ชวนคุณแม่เขียน ไดอารี่ตอนท้อง เก็บไว้ให้เจ้าตัวเล็กในท้องอ่านกัน (มีทิปส์สำหรับซิงเกิลมัมด้วย)
ชวนคุณแม่เขียน ไดอารี่ตอนท้อง เก็บไว้ให้เจ้าตัวเล็กในท้องอ่านกัน (มีทิปส์สำหรับซิงเกิลมัมด้วย) แม้คุณแม่จะไม่ใช่คนที่ชอบเขียนไดอารี่ แต่ถ้าได้ลองสักครั้ง รับรองจะติดใจค่ะ ว่าแต่การเขียน ไดอารี่ตอนท้อง เขียนยังไง แล้วต้องมีอะไรบ้างนะ
ไดอารี่ “อาจ” ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป
เพราะเราก็ยังเป็นมนุษย์ และชีวิตไม่ได้สวยงามตลอด ไดอารี่ก็เปรียบกับรายงานข่าว ที่เพิ่มเติมคือความรู้สึกนึกคิด มุมมอง และอารมณ์ร่วม อย่าเพิ่งคิดกังวลว่า ถ้าลูกมาอ่านเข้าจะเป็นยังไง เพราะกว่าลูกจะโตพอที่จะอ่านไดอารี่ของคุณแม่ได้ ลูกก็น่าจะเข้าใจโลกในระดับหนึ่งแล้ว ว่าคนเราต่างก็มีเรื่องที่ทุกข์และสุขแตกต่างกันไป มีเรื่องที่ทั้งเสียใจ ดีใจ มากมายไปหมด ดังนั้น เขียนในสิ่งที่อยากเขียน ในสิ่งที่รู้สึก ในสิ่งที่อยากระบาย ได้ทั้งหมดค่ะ
เริ่มด้วย ปฏิกิริยาของพ่อแม่
หากคุณแม่ต้องสงสัยว่าตัวเองจะท้อง ช่วงที่รอผลตรวจครรภ์ ให้ตั้งกล้องวิดีโอถ่ายเลย ว่าปฏิกิริยาของคุณแม่ตอนที่รู้ว่าตัวเองท้องนั้นเป็นยังไง เชื่อเถอะว่าลูกจะต้องอยากรู้ จากนั้นถ่ายปฏิกิริยาของคุณพ่อตอนที่รู้ว่าคุณแม่ท้องนั้นเป็นอย่างไร ตัดต่อแล้วเก็บไว้นะคะ นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของไดอารี่แหละ
พัฒนาการรายสัปดาห์
ทั้งพัฒนาการของลูกที่อยู่ในท้อง และพัฒนาการด้านร่างกายของคุณแม่ เจ้าตัวเล็กโตแค่ไหนแล้ว ท้องคุณแม่ใหญ่แค่ไหนแล้ว รวมไปถึงอาการต่างๆ ที่คุณแม่พบเจอ เช่น อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ เวียนหัว ไม่อยากอาหาร และสิ่งที่คุณแม่คิด ทั้งดีและไม่ดี ก็สามารถเขียนหรือพิมลงไปได้เช่นกันค่ะ
ในพัฒนาการรายสัปดาห์ที่อยู่ในไดอารี่ตอนท้องนี้ คุณแม่สามารถแนบรูปถ่ายอัลตราซาวด์ของลูกลงไปได้ด้วยนะคะ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กเห็นว่า เขาตอนที่อยู่ในท้องของคุณแม่หน้าตาเป็นยังไงบ้าง
นอกจากนี้อาหารที่คุณแม่ชอบในช่วงนี้ก็สามารถเขียนลงไปได้นะคะ สิ่งที่ชอบทำ อากาศในช่วงนี้ ไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง ชอบและไม่ชอบอะไรในช่วงนี้ ฯลฯ
วีรกรรมแสบในพุง
ทั้งการดิ้นที่แสนจะหนักหน่วง ทั้งการสะอึกในพุงคุณแม่ หรือการตื่นนอนของลูกกลางดึกที่ทำให้คุณแม่ไม่ได้นอน หรือการดิ้นที่ทำให้พุงของคุณแม่เคลื่อนไปหมด รวมทั้งการดิ้นแต่ละทีนั้นทำให้คุณแม่รู้สึกอะไรบ้าง
คุณพ่อที่แสนดี
การกระทำของคุณพ่อที่ทำให้ช่วงที่คุณแม่ท้อง ก็สามารถถ่ายทอดให้ลูกได้รับรู้ได้เช่นกันค่ะ ทั้งการสรรหาของที่คุณแม่อยากกิน ทั้งการช่วยบีบนวดตอนที่คุณแม่นวดก็ได้ ส่วนพฤติกรรมแย่ๆ ทั้งหลาย คุณแม่ก็ลองชั่งใจดูว่าจะเขียนดีหรือไม่ ข้อดีก็มีข้อเสียก็มีค่ะ ถ้าลูกเป็นลูกชายก็อาจจะได้ตัวอย่างไปว่า เวลาโตขึ้นมีเมียมีลูก ต้องทำตัวยังไง เพราะถ้าทำตัวไม่ดี เมียตัวเองก็จะรู้สึกเหมือนที่แม่รู้สึก
อวดของให้ลูกดู
สิ่งที่คุณแม่ซื้อเตรียมให้ลูกมีอะไรบ้าง ชุดเสื้อผ้าน่ารักๆ ของเล่นของใช้ที่ขนซื้อมาจนบ้านแทบไม่มีที่เก็บ อย่างน้อยๆ ลูกจะชอบดูเรื่องพวกนี้ค่ะ เพราะว่าเขาก็จำไม่ได้หรอกว่า ตอนเล็กๆ เขาใช้อะไร มีอะไร รูปร่างหน้าตายังไงบ้าง
วินาทีตอนคลอดที่แสนจะตื่นเต้น
ตั้งแต่คุณแม่เริ่มปวดท้องคลอด ไปจนถึงตอนคลอด เล่าให้หมดเปลือกได้จะยิ่งดีค่ะ เด็กๆ เขาชอบฟัง
สำหรับซิลเกิลมัม
ในแง่ของกำลังใจอาจจะไม่ได้มีมากเท่ากับสาวๆ ที่มีสามี ดังนั้นการเขียนไดอารี่ตอนท้องนี่จะเป็นการบำบัดสุขภาพจิตตัวเอง และเป็นการระบายไปในตัวด้วยนะคะ คำแนะนำคือการเขียนไดอารี่เมื่อพูดถึงพ่อของลูก อาจจะระบายไปตามเนื้อผ้าได้ แต่ก็ไม่ควรยุยงส่งเสริมให้ลูกในท้องเกลียดพ่อตัวเองค่ะ เด็กๆ เขาจะพิจารณาเองได้ว่า สิ่งที่พ่อทำกับแม่คืออะไร ดีไม่ดีอย่างไร
เขียนไดอารี่ในรูปแบบไหนก็ดีทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นสมุดเหมือนเดิม ไดอารี่ออนไลน์ หรือไดอารี่ที่เน้นรูปกับวิดีโอ ก็ตามแต่จริตของแม่ๆ แต่ละคนเลย ได้หมดถ้าสดชื่นค่ะ และไม่จำเป็นจะต้องเขียนไดอารี่ทุกวัน เอาที่คุณแม่สะดวกและสบายใจ คนเราอาจจะไม่มีเรื่องที่อยากเล่าไปเสียทุกวัน ดังนั้นคุณแม่ก็เขียนในวันที่อยากเขียน แต่อย่างน้อยที่สุดคือเดือนละครั้ง เพื่อให้เห็นพัฒนาการรายเดือนด้วยนั่นเองค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
12 สัญญาณตั้งครรภ์ ก่อนคุณจะรู้ว่าประจำเดือนขาดด้วยซ้ำ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-9 เดือน แต่ละวันหนูทำอะไรบ้าง