยายามคลานข้ามตัวไป เพียงแค่นี้ร่างกายของคุณพ่อคุณแม่ก็จะกลายเป็นสนามเด็กเล่นที่ดีและราคาถูกที่สุด โดยไม่ต้องลงทุนไปซื้อของเล่นราคาแพงให้ลูก เพราะการเล่นแบบนี้จะทำให้หนูน้อยรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่ และได้พัฒนากล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์กับการเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน

13. พาลูกไปชอปปิ้ง

นาน ๆ ครั้งพาลูกน้อยออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ตด้วยกันบ้าง การพาลูกออกนอกบ้านจะทำให้ลูกได้เห็นใบหน้าผู้คนอันหลากหลาย และเห็นสิ่งอื่น ๆ ทำให้ลูกน้อยได้ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น

14. ให้ลูกมีส่วนร่วม

พยายามให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจวัตรต่าง ๆ เช่น ถ้ากำลังจะปิดไฟก็อาจจะบอกลูกว่า แม่กำลังจะปิดแล้วนะ เสร็จแล้วจึงกดปิดสวิตช์ไฟ นี่จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผล ลูกน้อยจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณแม่กดสวิตช์ หลอดไฟจะปิด เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

15. ปูไต่

การหัวเราะเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านอารมณ์ขัน การเล่นปูไต่ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการคาดเดาเหตุการณ์ด้วยว่า นิ้วมือของพ่อแม่กำลังจะไต่ไปไหนต่อ ปูจะไต่จากไหนไปถึงไหนกันนะ เป็นต้น

16. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

มีผลการวิจัยออกมาว่าการอ่านหนังสือช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริง ๆ เด็ก 8 เดือนสามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้โอกาสทองในการจดจำของลูกผ่านเลยไปด้วยการหาเวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำนะคะ

17. ทิชชูหรรษา

อุทิศทิชชูที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ให้ลูกได้ลองดึงเล่น ลองสัมผัส เพราะการที่เด็กน้อยได้ขยำหรือขยี้กระดาษให้ยับย่น หรือพับให้เรียบนั้นเป็นการฝึกประสาทสัมผัสและการใช้มือของลูกเป็นอย่างดี

18. เล่นจ๊ะเอ๋

การเล่นจ๊ะเอ๋ เพียงแค่พ่อแม่เอามือปิดหน้าตัวเอง แล้วพูด “จ๊ะเอ๋” แค่นี้นอกจากจะทำให้ลูกหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อสิ่งของหายไปแล้วสามารถกลับคืนมาได้

19. สัมผัสที่แตกต่าง

หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย ค่อย ๆ นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า หรือท้องลูกเบา ๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็บรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่าความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัสเป็นอย่างไร เช่น อันนี้นุ๊ม นุ่ม อันนี้แข็ง ๆ เป็นต้น

20. ให้ลูกผ่อนคลาย และอยู่กับตัวเองบ้าง

ให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในแต่ละวัน นั่งเงียบ ๆ สบาย ๆ กับลูกน้อยบนพื้นบ้าน ไม่ต้องเปิดเพลง เปิดไฟ หรือเล่นอะไรกัน ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ตามใจชอบ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปยุ่งกับลูก และรอดูว่าลูกน้อยจะคลานเข้ามาหาพ่อแม่ตอนไหน ถือเป็นการฝึกความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกขั้นแรก

21. มื้ออาหารแสนสนุก

เข้าสู่วัยที่ลูกน้อยสามารถกินอาหารเสริมได้หลากหลายขึ้น ลองจัดอาหารที่ลูกสามารถใช้มือจับได้ให้มี ชนิด ขนาด และพื้นผิวที่แตกต่างกันไป เช่น ผลไม้ชิ้นเล็กหรือเป็นแท่ง เส้นพาสต้า มักกะโรนี หรือซีเรียล เพื่อเป็นการให้ลูกฝึกใช้นิ้ว และฝึกใช้ประสาทสัมผัสเมื่อได้สัมผัสกับอาหารที่มีลักษณะแตกต่างกัน

22. ดูรูปครอบครัว

นำรูปลูกตอนแรกเกิด รูปครอบครัว รูปญาติ ๆ มาใส่รวมเป็นอัลบั้มเดียว หรือใส่กรอบแล้วนำออกมาให้ลูกดูบ่อย ๆ เพื่อให้จดจำชื่อญาติแต่ละคน ซึ่งสร้างผลลัพธ์ออกมาได้พอใจเชียวล่ะ เวลาที่คุณปู่คุณย่ามาและหลานจำได้ ก็จะสร้างความประทับใจที่ดีให้กับญาติผู้ใหญ่ด้วย

23. แรงโน้มถ่วงของโลก

ถ้าเห็นลูกมีพฤติกรรมชอบทิ้งของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากคุณแม่จะคอยสอนให้ลูกเก็บของแล้ว แต่ให้เข้าใจพฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นการทดสอบของตัวลูกเรื่องแรงโน้มถ่วงว่าจะตกลงสู่พื้นทุกครั้งหรือไม่

24. กล่องมายากล

เกมฝึกสมองง่าย ๆ สำหรับลูก ด้วยการหากล่องที่เหมือนกันมาสักสามกล่อง แล้วซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของลูกไว้ในกล่องใบหนึ่ง สลับกล่องจนลูกจำไม่ได้ แล้วให้ลูกค้นหาของเล่นชิ้นนั้นในกล่องจนเจอ

 

25. สร้างอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ

โดยนำเบาะ โซฟา หมอน กล่อง หรือของเล่นวางขวางไว้บนพื้น เพื่อปล่อยให้ลูกลองคลานข้าม หรือคลานรอบ ๆ สิ่งกีดขวาง เพื่อเป็นกระตุ้นทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อให้ลูกและใช้กระบวนการคิดว่าเขาจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร

26. เลียนแบบลูกบ้าง

เด็ก ๆ ชอบให้พ่อแม่ทำอะไรตามในบางครั้ง เช่น เลียนแบบท่าหาวของลูก แกล้งดูดขวดนมของลูก ทำเสียงเลียนแบบเวลาที่ลูกส่งเสียงอ้อแอ้ หรือคลานในแบบที่ลูกคลาน การทำอย่างนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกแสดงกิริยาท่าทางอื่น ๆ ออกมา เพราะอยากเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ นี่คือก้าวแรกสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อย

27. จับหน้าเล่น

ปล่อยให้ลูกได้ลองจับต้องใบหน้าที่ทำหน้าตาแปลก ๆ ของพ่อแม่ เช่น ขมวดคิ้ว แยกเขี้ยว แลบลิ้นให้ลูกดู แล้วสร้างเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ถ้าลูกจับจมูกจะทำเสียงแบบนี้ ถ้าจับแก้มจะทำเสียงอีกแบบหนึ่ง ทำแบบนี้ 3-4 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกแปลกใจและรู้สึกสนุกสนาน

28. คลานตามกันไป

เมื่อลูกคลาน คุณแม่ก็ลองคลานตามลูกดูบ้าน ลองนำให้ลูกตามช้าเร็วสลับกันไป หรือพาคลานเพื่อสำรวจมุมต่าง ๆ ของบ้าน และลองเปลี่ยนมุมบ้างเพื่อให้ลูกได้ใช้ทักษะการสังเกต

29. ศึกษาวันฝนตก

ในวันที่ฝนตก ลองอุ้มลูกน้อยเดินทั่วบ้าน ให้ลูกได้ยินเสียงฝนตก หรือลองสัมผัสกับหน้าต่างที่เย็นชื้น ชวนมองหยดน้ำที่เกาะบนใบไม้ ต้นไม้หลังฝนตก เป็นการเปิดประสาทสัมผัสของลูกสู่ความรู้สึกต่าง ๆ เมื่อได้แตะต้องสิ่งของเย็น เปียก เป็นต้น

30. ร้องเพลงหรรษา

มีนักวิจัยค้นพบว่า จังหวะดนตรีเกี่ยวพันกับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของลูก ดังนั้นการสร้างเสียงและจังหวะส่วนตัวขึ้นมา อาจจะเป็นเพลงที่คุณแม่แต่งเองขึ้นมาแล้วใส่เสียงสูงต่ำแบบการร้องเพลงเข้าไป เช่น เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก หรือเปิดเพลงชนิดต่าง ๆ ให้ลูกฟัง เช่น เพลงโมสาสที่เคยเปิดให้ลูกฟังตอนท้อง หรือจะเป็นเพลงลูกทุ่ง บางวันเป็นเพลงบรรเลง หรือเพลงป๊อปทั่วไปให้ลูกฟังทุกวันดูนะคะ

คุณแม่ที่มีข้อสงสัยเรื่องการเสริมพัฒนาการสมอง เสริมความฉลาดให้ลูกตั้งแต่วัยแบเบาะ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

 

ที่มา : พัฒนาการเด็ก.com

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

8 สัญญาณเตือน ลูกพัฒนาการช้า ที่พ่อแม่สังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด

10 อาหารบำรุงสมองใน 1,000 วันแรก ให้ลูกกินอะไร แล้วลูกฉลาด พัฒนาการสมองไว

บัญญัติ 8 ข้อสู่การเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ

5 วิธีเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์

 

บทความโดย

Napatsakorn .R