โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด เพิ่มโอกาสแท้งลูก

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเคท เมื่อฝาแฝด 1 คนเสียชีวิตในครรภ์จากการถ่ายเทเลือดระหว่างฝาแฝดผ่านรกเดียวกัน ติดตามเรื่องราวของเคท และทำความกับรู้จักโรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝดกันค่ะ

แม่เล่าประสบการณ์ โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด

เคทในวัย 30 เธอมีลูกชายแล้วคนหนึ่งชื่อว่า อาชี่ จากนั้นเธอก็ตั้งครรภ์แฝด คือธีโอดอร์และหลุยส์ซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวกัน  การตั้งครรภ์ของเคทดำเนินไปตามปกติ

จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอพบว่าลูกแฝดของเธอมีการถ่ายเทเลือดระหว่างกัน  หรือ Twin-to-twin Transfusion Syndrome(TTTS) ทำให้แฝดคนหนึ่งตัวโตเพราะได้รับเลือดมาก ส่วนอีกคนหนึ่งตัวเล็กมากเพราะให้เลือดกับอีกคนหนึ่ง

ในสัปดาห์ที่ 19 เคทพยายามรักษาชีวิตลูกฝาแฝดของเธอด้วยการเข้ารับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์

แต่ในสัปดาห์ที่ 24 เธอก็พบว่า หลุยส์ แฝดคนที่ตัวเล็กกว่า เสียชีวิตแล้วในครรภ์ คุณหมอแนะนำให้เธออุ้มท้องต่อไปเพื่อโอกาสรอดลูกแฝดอีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในท้องของเธอ

เคทอุ้มท้องมาจนถึงสัปดาห์ที่ 28 เธอก็รู้สึกหายใจไม่ออก สามีของเธอจึงรีบนำตัวเคทส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์วินิจฉัยว่าเธอมีอาการเลือดอุดตันในปอดทั้งสองข้าง ไม่เพียงเท่านั้นหัวใจของเธอยังทำงานผิดปกติด้วย

สัปดาห์ที่ 30 ถุงน้ำคร่ำแตก ทำให้เธอต้องนอนโรงพยาบาลยาว เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

เธอประคับประคองครรภ์มาจนถึงสัปดาห์ที่ 34 มดลูกบีบตัว และเธอก็คลอดธีโอดอร์ออกมาก่อนด้วยน้ำหนักตัว 1,334 กรัม ส่วนหลุยส์คลอดตามหลังด้วยน้ำหนักตัวเพียง 290 กรัม ความยาว 23 ซม. ท้องและหน้าอกของเขามีขนาดเท่าข้อมือของเคทเท่านั้น

ธีโอดอร์อยู่ในโรงพยาบาล 9 สัปดาห์ก็ได้กลับบ้าน

ธีโอดอร์ในไอซียู

และในภาพนี้เขาเป็นเด็กน้อยสุขภาพดีในวัย 8 เดือนแล้ว

อาร์ชี่และธีโอดอร์

จากเรื่องราวของเคท คุณแม่ครรภ์แฝดมาทำความรู้จักกับ โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด ได้ในหน้าถัดไปค่ะ

Twin-to-twin Transfusion Syndrome คืออะไร

Twin-to-twin Transfusion Syndrome คือภาวะที่ฝาแฝดใช้รกร่วมกัน หรือมีหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเกิดได้ประมาณ 10-15% ของฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด

ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์  บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า เมื่อฝาแฝดใช้รกร่วมกัน ทำให้เกิดการถ่ายเทเลือดระหว่างทารกทั้งสอง ทำให้แฝดคนที่ให้เลือด ตัวเล็กผิดปกติ แคระแกร็น เติบโตช้า ขาดเลือด ในขณะที่แฝดคนที่รับเลือด กลับมีขนาดตัวโตเกินไป หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดภาวะเลือดข้น บวมน้ำ หัวใจล้มเหลว แต่หากขนาดต่างกันไม่เกิน 10-20% จะไม่มีปัญหา

ในกรณีที่ลูกเสียชีวิตในครรภ์หนึ่งคน คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้  โดยไม่จำเป็นต้องเอาคนที่เสียชีวิตออก เพราะเมื่อเสียชีวิตเขาจะหยุดโต ไม่มีการเน่าเสียเพราะไม่ได้เจอเชื้อโรคภายนอก ส่วนอีกคนก็โตได้ตามปกติได้

โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝดรักษาได้หรือไม่?

ผศ.นพ.ตวงสิทธิ์  วัฒกนารา ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า  การใช้กล้องส่องตรวจทารกในครรภ์ หรือฟีโตสโคป (fetoscope) ถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งได้ผลดีที่สุด ทั้งเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ปัจจุบัน

วิธีการคือจะใช้กล้องที่มีขนาดเล็กมากเพียง 2 มิลลิเมตร สอดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วใช้เลเซอร์ซึ่งมีกำลังต่ำจี้ตัดหลอดเลือดที่ผิดปกติบนแผ่นรกในครรภ์ให้ขาดออกจากกัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่เชื่อมระหว่างทารกทั้งสองหยุดลง ช่วยให้ทารกทั้งสองต่างเจริญเติบโตด้วยตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกันต่อไป ซึ่งการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และพักฟื้นในโรงพยาบาลต่ออีก  2 วัน  ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการเสียเลือด  ติดเชื้อ หรือน้ำเดินหลังผ่าตัด  ซึ่งการผ่าตัดจะได้ผลดีหากทำในรายที่โรคยังไม่รุนแรงมาก และในอายุครรภ์ที่เหมาะสมคือ ระหว่าง 16 – 24 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็สามารถกลับไปดูแลตนเองที่บ้านจนกว่าจะครบกำหนดคลอด  อย่างไรก็ตาม คุณแม่ครรภ์แฝดจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนและประเมินสถานการณ์ของภาวะใกล้คลอดอย่างใกล้ชิด

ที่มา kidspotwww.si.mahidol.ac.th

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ความเสี่ยงที่แม่ตั้งครรภ์แฝดควรระวัง เพื่อคลอดลูกแฝดอย่างปลอดภัย

ครรภ์คุณภาพของแม่ท้อง ต้องดูแลแบบนี้