เมื่อใกล้ถึงเวลา การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการคลอดลูกเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตหรืออ่านหนังสือคู่มือการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ แต่ถ้าหากหนังสือที่เราอ่านนั้น ไม่ได้บอกเราหมดละ ยกตัวอย่างเช่น
1. การแตกของน้ำคร่ำ คุณแม่คะ ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เราดูหนังเราก็จะมักจะเข้าใจว่าการแตกของน้ำคร่ำนั้น คงเปรียบเสมือนกับเราปาลูกโป่งลงพื้น และน้ำกระจายเต็มไปหมดใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้วการแตกของน้ำคร่ำนั้น เวลาที่มันแตก มันจะค่อย ๆ แตก และไหลออกมาคล้ายกับเราปัสสาวะราดมากกว่าการหล่นตุ๊บไปที่พื้นอย่างที่เราคิดไว้
2. น้ำคร่ำแตกไม่ได้หมายถึงใกล้คลอดแต่เพียงอย่างเดียว หลาย ๆ ครั้งที่เรามักจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับถุงน้ำคร่ำรั่ว หรือถุงน้ำคร่ำแห้งกันใช่ไหมคะ ในระหว่างการตั้งครรภ์โอกาสที่น้ำคร่ำจะรั่วหรือแตกก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยที่จะก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวนั้นคือ ภาวะติดเชื้อ คุณแม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ภาวะอักเสบเรื้อรังของทางเดินปัสสาวะ หรือคุณแม่สูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์เป็นต้น ถ้าหากคุณแม่เป็นคนหนึ่งที่เคยตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แนะนำว่าควรที่จะปรึกษาแพทย์โดยเร็วจะดีกว่าปล่อยให้น้ำไหลออกหมดจนน้ำคร่ำแห้ง เพราะนั่นอันตรายกับทารกในครรภ์เป็นอย่างมากค่ะ แต่อีกนัยหนึ่ง หากคุณแม่กำลังอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การที่น้ำคร่ำแตกก็หมายถึงการส่งสัญญาณเตือนให้คุณแม่ทราบว่า ใกล้ถึงเวลาคลอดแล้วนั่นเอง
3. เมื่อถึงเวลาคลอดแล้วน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอนี่แหละ จะเป็นคนเจาะให้คุณเอง ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอแล้ว แต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอจะเป็นคนเจาะถุงน้ำคร่ำให้ เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดลูกเกิดขึ้น เพราะเวลาที่ถุงน้ำคร่ำแตก ศีรษะของทารกก็จะเลื่อนตัวต่ำลงมา และไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด แตุ่ถ้าหากหลังจากนั้นภายใน 30 นาทีแล้วปากมดลูกยังไม่เปิด คุณหมอก็จะใช้ยาเร่งคลอดควบคู่ไปด้วย
4. คนทำคลอด อาจไม่ใช่หมอเสมอไป เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังเดินทางอยู่แล้วรถติดขึ้นมา จู่ ๆ ก็จะคลอดเสียอย่างนั้น และด้วยรถติดขนาดนี้ เราจะนึกถึงใครเป็นไม่ได้ นอกจากสายด่วนต่าง ๆ ที่จะโทรไปเพื่อขอความช่วยเหลือ และคนที่จะมาช่วยเราจะเป็นใครไม่ได้เลย นอกจากหน่วยกู้ภัย ตำรวจ หรือบางที อาจจะเป็นคนขับรถ หรือสามีเรานี่เอง
5. การเบ่งคลอดอาจไม่ได้เป็นการเจ็บปวดที่สุด เพราะจริง ๆ แล้วที่ทรมานที่สุดก็คือ เวลามดลูกหดตัวช่วงใกล้คลอด ยิ่งช่วงเจ็บถี่ ๆ นะ อยากจะร้องออกมาเสียให้รู้แล้วรู้รอด เรียกได้ว่า เหมือนมีคนเอามือมาบีบมดลูดเลยอย่างไรอย่างนั้น
6. เข็มโต ๆ กับการบล็อคหลัง งอตัวให้มาก งอตัวเยอะ ๆ นะคะ ช่วงเวลาเพียงไม่นานที่คุณกำลังงอตัวอยู่นั่นแหละ คุณหมอก็จะใช้เข็มเล่มโต ๆ ฉีดยาบล็อคหลังเข้าไปในกระดูกสันหลังของคุณ ไม่นานคุณก็จะรู้สึกหนาวสั่น และชาไปครึ่งตัว แต่คุณไม่ต้องกลัวไปนะ การบล็อคหลัง ถึงเวลามันไม่เจ็บเลย ตอนแรกฉันก็กลัว ๆ ตรงเข็มนี่แหละ แต่ไป ๆ มา ๆ กับรู้สึกว่า บล็อคหลังนี่เป็นอะไรที่ไม่มีความน่ากลัวเลยจริง ๆ
7. ถึงเวลาใส่ผ้าอ้อมกันแล้ว เมื่อพยาบาลนำผ้าอ้อมผืนใหญ่มาให้คุณ แล้วคุณก็จะต้องใส่มันไว้ตลอด เพราะหลังจากที่คลอดแล้ว เลือดน้ำคาวปลาก็จะออกมาจากตัวคุณ ชนิดที่เรียกว่าคล้ายประจำเดือน แต่เยอะกว่า เพราะฉะนั้น ใส่ไว้เถอะ เพราะคุณคงไม่อยากให้มันเลอะเทอะพื้นหรอกนะ มันไม่น่าดูเลยจริง ๆ
8. การขยับตัวหลังผ่าคลอดคือสิ่งที่ทรมานที่สุด คุณลองคิดดูสิ หลังจากที่ผ่าคลอด คุณหมอจะให้นอนพักฟื้น แต่อีกวันหลังจากนั้น คุณจะต้องขยับตัวแล้วนะ พลิกไปพลิกมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดขึ้นในมดลูก การขยับตัวและเดินกายภาพช่วงนี้นี่แหละ คือช่วงที่คุณจะรู้สึกปวดแทบขาดใจเลย แต่พอเห็นหน้าลูกเท่านั้น เชื่อไหมว่า ความรู้สึกปวดในตอนนั้น มันหายเป็นปลิดทิ้งเลย
9. ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มา การที่ประจำเดือนหลังคลอดยังไม่มา ถือเป็นเรื่องปกติ จะมาช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การให้นมบุตร การใช้ยาที่มีผลกับฮอร์โมน การคุมกำเนิด คุณแม่เครียดและมีภาวะซึมเศร้า รวมถึงร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เป็นต้น ดังนั้น คุณแม่ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ
10. ความรักที่มีให้ลูก ตอนแรกที่รู้ว่าท้อง ก็รู้สึกว่ารักแล้ว แต่พอได้เห็นหน้า กลับรู้สึกรักยิ่งกว่า ทุกตำราไม่มีเล่มไหนเลย ที่จะระบุความรู้สึกของแม่ที่มีต่อลูกได้ดีเท่ากับตัวเราเอง มันเป็นความรู้สึกที่ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร ถึงจะเข้าใจได้หมด รู้แต่เพียงว่า การได้ดูแล การได้กอดได้หอมนั้น เป็นความรู้สึกที่ไม่มีวันเบื่อ ไม่มีวันลด จะมีก็แต่ความรักที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันแค่นั้นเอง
ที่มา: Pregnancy VDO
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ทำไมแม่ท้องแก่ต้องล้างเล็บก่อนคลอดลูก