ให้นมลูกเองไม่ได้ ต้องปั๊มเก็บไว้อย่างไรดี
ทารกต้องการน้ำนมมากเพียงใด ต้องปั๊มไว้เท่าไหร่ถึงจะพอดี
ให้นมลูกเองไม่ได้ ต้องปั๊มเก็บไว้อย่างไรดี
สำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน หรือคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องการให้นม ไม่สามารถให้นมจากเต้าโดยตรงกับลูกได้ แต่ยังคงต้องการให้ลูกกินนมแม่อยู่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากครับ แต่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้ากันสักหน่อย เรามาดูกันครับว่า ถ้าคุณแม่ ให้นมลูกเองไม่ได้ ต้องปั๊มเก็บไว้อย่างไรดี
เริ่มทำสต๊อกน้ำนมแม่
คุณแม่สามารถเริ่มเก็บน้ำนมได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอดเลยนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นการทำสต๊อกเก็บเอาไว้แล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมอีกด้วยนะครับ
ในช่วงที่เริ่มปั๊มนมเก็บไว้นั้น คุณแม่อาจจะเลือกช่วงเวลาที่รู้สึกคัดเต้านมมากที่สุด ซึ่งมักจะเป็นในช่วงเช้า ตอนที่คุณแม่ตื่นนอนใหม่ๆ เพราะเต้านมจะผลิตน้ำนมได้เต็มที่ จากการที่ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ เริ่มจากให้ลูกดูดก่อนข้างหนึ่ง ถ้าลูกอิ่มดีแล้วจึงค่อยปั๊มจากอีกข้างหนึ่งเก็บไว้
ในช่วงวันแรกๆ หากคุณแม่ปั๊มแล้วอาจจะได้น้ำนมติดก้นขวดก็อย่าเพิ่งเป็นกังวลใจไปนะครับ และคุณแม่ควรปั๊มให้ได้อย่างน้อย 15 นาที แม้น้ำนมจะออกมาน้อย แค่หยดเดียว หรือแค่ปลายช้อนก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าน้อยมากๆก็ยังไม่ต้องแช่แข็งก็ได้นะครับ ให้เอาช้อนเล็กๆ แตะปลายช้อนทีละนิด แล้วก็ป้อนลูกทีละนิด แม้จะน้อยแค่ไหนก็มีภูมิคุ้มกัน ยิ่งวันแรกๆ น้ำนมแม่ก็ยิ่งมีคุณค่ามากครับ
และถ้าหากว่าลูกดูดข้างเดียวแล้วยังไม่อิ่ม ก็ให้ดูดทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นก็ให้ปั๊มต่อเพื่อกระตุ้นเต้านมอีกประมาณ 3 – 5 นาทีต่อข้าง ในระหว่างวันก็ทำแบบนี้เช่นกัน ทำเรื่อยๆ ทุกวัน ร่างกายของคุณแม่ก็จะรับรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม และเมื่อปั๊มนม ก็จะได้น้ำนมในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อครบเดือน
พอครบเดือนแล้ว แม้ว่าอาจจะมีสต๊อกน้ำนมเก็บไว้พอสมควร แต่ก็ยังไม่ควรหยุดปั๊มนะครับ สำหรับเด็กที่นอนนานๆ ไม่ได้ดูดนมแม่ทุก 2 – 3 ชั่วโมง คุณแม่ก็ต้องปั๊มออกมาเก็บไว้เรื่อยๆ แต่สำหรับเด็กที่ดูดนมถี่มากๆ บางครั้งไม่ถึงชั่วโมงก็กินนมอีกแล้ว ก็ไม่เป็นไรนะครับ คุณแม่ก็ปล่อยให้ลูกน้อยกินนมได้ตามต้องการ เพียงแต่คุณแม่ต้องดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนอย่างเพียงพอ และพักผ่อนให้เต็มที่ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมาได้ตามความต้องการของลูกในที่สุดครับ
สำหรับเด็กที่มีอายุครบเดือนแล้ว คุณแม่สามารถหัดให้ลูกเริ่มดื่มนมจากช้อน จากแก้ว หรือจากขวดได้ โดยเลือกวิธีที่คิดว่าง่าย และเหมาะกับคนป้อนจะดีที่สุด แม้ว่าในช่วงแรกๆ อาจจะหกเลอะเทอะไปบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะครับ
เมื่อคุณแม่เริ่มไปทำงาน
เมื่อคุณแม่เริ่มทำงานแล้ว ก็เริ่มให้พี่เลี้ยง หรือญาติที่คอยเลี้ยงลูก ป้อนนมที่ปั๊มเก็บไว้ และถ้าเป็นไปได้ ระหว่างที่อยู่ที่ทำงานก็ควรปั๊มนมทุกๆ 3 ชั่วโมง และพยายามกำหนดเวลาให้ตรงกันทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ก่อนไปทำงานก็ให้ลูกดูดนมในตอนเช้า พอถึงที่ทำงานก็เริ่มปั๊มตอน 9.00 – 12.00 – 15.00 น. แล้วแช่ตู้เย็น หรือเตรียมกระติกใส่ แล้วนำกลับมาเก็บไว้ให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น
ส่วนวันเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้ลูกดูดนมแม่ทุกมื้อ เพื่อรักษาปริมาณน้ำนม และไม่มีเครื่องปั๊มนมยี่ห้อไหน รุ่นไหน จะดีไปกว่าการให้ลูกดูดเองจากเต้าของคุณแม่ครับ
สต๊อคเท่าไหร่ถึงจะพอ
ก่อนที่จะกลับไปทำงาน ในช่วงที่ลา 3 เดือนนั้น หากลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ต่อให้เร่งทำสต๊อกเก็บไว้เป็นพันออนซ์ก็ไม่พอสำหรับลูก ถ้าคุณแม่กลับไปทำงานแล้ว ไม่ได้ปั๊มนม หรือปั๊มได้แค่วันละครั้ง หรือ 2 ครั้ง
แต่ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าจะมีน้ำนมสต๊อกน้อยก่อนไปทำงาน แต่ถ้าคุณแม่หาเวลาปั๊ม หรือบีบน้ำนมให้ลูกได้เท่ากับจำนวนที่ลูกกินตอนที่แม่ไม่อยู่ให้นมลูก ก็จะสามารถให้ลูกกินนมแม่ไปได้อีกนาน
เรื่องที่ต้องระวัง
เรื่องที่คุณแม่หลายคน มักจะทำผิดพลาดตอนกลับไปทำงานที่ต้องระวัง นั่นก็คือ
1. ไม่ได้ปั๊มนมให้เท่ากับจำนวนมื้อที่ลูกกิน
คุณแม่บางคน ตอนแรกอาจจะปั๊มไว้แค่ครั้งเดียวตอนเที่ยง พอเห็นว่าได้น้ำนมมากเป็นสิบออนซ์ ก็เลยปั๊มแค่ครั้งเดียว แต่พอไม่กี่วัน ก็จะปั๊มนมได้น้อยลงจนน่าตกใจ และหากยังปั๊มนมวันละครั้งไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะตอบสนองกับความต้องการที่ลดลงนี้โดยอัตโนมัติ ไม่นานน้ำนมก็จะลดลง จนไม่มีน้ำนมเพียงพอในที่สุด
2. บีบน้ำนมไม่เป็น หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ
การที่คุณแม่บีบน้ำนมผิดวิธี หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ ก็จะทำให้ไม่สามารถปั๊มนมออกมาได้เท่ากับที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ วิธีสังเกตก็ง่ายๆ ถ้าลูกกินนม 3 ครั้ง รวม 12 ออนซ์ แล้วเราปั๊มได้ 3 ครั้ง รวมแล้ว 12 ออนซ์ หรือมากกว่า ก็ถือว่าเครื่องปั๊มนมนั้นใช้ได้ปกติ
เมื่อคุณแม่กลับไปทำงาน แล้วสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้คล่องและชำนาญแล้ว หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี ส่วนใหญ่ก็จะบีบหรือปั๊มได้มากกว่าที่ลูกต้องการอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
เคล็ดลับ สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มนมที่ทำงานไม่สะดวก
คุณแม่ท่านใด ที่ไม่สะดวกปั๊มนมวันละ 3 – 4 ครั้ง เรามีเคล็ดลับมาฝาก สมมุติว่าลูกกินนมวันละ 4 มื้อ แต่คุณแม่ปั๊มได้แค่ 2 ครั้ง คือตอนเที่ยงกับบ่าย 3 ก็สามารถมาปั๊มในตอนตี 5 กับช่วง 5 ทุ่ม – เที่ยงคืน เพื่อชดเชยเพิ่มได้ และในมื้อที่จะปั๊มชดเชยนี้ พยายามให้ลูกกินนมข้างเดียว แล้วปั๊มนมจากอีกเต้า จนร่างกายปรับตัวได้ในที่สุด
สำหรับคุณแม่ที่ไม่ต้องไปทำงานประจำ ให้ลูกดูดจากเต้าได้ทุกมื้อ ก็สามารถปั๊มเก็บไว้ประมาณ 10 ถุงก็พอ และในบางวัน หากคุณแม่ปั๊มนมได้มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะการผลิตน้ำนมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน วันไหนอารมณ์ดี พักผ่อนเพียงพอ ก็ได้น้ำนมเยอะหน่อย แต่ถ้าวันไหนกินน้อย เครียด นอนไม่พอ ก้อาจจะปั๊มแล้วได้น้ำนมน้อยหน่อย ทางที่ดีคือต้องดูแลสุขภาพ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ และยึดหลักความสม่ำเสมอในการปั๊มนม เท่านี้ก็จะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกน้อยกินได้ยาวๆแล้วครับ
ที่มา breastfeedingthai
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
เคล็ดลับเก็บน้ำนม สำหรับคุณแม่นักปั๊ม
จะรู้ได้ไงว่าปั๊มนมเกลี้ยงเต้า แล้วทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้าด้วยล่ะ
ไวท์ดอท เรื่องที่ทำแม่ให้นมต้องนอนร้องไห้ เช็คหัวนมด่วน มีจุดขาวไหม