สาเหตุที่ทำให้ทารกป่วยบ่อย
เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ฝุ่น สิ่งสกปรกที่ลอยอยู่ในอากาศ ติดอยู่ที่เสื้อผ้า ของเล่น หรือปนเปื้อนในอาหาร อาจไม่ส่งผลรุนแรงกับร่างกายคุณแม่ แต่สำหรับทารกแรกเกิดเป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษค่ะ เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์และมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่า อาการที่พบบ่อยก็คือ ท้องเสีย ท้องผูก ท้องร่วง อาเจียน เป็นผดผื่นแดง รวมถึงโรคทางเดินหายใจ หอบหืด ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงตอนโตได้ ถ้าไม่อยากวิ่งวุ่นอุ้มลูกเข้าโรงพยาบาลทุกอาทิตย์ คุณแม่ต้องสร้างเกราะคุ้มกันสุขภาพขึ้นมาให้เร็วที่สุดด้วยสารอาหารช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในน้ำนมแม่นั่นเอง
สารอาหารสร้างภูมิคุ้มกันมีอะไรบ้าง
โพรไบโอติก (Probiotic)
น้ำนมที่เจ้าตัวเล็กกินเข้าไป จะผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และสำไส้ใหญ่ ตามลำดับ บริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเป็นส่วนที่น้ำนมถูกย่อยและดูดซึมสารอาหารสำคัญเอาไว้ ส่วนลำไส้ใหญ่เปรียบเสมือนแผนกทำลายกากอาหารที่ไม่สามารถดูดซึมได้อีก ดังนั้น ในลำไส้ใหญ่จึงเต็มไปด้วยจุลินทรีย์มากมาย ทั้งจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดี สำหรับจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เราเรียกว่า โพรไบโอติก ซึ่งได้แก่ ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) จุลินทรีย์สุขภาพเหล่านี้จะกำจัดจุลินทรีย์ตัวร้าย เช่น ซัลโมเนลลา (Salmonella) อีโคไล (E.Coil) ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยมันจะถูกขับออกไปพร้อมกับอุนจิของลูกนั่นเองค่ะ
พรีไบโอติก (Prebiotic)
พรีไบโอติกชนิด Oligosaccharides ที่เป็นส่วนประกอบของน้ำนมที่มีปริมาณสูงเป็นอันดับ3 รองจากน้ำตาลแลคโตส และไขมัน พรีไบโอติกหรือใยอาหารที่ไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหาร เพราะทนต่อน้ำย่อย กรด ด่าง ในกระเพาะและลำไส้ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดดี เช่น ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติ รวมทั้งช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่าย หมดปัญหาอาการท้องผูก ใยอาหารมีจำนวนเยอะเท่าไร ระบบขับถ่ายของลูกน้อยก็ดีขึ้นเท่านั้น ลูกน้อยจะห่างไกลจากอาการท้องผูก ท้องอืด บรรเทาความรุนแรงจากการท้องเสีย หรือติดเชื้อในทางเดินอาหาร อีกทั้งร่างกายยังถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ พรีไบโอติกมีหลายชนิด เช่น โอลิโกฟรุคโตส (Oligo Fructose) พบมากบริเวณส่วนปลายลำไส้ใหญ่ และ อินนูลิน (inulin) ที่อาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น
เคซีนโปรตีน (Casein Protein)
ทารกที่กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง จะมีพัฒนาการด้านการขับถ่ายที่ดี อุจจาระนิ่ม ถ่ายสบายท้อง นั่นเพราะได้รับโปรตีนชนิดเคซีน ยกตัวอย่างเช่น เบต้าเคซีน(ß casein), เคซีนฟอสโฟเปปไทด์ (casein Phosphopeptides) ที่ย่อยง่าย ทำหน้าที่ดักจับแคลเซียมและช่วยในการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้ รวมถึงธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุเหล่านี้ให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ทารกที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท้องผูก ท้องอืด มารบกวนช่วงเวลาการเล่นหรือการนอน มักมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี ร่าเริงแจ่มใจตลอดวัน
เห็นความสำคัญของสารอาหารสร้างภูมิคุ้มกันแล้วก็อย่าปล่อยผ่านไปนะคะ ช่วงเวลาการเริ่มต้นชีวิตน้อยๆ อาจจะยุ่งยากและสร้างความวิตกให้กับคุณแม่อยู่บ้าง แต่ถ้าหากใส่ใจเรื่องโภชนาการ ให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่เกิดแล้วล่ะก็ จะช่วยคลายความกังวลในเรื่องสุขภาพและพัฒนาการของลูกไปได้มากทีเดียวค่ะ