ลูกฉันเป็นไข้เลือดออก หรือชิคุนกุนยา? สมัยนี้โรคต่าง ๆ มีมากมายหลายสายพันธุ์ จนเราเองตามแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว โรคชิคุนกุนยา ก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่มีลักษณะอาการที่คล้าย และใกล้เคียงกับไข้เลือดออก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกของเราเป็นโรคอะไรกันแน่ แล้วเราจะสามารถป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างไร?
หน้าฝนแบบนี้ต้องระวังโรคที่มาพร้อมกับยุงลาย ที่ระบาดอย่างมากในช่วงหน้าฝน ได้แก่ โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แม้กระทั่งในเด็กเล็ก แล้วอาการของ โรคชิคุนกุนยาเป็นอย่างไร แล้ว ลูกฉันเป็นไข้เลือดออก หรือชิคุนกุนยา? ลองไปเช็คอาการกับเราดีกว่าค่ะ
โรคชิคุนกุนยาเป็นอย่างไร มีอาการต่างจากไข้เลือดออกอย่างไร
โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อชิคุนกุนยาไวรัส ติดต่อมาสู่คน โดยการถูกยุงลายกัด (ยุงลายเป็นพาหะ ที่นำโรคมาสู่คน 2 โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก และ โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา) ระยะฟักตัวของโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา คือ 2 – 5 วัน
ไข้เลือดออก
โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ แพร่สู่ร่างกายคน จากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา
อาการ : ไข้สูงลอย, ผื่นแดงจำนวนมาก, ปวดเมื่อยน้อยกว่า, เกล็ดเลือดต่ำ – มีเลือดออก, ควรรีบพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการ
ชิคุนกุนยา
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยผู้ป่วยมักมีไข้ และปวดข้อต่อ ซึ่งอาการของโรคนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
อาการ : ไข้สูงอย่างเฉียบพลัน, ตาแดง มีผื่นแดง, ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ, ไม่มีเกล็ดเลือดต่ำจนเลือดออก, รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ
ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เลือดออกได้ทั้งนั้น ดังนั้น ควรระวัง และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการกำจัดแหล่งน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทาโลชั่นกันยุง สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง และป้องกันลูกน้อยจากยุงลาย
โรคชิคุนกุนยา แตกต่างจากไข้เลือดออกอย่างไร
- ลักษณะของโรคชิคุนกุนยา จะไม่มีเกร็ดเลือดต่ำอย่างมาก จนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
- โรคชิคุนกุนยา จะไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติอย่างมาก จนมีของเหลว (เลือด) รั่วซึมออกจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง จนความดันโลหิตต่ำ จนช็อค อย่างโรคไข้เลือดออก
- โรคชิคุนกุนยานั้น จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เหมือนอย่างโรคไข้เลือดออก แต่อาจปวดตามข้อ ทรมาน หลายเดือน ต่อเนื่องได้
เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อชิคุนกุนยาไวรัสกัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 2 – 5 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเริ่มจาก …
– มีไข้สูง อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้น ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว
– ผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัว
– มีผื่นแดงเล็ก ๆ ตามตัว หรือบางครั้งอาจมีผื่นแดงเล็ก ๆ ตามแขนขาได้
– มีอาการปวดตามข้อ และมักมีอาการปวดหลายข้อพร้อม ๆ กัน
นอกจากนั้น อาจมีอาการป่วย ซึ่งไม่ใช่อาการเฉพาะของการติดเชื้อชิคุนกุนยา เช่น ปวดศีรษะ เยื่อบุตาแดง รวมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดข้อ ปวดศีรษะ นอนไม่ค่อยหลับ
อาการเหล่านี้ อาจคงอยู่ยาวนานในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ส่วนอาการปวดข้อ มักจะเป็นอยู่นาน บางรายอาจนานถึง 2 ปี
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา
การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือ จะต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
- การเพาะเชื้อไวรัสจากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งเพาะหาเชื้อไวรัส หากเพาะได้เชื้อไวรัส โรคชิคุนกุนยา ก็จะวินิจฉัยได้แน่นอน แต่เนื่องจากโอกาสเพาะเชื้อได้ต่ำ จึงไม่นิยมทำ
- การตรวจโดยใช้วิธี PCR จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ ใช้วิธี PCR เพื่อตรวจหาชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา
- การตรวจซีโรโลยี่ จากเลือดผู้ป่วย โดยที่แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาโปรตีนของร่างกาย ที่มีการสร้างขึ้น หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา และโปรตีนนั้น เป็นโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโรคชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?
- ติดต่อผ่านยุงลายสวน และยุงลายบ้านที่มีเชื้อไวรัสนี้ จะแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังคนถัด ๆ ไปที่ถูกยุงกัด
- ติดต่อจากมารดา ที่มีเชื้อไปยังทารกในระยะแรกคลอด
- ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การให้หรือรับเลือดที่มีเชื้อไวรัส
โรคชิคุนกุนยาป้องกันอย่างไร?
การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การป้องกันการถูกยุงกัด และควรมีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อย่างสม่ำเสมอ เช่น บริเวณน้ำที่ยุงอาจไปวางไข่ รวมถึงทำความสะอาด แหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
การป้องกันสำหรับทารก และเด็ก
- สวมใส่เสื้อผ้าแก่ทารก และเด็กให้มิดชิด
- ฉีดสเปรย์กันยุงให้เด็ก ยกเว้นในกรณีที่เด็กอายุน้อยกว่า 2 เดือน ไม่ควรฉีดสเปรย์กันยุง
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ที่ประกอบด้วยน้ำมันยูคาลิปตัส หรือพาราเมนเทนไดออล (para – menthane – diol) ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี
การป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
- สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
- ในกรณีที่เป็นสเปรย์ป้องกันยุง ที่ไม่ใช่สำหรับฉีดบริเวณตัว ไม่ควรฉีดสเปรย์ป้องกันยุง ให้ถูกผิวหนังโดยตรง
- หากจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อนแล้ว จึงใช้สเปรย์กันยุง
- ปิดประตู และหน้าต่างให้สนิท หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องปรับอากาศ แทนการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
โรคชิคุนกุนยารักษาได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคชิคุนกุนยา การรักษาโรคชิคุนกุนยาจึงใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำ ให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล โดยหลีกเลี่ยง การรับประทานยาลดไข้แอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านอักเสบ ชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non – Steroidal Anti – Inflammatory Drugs (NSAIDS) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก
- หากมียาเดิมที่ใช้รักษาโรคร่วม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อติดตามอาการ และการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
- ป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดในสัปดาห์แรกที่ได้รับเชื้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถพบได้ในเลือด และส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อ โดยมียุงเป็นพาหะในช่วงเวลาดังกล่าว
เนื่องจากยุงลายสามารถนำโรคได้ทั้ง ไข้เลือดออก และ โรคชิคุนกุนยา ดังนั้น การดูแลตนเอง เพื่อให้พ้นจากการถูกยุงลายกัด ก็จะช่วยป้องกันการป่วยได้ทั้งไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อชิคุนกุนยา
การนอนในมุ้ง การอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด การใช้ยาทากันยุง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ภายในบ้าน และรอบ ๆ บ้าน เป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรค ที่นำพาโดยยุงค่ะ
ที่มา รพ.บำรุงราษฎร์ , รพ.ศิริราช , รพ.ศิครินทร์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมื่อพ่อแม่ป่วยต้องทำอย่างไร 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
ลูกแพ้ยุง ทำไงดี ทำอย่างไรเมื่อลูกแพ้ยุง มีอาการ และ รักษาได้อย่างไร?