จะรู้ได้อย่างไร..ว่าลูกเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
บุคคลที่จะตรวจเช็คว่าลูกของคุณแม่มีน้ำหนักเกินได้ดีที่สุดก็คือคุณหมอ (หมอเด็กที่คุณพ่อคุณแม่หากันอยู่เป็นประจำนั่นแหละค่ะ) วิธีที่คุณหมอจะดูว่าลูกของคุณแม่มีน้ำหนักเกิน คุณหมอจะประเมินโดยการชั่งน้ำหนักและวัดความสูงของเด็ก แล้วนำมาเทียบกับกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโต โดยเทียบน้ำหนักตามเกณฑ์ความสูง ในกรณีที่ไม่มีกราฟ คุณแม่ก็สามารถคำนวณด้วยตัวเองเพื่อประเมินในเบื้องต้นได้ โดยการคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index)
วิธีการคำนวณหาค่า BMI ก็คือ = น้ำหนัก(กิโลกรัม) หาร [ส่วนสูง(เมตร)ยกกำลังสอง]
เช่น ลูกหนัก 9 กิโลกรัม สูง 70 ซม. : 9 / [0.70×0.70] = 18.36 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
เมื่อได้ค่า BMI แล้วก็สามารถเอามาเทียบค่าตามตารางนี้ได้เลยค่ะ
ตารางค่าดัชนีมวลกายอ้างอิงของเด็กอายุ 1-7 ปี
(ที่มา นพ.ประสงค์ เทียนบุญ วารสารโภชนบำบัด พ.ศ. 2547 ปีที่ 15 ฉบับที่ 3)
เมื่ออ้วนแล้วมีอันตรายต่อเด็กอย่างไร
เด็กที่อ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อไปนี้
- ไขมันในเลือดสูง และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคเบาหวาน
- โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผดต่างๆ
- ความผิดปกติของกระดูกและข้อ เช่น กระดูกโค้งงอ ขาโก่ง เท้าแบน ทำให้เดินลำบาก
จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนในเด็กอย่างไร
ถ้าหากคุณแม่มีลูกที่มีน้ำหนักเกิน สิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดน้ำหนักให้ลูกได้ คือการให้กำลังใจ ให้ลูกได้รู้ว่ามีพ่อแม่คอยสนับสนุน คอยดูแลให้สามารถต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายไปได้ แต่ทราบกันหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วโรคอ้วนสามารถป้องกันได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างนิสัยการกินที่ดีให้กับลูก ไม่ป้อนนมหรืออาหารให้ลูกมากเกินไปเมื่อลูกแสดงออกว่าอิ่มแล้ว ไม่ควรฝึกให้ลูกรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันมากๆ รวมทั้งไม่ควรให้ลูกรับประทานขนมจุบจิบที่ไม่มีประโยชน์ ทุกคนในครอบครัวต้องหันมาใส่ใจ สอนลูกหลานและคนในครอบครัวให้มีนิสัยที่ถูกต้อง และเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนี้แล้วการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาพาลูกไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคอ้วนในเด็ก สามารถส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ในระยะยาว หนึ่งในโรคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือโรคเบาหวาน ดังนั้นแม่ควรใส่ใจเรื่องอาหารให้ลูกน้อยตั้งแต่เล็กๆ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และในกรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ควรเลือกนมสูตรที่มีการปรับปริมาณโปรตีนลดลง เพราะปริมาณโปรตีนที่มากเกินไปจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ไขมันเพิ่มขึ้น คุณแม่ควรดูแลเรื่องอาหารการกินของลูกน้อยให้มากๆ การให้ลูกได้รับประทานอาหารที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ หากิจกรรมให้ลูกทำ และชวนลูกวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 60 นาทีอย่างสม่ำเสมอ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถปฏิบัติดังนี้ได้ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้อย่างแน่นอนค่ะ
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโปรตีนในเด็ก สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://nestlebaby.in.th/th/allergy/benefit-of-protien/article1