โรคฮิตหน้าหนาว 2020 ลมหนาวมาเยือนพร้อมกับโรคมากมาย มีอะไรบ้างมาดูกัน?
กรมอุตุออกมาแจ้งข่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่หน้าหนาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าอากาศจะยังดูร้อนจัดอยู่ แต่เราเชื่อว่าอีกไม่นานพื้นที่แทบในต่างจังหวัดของประเทศไทยก็คงจะเริ่มหนาวลงแล้ว เมื่อลมหนาวมาเยือน สิ่งที่จะมาพร้อมกับหน้าหนาวก็คือ โรคฮิตหน้าหนาว 2020 ที่จะมาสร้างความรังควานใจทั้งคุณแม่ และ ลูกน้อย แน่นอน วันนี้เราเลยจะรวบรวมข้อมูลของโรคต่างๆที่คุณผู้ปกครอง อาจจะพบเจอ วิธีรักษา และ วิธีป้องกัน ควรจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านี้
โรคไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่ สาธารณะ ส่วนมากจะเกิดในเด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล
ลักษณะของอาการ คือ อาการของโรคไข้หวัดธรรมดา ได้แก่ น้ำมูกใสๆไหล จาม คัดจมูก บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว อาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ อาการไข้มักจะไม่สูงมากและเป็นอยู่ไม่เกิน 3 วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน 3 – 4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมี เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน บางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึมสับสนหรือการช่วยเหลือตนเองได้ลดลง
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ หากอุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ไม่ควรให้ยาลดไข้ แต่ควรใช้วิธีเช็ดตัวโดยนำผ้าชุบน้ำอุ่นทำให้ตัวลูกเย็นลง โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ แต่ถ้ามีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย
วิธีการป้องกัน คือ ไม่ควรให้เด็กคลุกคลีกับคนที่ป่วย
โรค RSV
ไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบเหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็วเชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัส ใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
ลักษณะของอาการ คือ หากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2-4 วันแรก มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล จนถึงขึ้นเป็นโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบเลยก็มี ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมากๆ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด กินอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว ยิ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ พาไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอรักษาตามอาการ ช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
วิธีการป้องกัน คือ หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อยๆ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
โรคปอดบวม
โรคปอดบวมในเด็กเกิดจากการติดเชื้อในปอด ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ติดต่อทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่ สาธารณะ พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
ลักษณะของอาการ คือ มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก อีกทั้งเด็กยังมีอาการงอแงและซึม บางรายอาการรุนแรงจะหายใจแรงจนจมูกบานหรือหน้าอกบุ๋ม และถ้าหลอดลมภายในปอดตีบอาจจะเกิดเสียงหายใจวี้ด และรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ เลี่ยงให้ลุกสัมผัสควันบุหรี่ ควันไฟ และไอเสียรถยนต์ และยิ่งช่วงอากาศหนาวเย็นควรให้ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น นอนห่มผ้าเสมอ และควรพาไปพบคุณหมอ
วิธีการป้องกัน คือ ควรพาไปพบคุณหมอเกี่ยวกับการฉีควัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค
โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะน้ำจากตุ่มน้ำและติดต่อได้ทางอากาศ
ลักษณะของอาการ คือ ในระยะเริ่มต้นจะคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เบื่ออาหาร งอแง จากนั้นเริ่มมีผื่นแดง ก่อนเปลี่ยนเป็นตุ่ม มีน้ำใสภายในและคัน ตุ่มจะทยอยขึ้นทั่วตัวเต็มที่ภายใน 4 วัน
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ ควรตัดเล็บลูกให้สั้น และจำเป็นต้องใส่ถุงมือเพื่อกันลูกเกา จะทำให้เชื้อลุกลาม โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง พร้อมทั้งรักษาดูแลตามอาการ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ กินยาลดไข้ตามคุณหมอสั่ง และควรรีบพาไปพบหมอด่วนถ้าลูกรับเชื้อไวรัสเป็นอีสุกอีใสตอนอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทาน เสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย
วิธีการป้องกัน คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ
โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
ลักษณะของอาการ คือ อาการเริ่มต้นคล้ายหวัด มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปาก และมีอาการเจ็บ มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น และมีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น ลูกมีอาการซึมลง ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม ปวดหัวมาก พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ ปวดต้นคอ คอแข็ง อาเจียน มีอาการสะดุ้งผวา และมีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้
วิธีการป้องกัน คือ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งพ่อแม่ควรรีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ ล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก
โรคอุจจาระร่วงในเด็ก
โรคอุจจาระร่วงในเด็ก มักจะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้โดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
ลักษณะของอาการ คือ จะมีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่รับเข้าไป
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ เด็กที่มีอาการรุนแรงจะถ่ายมาก ส่งผลให้เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปเยอะ จึงควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ และให้น้ำตาลเกลือแร่ชดเชยเกลือแร่ที่เสียไป แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที
วิธีการป้องกัน คือ ล้างมือให้สะอาด และการฉีดวัคซีนป้องกัน
โรคหัด
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ติดต่อง่าย และรวดเร็วจากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
ลักษณะของอาการ คือ มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง ไข้ไม่ลดถึงแม้ว่าจะกินยาลดไข้ ซึม งอแง เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง บางรายมีการถ่ายเหลว และอาจชักจากการมีไข้ได้ จากนั้นร่างกายจะมีผื่นเริ่มขึ้น ลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด เริ่มจากบริเวณตีนผม ซอกคอ ก่อนจะลามขึ้นใบหน้า ลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคัน โดยผื่นจะขึ้นอยู่ 2-3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้นและจะจางลง โรคหัดส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เอง
วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำเยอะๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ให้กินยารักษาตามอาการ ถ้ามีอาการไอ เสมหะข้น-เขียว หายใจไม่สะดวก เพราะหลอดลมตีบ ควรพบคุณหมอ
วิธีการป้องกัน คือ การวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน
Source : dailynews, thaihealth
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :
6 เคล็ดลับลูกไม่ป่วย ง่ายๆ เคล็ดลับที่ทำให้ลูกมีอาการป่วยน้อยลง
เด็กป่วยหน้าฝน RSV ไข้หวัดใหญ่ เฮอร์แปงไจน่า โรคหน้าฝนที่ทารกเด็กเล็กต้องระวัง
ถ้าแม่ป่วย ลูกในท้องจะเป็นรึเปล่า? ทำยังไงดี ความกังวลของคนเป็นแม่