ไม่อยากให้คนอื่นอุ้มลูก ไม่ใช่ อาการหวงลูก ที่แม่ต้องห่วง ไม่อยากให้คนอื่นอุ้มลูก เพราะมันไม่คุ้มเลย เมื่อลูกต้องป่วย เช่นเดียวกับกรณีของคุณแม่จอย ที่ได้มาแชร์ภาพทารกน้อย น้องเจโอ ซึ่งมีอาการ ลมพิษ ไข้ขึ้นสูงจากการติดเชื้อ โดยแม่จอยได้โพสต์ว่า
เดี๋ยวคนจะหาว่าหวงลูก
“คงไม่เป็นไรหรอก” “เดี๋ยวคนจะหาว่าหวงลูก” “อ่ะ นิดนึง ๆ”
ความคิดพวกนี้ คือ ภัยใกล้ตัว ที่เราคาดไม่ถึงค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน วันนี้แม่จอยขออนุญาตพูดถึงเรื่องภัยใกล้ตัว ที่หลายคนอาจมองข้ามไป ส่วนตัวจอยเอง จะคำนึงเรื่องความสะอาดมาก เวลาไปข้างนอก หรือไปงาน พอกลับบ้าน จอยจะไม่อุ้มลูกเลย จนกว่าจะอาบน้ำ
ลูกมีผื่นขึ้นตามตัว มีไข้
แต่ด้วยความน่ารักของเจ้าตัวน้อย ทำให้ใคร ๆ ก็จะอยากกอด อยากจะหอม อยากจะอุ้ม โดยที่เราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจอยเองก็เป็นคนสบาย ๆ เวลาคนมาบ้าน ใครอยากอุ้มก็ให้อุ้ม เพราะมั่นใจว่า เจ้าอ้วนของจอยแข็งแรงแน่นอน แต่ความคิดของจอย ทำให้ลูกต้องติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้ใหญ่ เนื่องจากผู้ใหญ่ก็ต้องใช้ชีวิตข้างนอก พอมาถึงก็อาจจะไม่ทันได้ล้างมือ เชื้อที่มาจากข้างนอกที่เรามองไม่เห็น และไม่รู้ อาจจะเข้าผิว ทำให้ลูกน้อยติดเชื้อ ซึ่งจะมีอาการแพ้ หรือลมพิษ มีไข้ขึ้นสูงถึง 38 (ซึ่งถือว่ามีไข้สำหรับทารกอายุ 1 เดือนครึ่ง)
อาการและการรักษา
เรามาพูดถึงอาการ และการรักษากันสักนิดนึง เจโอเริ่มมีอาการลมพิษแบบเฉียบพลัน และลามไปทั่วตัวแบบรวดเร็ว ซึ่งจริง ๆ สาเหตุของผื่นลมพิษแบบนี้ อาจจะเกิดได้หลายสาเหตุค่ะ
คุณหมอเลยให้เจโอแอดมิท เจาะสายน้ำเกลือ ฉีดยาฆ่าเชื้อ และทำการเจาะเลือดตรวจหาอาการแพ้ เจโอแอดมิท 2 คืนค่ะ ฉีดยาฆ่าเชื้อ และกินยาร่วมด้วย ผื่นก็ค่อย ๆ หาย จนไม่เห็น คุณหมอก็อนุญาตให้กลับบ้านได้
หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ก็นัดมารับผลตรวจว่าแพ้อะไร ซึ่งวันนี้ก็ครบแล้ว จอยเลยมารับผล ซึ่งผลบอกว่า ข้อ 1 – 14 เป็นการแพ้อากาศ Class คือ 0 เท่ากับว่าไม่มีอาการแพ้อากาศ ตั้งแต่ข้อ 15 คือผลการแพ้อาหาร Class ก็ยังคง 0 คือไม่มีอาการแพ้อาหารค่ะ คุณหมอเลยมั่นใจว่าเป็นการแพ้ที่เกิดจากการติดเชื้อจากการสัมผัสของผู้ใหญ่
อาการแพ้จากการติดเชื้อจากการสัมผัส
จากการทดสอบหาอาการแพ้ในข้างต้น ทำให้คุณหมอสรุปได้ว่า เป็นการแพ้ที่เกิดจากการติดเชื้อจากการสัมผัสของผู้ใหญ่ จอยเลยไม่อยากให้แม่ ๆ ทุกคนมองข้ามในเรื่องนี้ค่ะ และอยากให้ญาติ ๆ เพื่อน ๆ หรือทุกคนที่จะมาเยี่ยมได้เข้าใจ หัวอกคนเป็นแม่ ไม่อยากให้ใช้คำว่าหวง เพราะจริง ๆ คือความเป็นห่วงมากกว่าค่ะ อย่าให้น้องต้องเป็นก่อนถึงจะระวัง
สำหรับญาติ ๆ ที่มาเยี่ยมสามารถอุ้มได้ค่ะ แต่อาจจะต้องระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษเนอะ เช่น การล้างมือก่อนจะจับ หรือมีผ้าอ้อมห่อ ก่อนจะอุ้ม ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 ด้วย ยิ่งจำเป็นจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงแค่การสัมผัสที่เป็นอันตราย เพียงแค่การใกล้ชิด ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ลูกเป็นผื่นลมพิษ
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน อธิบายถึงผื่นลมพิษว่า ผื่นลมพิษ คือผื่นที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ โดยการหลั่งสารเคมีที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และมีของเหลวรั่วซึมออกมานอกหลอดเลือด และเกิดการบวมน้ำของชั้นผิวหนัง ทำให้เห็นผิวหนังเป็นวง นูนแดง และมีอาการคัน ผื่นมักอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงแล้วหายไปโดยไม่มีร่องรอยเหลืออยู่
สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ เชื้อ RSV ซึ่งมักเกิดจากการสัมผัสของผู้ใหญ่ ที่หมั่นเขี้ยว อยากเล่นกับทารก ทั้งหอมแก้ม ทั้งฟัด ทั้งจูบ ทั้งกอด โดยที่ไม่ทันได้ล้างมือ หรือมีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลมพิษ เกิดจาก อะไร ลูกเป็นผื่นลมพิษบ่อยควรทำอย่างไร?
เชื้อ RSV เชื้อร้ายที่เบบี๋ต้องระวัง
เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV)
เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี พ่อแม่ต้องจับตา หากลูกมีน้ำมูกใส ๆ ไอ ไข้ต่ำ หลังจากนั้น 2 – 3 วันมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด บางครั้งก็ไข้ขึ้นสูง ต้องระวัง เพราะนี่คือสัญญาณเตือน อาการของโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันจากเชื้ออาร์เอสวี
หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลมฝอย
- พบในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- สาเหตุโรคหลอดลมฝอยอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ
ซึ่งติดต่อโดยการไอจามรดกัน พบว่าเชื้อไวรัสชื่อ respiratory syncytial virus (RSV-อาร์เอสวี) เป็นสาเหตุมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยเด็ก - บางครั้งไข้ขึ้นสูง 40-41 องศาเซลเซียสได้
- ต่อมาหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 วันภายหลังจากได้รับการรักษา มีผู้ป่วยเด็กบางรายที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
วิธีรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวี
คุณหมอรักษาโรคนี้โดยเน้นที่การรักษาประคับประคอง และการรักษาตามอาการ ได้แก่
- การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย
- ให้น้ำอย่างเพียงพอ
- หากทานไม่ได้จะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด
- ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัว
- ให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นฝอยละออง
- ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีหลักฐานว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
***ถ้าอาการแย่ลง หรือมีอาการของภาวะหายใจล้มเหลวคุณหมออาจพิจารณาใส่เครื่องช่วยหายใจให้ค่ะ***
วิธีป้องกันเชื้ออาร์เอสวี
สำหรับวิธีป้องกันโรคหลอดลมฝอยอักเสบจากเชื้ออาร์เอสวี ต้องป้องกันการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น
- การล้างมือ
- สวมหน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงไอจามรดกัน
หากผู้ใหญ่ที่ต้องการอุ้มทารก ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และถ้ามีอาการเจ็บป่วย หรือรู้สึกไม่สบาย ไม่ควรเข้าใกล้เด็กเล็กหรือทารกนะคะ อย่าลืมว่า เจ้าตัวน้อยนั้นร่างกายยังไม่แข็งแรง ไม่มีภูมิคุ้มกันร่างกายแบบเดียวกันกับผู้ใหญ่ หากได้รับเชื้อเพียงน้อยนิด อาการป่วยของทารกก็สามารถรุนแรงได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พ่อสูบบุหรี่ ผลต่อลูก รุนแรงกว่าที่คิด ทารกอยู่ใกล้บุหรี่ อันตราย!
ผู้ใหญ่เป็นพาหะเชื้อไวรัส RSV สู่ทารก เอ็นดูอยู่ห่าง ๆ ปลอดภัยกับเด็กมากกว่า
วิธีดูแลสุขภาพผิวลูกรักในช่วงอากาศเย็น ไม่ให้มีปัญหาผดผื่นมากวนใจ
ที่มา : เพจ In J House