เนื่องจากปัจจุบันโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นและเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นกับทารกและเด็กเล็ก จึงมักมีคำถามจากพ่อแม่ บ่อย ๆ ว่าโรคภูมิแพ้คืออะไร และทำไมลูกถึงเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้น
ไขข้อสงสัย ทำไมลูกถึงเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้น
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยจำนวนมาก ที่พบว่าโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นด้วยสารใดสารหนึ่งแล้วทำให้ปฏิกิริยาการแพ้ (Hypersensitivity) เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะสารประกอบประเภทโปรตีนที่อยู่ในรูปแบบของโครงสร้างที่ซับซ้อนขนาดใหญ่1 ซึ่งถ้าหากสารประกอบประเภทโปรตีนนั้นไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน แล้วตามมาด้วยอาการต่าง ๆ ของโรคภูมิแพ้ สารประกอบนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น “สารก่อภูมิแพ้” (allergen)2 ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ จากการหายใจ จากการสัมผัสโดยตรงบริเวณผิวหนัง หรือจากการรับประทานเข้าไป
โดยระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองในลักษณะของโรคภูมิแพ้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทารกทุกคน แต่สำหรับทารกที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ทารกที่พ่อ แม่ หรือพี่น้องสายเลือดเดียวกันมีประวัติโรคภูมิแพ้จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาการตอบสนองในลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งจุดเริ่มต้นของการแพ้มักเกิดตั้งแต่ในวัยหนึ่งขวบปีแรกโดยเริ่มต้นจากการแพ้โปรตีนนมวัวหรือโปรตีนจากอาหาร และผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ แล้วค่อยตามด้วยการเกิดหอบหืด และภูมิแพ้เยื่อบุจมูกในเวลาต่อมา ซึ่งการเกิดโรคภูมิแพ้ในลักษณะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Atopic march หรือ Allergic march ซึ่งทำให้ทารกคนนั้นเกิดโรคภูมิแพ้ที่เปลี่ยนลักษณะไปได้จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากคุณสงสัยว่าลูกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ สามารถเช็คความเสี่ยงเบื้องต้นได้ที่ https://goo.gl/HC9gOW
ความสำคัญของโปรตีนกับความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ของทารก
สำหรับสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากการรับประทานเข้าไปนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากทางเดินอาหารของมนุษย์เป็นอวัยวะที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและเป็นด่านแรกที่ร่างกายจะได้สัมผัสกับโปรตีนชนิดใหม่ที่เข้ามาในรูปแบบของอาหารเกือบตลอดเวลา ดังนั้นร่างกายของเราจึงได้ทำความรู้จักโปรตีนแปลกปลอมตั้งแต่เมื่อนมมื้อแรกเข้าสู่ลำไส้ของทารก
โดยปกติแล้วร่างกายจะมีกลไกการป้องกันไม่ให้โปรตีนแปลกปลอมนั้นเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย3 แต่ถ้าโปรตีนนั้นยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็จะถูกกระตุ้นให้จดจำสิ่งแปลกปลอมนี้ไว้ก่อนหรือที่เรียกว่า sensitization ถ้าภายหลังเมื่อร่างกายได้มีการสัมผัสกับโปรตีนแปลกปลอมนี้อีกครั้ง ก็จะเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดอาการของการแพ้ตามมา เช่น การเกิดผื่นลมพิษ หน้าบวม หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ในกรณีที่แพ้รุนแรง (anaphylaxis) หรือในกรณีที่อาการแพ้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเฉียบพลัน สำหรับทารกก็อาจแสดงอาการเป็นลักษณะของผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ถ่ายเหลวเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด มีอาการของโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง หรือเลี้ยงไม่โต เป็นต้น
โปรตีน จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบประเภทโปรตีน ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกสัมผัสโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้นั้นเป็นไปได้ยาก แต่การทำให้ร่างกายเกิดภาวะทนต่อสารก่อภูมิแพ้ (Tolerance) นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีแนวทางในการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมอย่างเหมาะสม เมื่อนั้นอาการของโรคภูมิแพ้ก็จะไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นนมแม่จึงดีที่สุดสำหรับทารก เนื่องจากโปรตีนในน้ำนมแม่เป็นโปรตีนที่สร้างโดยร่างกายของมนุษย์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่ทารกจะแพ้โปรตีนในน้ำนมแม่ แต่ในกรณีที่มารดามีน้ำนมไม่เพียงพอ การเลือกนมผงดัดแปลงสำหรับทารกชนิดที่โปรตีนผ่านการย่อยบางส่วน มีงานวิจัยพบว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภูมิแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้นมผงดัดแปลงสูตรทั่วไป4
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงกุลนิภา กิตติศักดิ์มนตรี กุมารแพทย์โภชนาการ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม คลิก https://goo.gl/E64EdE
เอกสารอ้างอิง
- Aalberse RC. Molecular mechanism in allergy and clinical immunology. J Allergy Clin Immunol.2000; 106: 228-38.
- Muraro A, Werfel T, Hoffmann-Sommergruber K, Roberts G, Beyer K, Bindslev-Jensen C, et al. EAACI food allergy and anaphylaxis guidelines: diagnosis and management of food allergy. Allergy. 2014; 69: 1008-25.
- Sicherer SH, Sampsom HA. Food allergy. J Allergy Clin Immunol. 2010; 124: S116-25.
- Bantz SK, Zhu Z, Zheng T. The Atopic March: Progression from Atopic Dermatitis to Allergic Rhinitis and Asthma. J Clin Cell Immunol. 2014; 5(2)pii: 202