ไขข้อข้องใจ “นมแม่” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับคุณแม่มือใหม่ คงจะมีความรู้สึกตื่นเต้นปนกับความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตทันทีที่มีโอกาสให้ลูกน้อยได้ดื่มนมจากอก จากที่ไม่เคยมีน้ำนมไหลมาก่อน แต่พอมีลูกน้อยร่างกายกับผลิตน้ำนมขึ้นได้เอง และมันก็เป็นความดีใจไม่ใช่น้อยสำหรับสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นแม่ของคุณได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า “นมแม่” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ความมหัศจรรย์ของน้ำนมเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติสร้างให้คุณแม่ทุกคนมีน้ำนมให้ทารกตั้งแต่แรกเกิด และไม่เพียงแต่คุณค่าน้ำนมของคุณแม่ที่มีประโยชน์ น้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิดก็จะมีสัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นๆ  ด้วยเช่นกัน

ไขข้อข้องใจ “น้ำนมแม่” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับ นมแม่ นั้นร่างกายจะเริ่มผลิตน้ำนมตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ได้แก่ ฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นก็จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรก คอยยับยั้งไม่ให้เกิดการหลั่งหรือมีน้ำนมไหลออกมา แต่เมื่อเกิดการคลอดแล้ว ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลงทำให้กลไกการยั้บยั้งน้ำนมหายไป ฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรแลคตินที่คอยกระตุ้นเด่นชัดขึ้น เมื่อทารกได้ดูดนมก็จะยิ่งเกิดการกระตุ้นฮอร์โมนตัวนี้ให้สูงขึ้นอีก การสร้างน้ำนมก็จะมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการดูดนมยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซีโตซินที่ช่วยในการหลั่งหรือทำให้เกิดการไหลของน้ำนม ทำให้ลูกได้รับน้ำนมและดูดง่ายขึ้น ยิ่งช่วยกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จึงควรให้ลูกน้อยได้ดูดนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นนมแม่ให้มีไหลเพิ่มมากขึ้น

โดยปกติหลังคลอด น้ำนมแม่จะเริ่มมีภายใน  24-48 ชั่วโมง โดยในระยะแรกเมื่อลูกเริ่มดูดน้ำนมจะเป็น น้ำนมเหลือง (colostrum) ซึ่งจะเป็นน้ำนมที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมาก เพราะให้ภูมิคุ้มกันสูง และประมาณ 10 วันหลังคลอดจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมแม่ปกติ ซึ่งในน้ำนมแม่ก็ยังมีสารอาหารจำเป็นที่ครบถ้วนสำหรับลูกน้อยเช่นกัน โดยจะมีไขมันที่ให้พลังงานในสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาคือ น้ำตาลแลคโตส ที่สามารถย่อยและดูดซึมได้ดี ซึ่งทารกสามารถนำสารอาหารนี้ไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณแม่ที่มาสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ด้วย

คุณแม่หลายคนอาจจะประสบปัญหาที่ว่าน้ำนมไม่ได้ไหลออกมาง่ายอย่างที่คิด ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการมาช้าของน้ำนม อาจเกิดจาก

  • คุณแม่ท้องแรกอาจจะมีน้ำนมช้ากว่าท้องหลัง
  • คุณแม่ที่มีระยะเบ่งคลอดที่ยาวนาน หรือมีภาวะเครียดระหว่างการคลอดจะสัมพันธ์กับการที่มีน้ำนมมาช้าด้วย
  • คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดจะมีน้ำนมมาช้ากว่าคุณแม่ที่คลอดปกติ
  • หัวนมแบนหรือหัวนมบอด
  • คุณแม่ที่อ้วนหรือมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน
  • การที่มีเศษของรกค้างอยู่ในมดลูก
  • การกระตุ้นให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมห่างเกินไป ก็จะส่งผลให้น้ำนมมาช้าได้

แต่ปัจจัยที่ส่งผลทำให้น้ำนมมาช้าก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน เพียงแต่คุณแม่อาจต้องหาวิธีการกระตุ้นน้ำนม หรือเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการให้ลูกช่วยกระตุ้นจากการดูดนมหรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมง ก็จะทำให้น้ำนมแม่มาเร็วขึ้นและเพียงพอได้ ดังนั้นเมื่อรู้ถึงการเกิดขึ้นของน้ำนมแม่และประโยชน์จากน้ำนมแม่ที่มีต่อลูกน้อยแล้ว ขอให้คุณแม่ที่น้ำนมมาช้าหรือน้ำนมน้อยอย่าละความพยายามให้การให้ดูดได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปนะคะ.

ขอบคุณที่มา : www.guruobgyn.com

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีเรียกน้ำนมแม่กลับคืนหลังหยุดให้นมลูก
จริงหรือกับ 9 ความเชื่อเกี่ยวกับการให้นมแม่

บทความโดย

Napatsakorn .R