คุณแม่คนไหนที่เข้าสู่ช่วงอายุ ครรภ์ 22 สัปดาห์ เท่ากับ 5 เดือน คงมีความสงสัยเรื่องลูกน้อยในท้องแม่ ตัวโตขนาดนี้แล้วเหรอเนี่ย ทารกในครรภ์มีความยาว 27.7 เซนติเมตร ขนาดเทียบเท่ากับมะละกอแล้ว
พัฒนาการทารกช่วง ครรภ์ 22 สัปดาห์
เป็นช่วงไตรมาสที่ 2 แล้ว ในช่วงนี้คุณแม่คงอุ้มท้องทารกน้อย และเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น คุณแม่อาจอยากรู้ว่าทารกในครรภ์ช่วงนี้มีพัฒนาการที่ต่างจากช่วงไตรมาสแรกอย่างไร หรือต่างจากสัปดาห์ที่แล้วมากแค่ไหน สังเกตได้ดังนี้
- ใบหน้าของลูกพัฒนาดวงตา และปากแล้ว หน้าตาของลูกในท้องตอนนี้จึงดูละม้ายคล้ายกับทารกแรกเกิด
- เหงือกของลูกพร้อมแล้วที่จะพัฒนาหน่อฟัน ทำให้ฟันของลูกจะขึ้นเป็นปุ่ม ๆ ใต้เหงือกบ้างแล้ว
- อวัยวะของลูกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตับอ่อนก็กำลังผลิตฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกายทารก
- เริ่มมีขนอ่อนขึ้นตามร่างกายบ้างแล้ว ขนเหล่านี้จะทำหน้าที่ยึดไขเคลือบผิวไม่ให้หลุดร่อนออกไปได้ง่าย
- ถ้าแม่อุ้มท้องลูกสาว ช่องคลอดของลูกได้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว
- ลูกในท้องได้พัฒนารูปแบบการนอน และการตื่น วนเป็นรอบ ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
วิดีโอจาก : DrNoon Channel
อาการคนท้อง 22 สัปดาห์
การปรับตัวเมื่อเจออาการต่าง ๆ ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ยังคงต้องดำเนินต่อไป อาการคนท้องช่วงนี้ เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องรู้ เพื่อหาวิธีที่จะเตรียมรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด หรือเกิดอันตรายตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 3 ไตรมาส อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ โดยทั่วไปมีดังนี้
- เจ้าตัวน้อยเติบใหญ่อยู่ในท้องแม่ จนทำให้แม่หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม
- แม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ท้องโตจนเห็นชัด ใคร ๆ ก็ขอมาจับท้อง แต่ถ้าแม่ไม่อยากให้คนแปลกหน้ามาลูบท้อง ก็ลองปฏิเสธแบบนุ่มนวลดูนะคะ
- สะดือของแม่จะปูดออกมา จนใส่เสื้อผ้าแล้วรู้สึกแปลก ๆ แต่ไม่ต้องห่วง พอคลอดลูกแล้วสะดือแม่ก็จะกลับไปเป็นอย่างเดิม
- ช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่จะเผาผลาญได้มากกว่าตอนปกติเพิ่มขึ้นประมาณ 20 % ส่งผลให้แม่ท้องช่วงนี้รู้สึกว่าขี้ร้อน มีเหงื่อไหลออกมาก
- ด้วยขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา ในช่วงนี้จึงทำให้หน้าท้องของคุณแม่เริ่มแตกลาย รวมไปถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น ต้นขา และหน้าอก เป็นต้น
- มีตกขาวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากที่จุดนั้นมีการไหลเวียนเลือดที่มากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 22 สัปดาห์ รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้คุณแม่บางคนไม่มีความรู้สึกทางเพศเลย
- แม่ท้องจะปวดหลังมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเป็นแรงกดทับจากขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวลำบาก คุณแม่ต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะในไตรมาสถัดไปขยาดของท้องจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
อัลตราซาวนด์ครรภ์ได้ 22 สัปดาห์เห็นอะไรบ้าง
การตั้งครรภ์ในช่วงนี้หากคุณแม่เดินทางไปอัลตราซาวนด์ จะมองเห็นอวัยวะของทารกน้อยในครรภ์แทบทั้งหมดแล้ว การไปพบแพทย์จะช่วยสามารถยืนยันอายุครรภ์ หรือตรวจอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมอง, กระดูกสันหลัง และหัวใจ เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจตำแหน่งของรก และปริมาณของน้ำคร่ำ นอกจากนี้ยังมีการตรวจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากพบความผิดปกติ แพทย์จะได้แนะนำ หรือรักษาได้ทันท่วงที
การดูแลตัวเองตอนอายุครรภ์ 22 สัปดาห์
เมื่อมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นกับคุณแม่ แน่นอนว่าไม่ควรปล่อยไว้ คุณแม่จะต้องเรียนรู้วิธีการรับมือกับอาการบางอย่างให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับผลกระทบที่มากเกินไป ดังนี้
- หากแม่ท้องเดินทาง หรือท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็สามารถทำได้ แต่อย่าลืมเตรียมตัวให้ดี ต้องระมัดระวังตัวเองให้มาก โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน
- แม่ท้องควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ จะยืน จะเดิน ก็ให้ระวัง ควรนั่งหลังให้ตรง หรือหาเบาะ หมอน มาหนุนรองเวลานั่ง และนอน เพื่อลดอาการปวดหลัง
- ถ้าแม่สวมแหวน กำไลข้อมือ แล้วรู้สึกคับ ควรหยุดใส่ไปก่อน เพราะแม่ท้องจะมีอาการนิ้วบวม มือ และเท้าบวม ถ้ายังใส่ไปเรื่อย ๆ ตอนถอดออกก็จะลำบาก
- การเลือกรองเท้าใส่ระหว่างตั้งครรภ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกรองเท้าที่ใส่แล้วสบายเท้า นุ่ม เดินง่าย ไม่มีส้น แต่รองรับน้ำหนักตัวของแม่ท้องได้อย่างดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 ความเชื่อของคนท้อง ข้อห้ามคนท้องตามความเชื่อโบราณมีอะไรบ้าง ความจริงคืออะไร
เรื่องที่ควรทำตอนอายุครรภ์ 22 สัปดาห์
มีอะไรบ้างที่คุณแม่ครรภ์ไตรมาส 2 ควรทำ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปกติสมบูรณ์ หากคุณแม่ยังไม่รู้ เราพอจะแนะนำได้ ดังนี้
- อย่าลืมไปตรวจครรภ์ทุกครั้งตามที่หมอนัด เพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และคุณหมอจะได้คอยสังเกตอาการของแม่ท้องด้วยว่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วงหรือไม่
- ช่วงนี้ผมคุณแม่จะดกดำ และเงางาม จนใครเห็นก็อิจฉา
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก พยายามไม่เครียด เพราะความเครียดทำร้ายได้ทั้งตัวแม่เอง และลูกในท้อง
ช่วงตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ทารกในครรภ์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างนี้คุณแม่อาจมีอาการปวดเมื่อย ไม่ควรยืน หรือเดินนาน ๆ และต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบเดิม เลือกใช้รองเท้าที่ขยายได้เพื่อรองรับขนาดของเท้าที่บวมขึ้น ใหญ่ขึ้น ที่สำคัญ เก็บส้นสูงไปเสียก่อน คลอดแล้วค่อยกลับมาใส่ใหม่นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
อายุครรภ์ นับยังไง ไตรมาสคืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าท้องกี่เดือน กี่สัปดาห์