ไอพีดี…ภัยในเด็ก ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease)

คุณพ่อคุณแม่น่าจะพอทราบเรื่องของคุณโอปอลล์ ปณิสราที่เธอมีความเสี่ยงต่อการคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้เพียง 23 สัปดาห์ ที่โอกาสรอดของลูกแทบไม่มี ทำให้เธอต้องนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงพร้อมกับใช้ยาช่วย ทั้งที่เธอรู้ว่าผลกระทบจากยาจะส่งผลอันตรายกับตัวเธอโดยตรง แต่สัญชาตญาณความเป็นแม่ เธอจึงเลือกที่จะปกป้องชีวิตของลูกมากกว่าความปลอดภัยของตัวเธอ

และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณโอปอลล์ ทำให้เธอเชื่ออย่างหนึ่งว่าการป้องกันสำคัญกว่าการแก้ไข และเธอในฐานะแม่คนหนึ่งที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกรักทั้งสองคนของเธอให้ดีที่สุด รวมถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี (IPD) ด้วย

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักกับโรคไอพีดี (IPD) ที่เป็นเหมือนภัยต่อเด็กๆ ให้ได้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันมากขึ้น  ยิ่งโดยเฉพาะกับลูกเล็กๆ  เราจึงมีข้อมูลในเรื่องโรคไอพีดี จาก รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ได้ทราบกันค่ะ

 

 

ไอพีดี(IPD, invasive pneumococcal disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงและแพร่กระจาย  ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรค นั่นคือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงปอดบวม เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบ1 ซึ่งโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสพบได้บ่อยและมีโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรงในผู้ป่วยเด็กเล็ก (โดยอุบัติการณ์ของการเกิดโรคไอพีดี (IPD) ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเป็น 11.7 ต่อแสนประชากร2) ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองขึ้นได้1

 

…จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีอาการป่วยด้วยโรคไอพีดี(IPD)

อาการของผู้ป่วยไอพีดีแตกต่างกันตามประเภทของอวัยวะที่ติดเชื้อและอายุของผู้ป่วย

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง และอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้

โรคปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ไอ และเหนื่อยหอบ อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่

 

…การป้องกันลูกให้ห่างไกลจากโรคไอพีดี

การป้องกันไอพีดีในเด็กทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม และล้างมือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือมีอาการหวัด อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมโดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้1

 

รู้อย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรพาลูกเล็กๆ ไปในที่คนเยอะๆ แออัด และหากอยากเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดี (IPD) ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม  เพราะพ่อแม่ทุกคนคงไม่มีใครอยากเห็นลูกป่วยไข้แล้วจึงค่อยมารักษา วิธีใดก็ตามที่จะปกป้องลูกรักได้แทนการแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็พร้อมจะทำ เช่นเดียวกันกับ คุณโอปอลล์ ปาณิสรา คุณแม่ผู้เคยผ่านประสบการณ์การปกป้องลูกรักครั้งสำคัญมาแล้วในชีวิต ที่ต่อจากนี้เธอจะไม่ยอมให้โรคภัยต่างๆ มาทำอะไรลูกๆ ของเธอได้ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ชิษณุ พันธุ์เจริญ, ธันยวีร์ ภูธนกิจ, จรุงจิตร์ งามไพบูลย์. ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ความสำคัญของโรค การรักษา และการป้องกัน. กรุงเทพฯ: ธนาเพลส,
  2. Rhodes J, Dejsirilert S, Maloney SA, Jorakate P, Kaewpan A, Salika P, et al. Pneumococcal Bacteremia Requiring Hospitalization in Rural Thailand: An update on incidence, Clinical Characteristics, Serotype Distribution, and Atimicrobial Susceptibility, 2005-2010. PLoS One. 2013;8:e66038.

 

ขอบคุณข้อมูลจากรศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถติดตามข้อมูลดีๆ จากคลินิกจุฬาคิดส์คลับ ได้ที่

https://www.facebook.com/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A-1455632701380547/

 

 

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team