17 จังหวัดเสี่ยงโรค “มือเท้าปาก” พบว่าเชื้อ EV71 รุนแรงสูงในรอบ 10 ปี

สำหรับโรคมือเท้าปากที่ระบาดอยู่ในช่วงนี้ กลายเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังและจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เพราะพบว่าโรคชนิดมีเชื้อเอนเทอร์โรไวรัส 71 หรือ EV71 ที่เป็นสายพันธุ์รุนแรงมากในรอบ 10 ปี

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

จากข่าวของน้องโม วัย 4 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยโรคมือเท้าปากหลังจากติดเชื้อได้เพียง 3 วัน นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนใจของหัวอกคนเป็นพ่อแม่แล้ว ยังสร้างความตื่นตระหนักให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 4 ปี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยและเสียชีวิตได้

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนนี้มีการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก โดยมี 17 จังหวัดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในความเสี่ยงที่จะเกิดโรค มือ เท้า ปาก ได้  คือ

“สมุทรปราการ อ่างทอง สิงห์บุรี จันทบุรี สระบุรี ตาก ชลบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ พะเยา นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และยะลา” ทั้งนี้ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมากในภาคกลางและภาคใต้ และที่สำคัญได้พบว่า โรคมือเท้าปาก สายพันธุ์เอนเทอร์โรไวรัส 71 เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงที่มีสัดส่วนสูงกว่าทุกปีเมื่อเทียบกับในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

โรคมือเท้าปาก ที่สามารถติดต่อได้ เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไวรัสชื่อ คอกแซคกีไวรัสเอ, คอกแซคกีไวรัสบี ซึ่งมีอยู่มากกว่า 10 สายพันธุ์ และ เอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) โดยไวรัสกลุ่มนี้จะแสดงอาการออกมาคล้ายกัน

การป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคมือเท้าปากให้กับลูกน้อย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี แนะนำว่า การป้องกันโรคมือเท้าปากจากการติดเชื้อไวรัสไม่ว่าชนิดใด สามารถทำได้โดยการสอนเด็กให้รู้จักล้างมือ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัยทั่วไป ไม่พาเด็กไปที่ๆ มีคนเยอะ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีการระบาด และแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ หยุดอยู่บ้านเพื่อดูอาการจนแผลทุกแห่งหาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีสังเกตเด็กที่มีอาการของโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีไข้สูง และปกติจะหายเองร้อยละ 90 แต่หากมีอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียสและมีอาการเหม่อลอย ควรรีบพาพบแพทย์ทันที เนื่องจากเชื้ออาจกระจายจนก้านสมองอักเสบ ส่งผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นผิดปกติ เด็กมีโอกาสหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และเสียชีวิตภายใน 2-3 วันได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โรคมือเท้าปากที่โดยมากมักเกิดกับเด็กเล็ก จึงเป็นเรื่องกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งโรคชนิดนี้เกิดได้ตลอดทั้งปีและมีช่วงฤดูที่ระบาดมาก เป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จากการที่ร่างกายสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่ถูกขับออกมาทางจมูกและคอของผู้ที่ติดเชื้อโรคนี้ เช่น น้ำลาย  ของเหลวจากตุ่มพุพอง เป็นต้น ดังนั้นพ่อแม่ควรใส่ใจลูกน้อยและหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ เพื่อรับมือเมื่อมีการระบาดของโรค

ที่มา : เดลินิวส์
ภาพ : thaistemlife

บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

Napatsakorn .R