ให้นมแม่หลังผ่าคลอด
ไม่มีคุณแม่คนไหนหรอก ที่ไม่อยากให้นมลูก เพราะนมแม่คือสิ่งที่มีประโยชน์และดีที่สุดกับพวกเขา แต่ก็อาจจะเกิดคำถามหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นข้อสงสัยสำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย ที่เกิดความกังวลใจว่า ถ้าหากคุณแม่ต้องผ่าคลอดขึ้นมา จะสามารถให้นมลูกได้เลยหรือไม่ และจะต้องทำอย่างไร จะเจ็บแผลหรือเปล่านั้น วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการ ให้นมแม่หลังผ่าคลอด ที่เป็นประโยชน์มาฝากค่ะ
หลังผ่าคลอดลูกนั้น ควรทำอย่างไร?
หลังจากที่เราผ่าคลอดแล้ว คุณหมอก็จะให้คุณแม่ได้นอนพักฟื้นเสียก่อน ซึ่งในระหว่างนั้น คุณหมอก็จะนำเจ้าตัวน้อยของเราไปอยู่ในห้องดูแลทารกแรกเกิด และเมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ฟื้น พยาบาลก็จะนำลูกมาให้คุณแม่ได้ดูแลเอง และการดูแลในที่นี้นี่แหละค่ะ พยาบาลจะมีข้อแนะนำต่าง ๆ รวมถึงวิธีการให้นมลูกกับคุณแม่ด้วย เพราะทั้งคุณหมอและพยาบาลต่างก็รู้ดีว่า นมแม่ นั้นมีประโยชน์สำหรับเด็กทารกแรกเกิดมากขนาดไหน ก็จะรีบนำตัวทารกมาให้กับคุณแม่อย่างเร็วที่สุดค่ะ
อย่าลืมว่า เมื่อลูกน้อยมาถึง ต้องกอดและสัมผัสเขาให้มาก ๆ นะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยแล้ว เชื่อไหมคะว่า นมแม่ ยังเปรียบเสมือนกับยาวิเศษ ที่จะช่วยให้คุณแม่หายจากอาการเจ็บปวดจากบาดแผลผ่าคลอดได้อีกด้วยนะคะ
เคล็ดลับการให้นมลูกหลังผ่าคลอด จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
- รีบวางลูกไว้บนอกให้เร็วที่สุด การโอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อช่วยเชื่อมสัมพันธ์แม่ลูกได้อย่างดีเยี่ยม ช่วยกระตุ้นความผูกพันและยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่เตรียมน้ำนมให้ลูกด้วย หลังจากการผ่าคลอดบุตร คุณหมอมักจะนำลูกมาวางไว้แนบหน้าอกของคุณก่อนที่จะนำลูกไปห้องปรับอุณหภูมิ เมื่อลูกอยู่ในห้องเนอสเซอรี่ หากคุณพ่อสามารถเข้าไปอุ้มลูกได้ ให้คุณพ่อเข้าไปกอดแบบเนื้อแนบเนื้อ เพื่อให้ลูกเกิดความผูกพัน และให้ลูกพร้อมที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับคุณแม่อีกเมื่อมีโอกาส
- อย่าเครียดหรือเป็นกังวลมากเกินไป คนที่ผ่าคลอดบุตรทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าน้ำนมมาช้ากว่าคนที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติเล็กน้อย แต่อย่ากังวลไป เดี๋ยวน้ำนมก็มาเอง ให้เอาลูกเข้าเต้าไว้เมื่อมีโอกาส เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม เด็กแรกเกิดจะต้องการกินนม 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมงแรกของชีวิต ช่วงแรก ๆ นี้ร่างกายคุณจะผลิตนมเหลืองออกมาก่อน ถึงแม้จะมีปริมาณน้อย แต่มันคือสุดยอดอาหารที่ร่างกายน้อย ๆ ต้องการอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งภูมิคุ้มกันและสารอาหารสำคัญที่เด็กต้องการ หลังจากนี้ 3-5 วันคุณจะสังเกตได้ว่าน้ำนมเปลี่ยนสีและปริมาณก็มากขึ้นด้วย นั่นเป็นเพราะว่าลูกเริ่มต้องการนมมากขึ้นแล้ว
- ท่าให้นมลูก ช่วงนี้ต้องฝึกอุ้มลูกกันดี ๆ นะ เพราะอาจจะทำให้เจ็บแผลได้ ท่าวางลูกแบบลูกฟุตบอลหรืออุ้มลูกจากด้านข้างก็ดีนะ การใช้หมอนก็ช่วยได้เหมือนกัน ในวันแรก ๆ หลังผ่าคลอด คุณอาจจะรู้สึกเจ็บแผลเวลาต้องลุกออกจากเตียงไปอุ้มลูกมากินนม แต่การลุกเดินจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ลูกหลับก็ปลุกมาทานนมแม่ได้นะคะ ช่วงแรกของชีวิต เด็กจะนอนมากเป็นพิเศษ ให้คุณปลุกลูกขึ้นมากินนมด้วยวิธีการสัมผัส หรือพูดเบา ๆ นอกจากนั้นยังมีวิธีถอดเสื้อผ้าลูก เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและทำให้เด็กตื่น ต้องเข้าใจว่าบางทีอาจจะต้องรอถึง 10 นาทีกว่าเด็กแรกเกิดจะหายจากอาการงัวเงีย และพร้อมจะดื่มนมอย่างเต็มที่
ลองดูกันนะคะ การให้นมแม่ไม่ได้มีอะไรยากอย่างที่เราคิด หากแต่เราตั้งใจและมุ่งมั่น ง่าย ๆ เท่านี้ การให้นมแม่กับลูกก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรแล้วละค่ะ
สิ่งที่ยากกว่าก็คือ การต้องมาคอยรักษาอาการเจ็บป่วยของลูกรักในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผดผื่น หอบหืด ภูมิแพ้ รวมถึงอาการป่วยที่เกิดจากระบบทางเดินอาหารต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ลูกพลาดโอกาสได้รับจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่อยู่บริเวณช่องคลอดของแม่ในตอนแรกเกิดนั่นเองค่ะ ซึ่งไม่ต้องกังวลไป ธรรมชาติยังให้โอกาสในการคืนภูมิต้านทานให้กับลูก ด้วยโภชนาการช่วงแรกของชีวิตนั่นคือ “น้ำนมของแม่” ที่มี โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก ที่เป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้เติบโตได้ดี มีปริมาณเพิ่มขึ้น และลดจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรคไม่ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมตั้งแต่แรกเกิดเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในตอนโตนะคะ ทั้งนี้ หากไม่สามารถให้นมลูกได้จริงๆ ก็อย่าละเลยเด็ดขาดค่ะ ควรปรึกษากับแพทย์เพื่อหาทางออกโดยเสริมโภชนาการที่มีจุลินทรีย์สุขภาพแก่ลูกน้อยต่อไปค่ะ
ที่มา: Mom Junction
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
10 เทคนิคให้นมแม่แอบชิลได้อีก แต่น้ำนมมากระจาย
10 วิธีรับมือ ลูกชอบกัดหัวนมแม่ตอนให้นม