โรคคาวาซากิ หรือ Kawasaki Disease เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศแถบเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ชื่อของโรค “คาวาซากิ” มาจากนายแพทย์คาวาซากิ แพทย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้รายงานการพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นคนแรก
โรคคาวาซากิ หรือ Kawasaki Disease พบบ่อยในเด็กเล็ก
คาวาซากิ มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบในเด็กชาย มากกว่าเด็กหญิง และพบบ่อยกว่าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการพบผู้ป่วยโรคคาวาซากิมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
เหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่มีระบุแน่ชัด ไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศ หรือฤดูกาล แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย จากแหล่งน้ำ ข้าวของเครื่องใช้ การใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิดในเด็ก หรือแม้แต่พันธุกรรม ซึ่งยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า คาวาซากิ จะสามารถถ่ายทอดทางสายเลือดได้หรือไม่ แต่พบว่าในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า
พยาธิสภาพของคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นหลายแห่งในร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง แพทย์เตือน เชื้อไวรัสและแบคทีเรียระบาด เด็กเล็กเสี่ยงปอดบวม
โรคคาวาซากิ หรือ Kawasaki disease มีอาการแสดงอย่างไรบ้าง
อาการของโรคคาวาซากิ จะมีไข้สูง มีอาการบวมตามมือ เท้า ตาแดง มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ผื่นอาจเป็นได้หลายแบบ ยกเว้นน้ำใส ผิวหนังลอก มีตุ่มขึ้นที่ลิ้น และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คาวาซากิ เป็นโรคที่จะส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ หากรักษาไม่ทัน พ่อแม่จึงต้องสังเกตอาการลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ภายใน 7 – 9 วันแรก เพื่อไม่ให้ระยะของโรคบานปลายไปจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
โดยอาการของโรคคาวาซากิ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเฉียบพลัน (Acute Phase)
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Phase)
- ระยะพักฟื้น (Convalescent Phase)
อาการโรคคาวาซากิในระยะเฉียบพลัน (Acute Phase)
เด็กมีไข้สูง 38 – 40 องศา แม้จะรับประทานยาแล้ว แต่ไข้ก็ไม่ลด อาการไข้อาจยาวนานต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์ มีอาการบวมตามมือ เท้า เยื่อบุตาขาวแดงทั้งสองข้าง แต่ไม่มีขี้ตา ริมฝีปากแดง แห้ง อาจมีเลือดออก มีผื่นขึ้นตามร่างกาย เช่น ตามตัว แขน ขา หัวไหล่ ก้น และอวัยวะเพศ ผิวหนังที่มือ และเท้าลอก มีตุ่มขึ้นที่ลิ้น ลองคลำดูที่บริเวณคอ จะพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่คอข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างโต
อาการโรคคาวาซากิในระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Phase)
อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 – 4 ซึ่งไข้จะลดต่ำลง แต่อาการอื่น ๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ เช่น ผิวหนังลอก ปวดตามข้อ แม้ว่าอุณหภูมิร่างกายจะต่ำลงแล้ว แต่ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
อาการโรคคาวาซากิในระยะพักฟื้น (Convalescent Phase)
ในช่วงสัปดาห์ที่ 5 – 6 ซึ่งเป็นระยะพักฟื้น เด็กจะรู้สึกดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม เด็กที่ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ อาจจะไม่ได้แสดงอาการตามที่กล่าวมาทั้งหมด เรียกว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki disease โดยพ่อแม่สามารถสังเกตได้จากการที่ลูกมีไข้สูงนานกว่า 5 วัน และแสดงบางอาการ เช่น
- มีไข้สูงกว่า 38 – 40 องศา เกิน 5 วัน
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย แขน และขา
- มือเท้าบวม อาจมีผิวหนังลอกด้วย
- ตาบวม แดง แต่ไม่มีขี้ตา
- ปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นเป็นตุ่มขึ้น
- ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนมากจะโตกว่า 1.5 เซนติเมตร
บทความที่เกี่ยวข้อง ป้องกันลูกชักจากไข้สูง: อันตรายจากการเป็นไข้มีมากกว่าที่คิด
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ
คาวาซากิ เป็นโรคที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราร้อยละ 1 – 2
โรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การวินิจฉัยโรคได้ภายในระยะเริ่มต้น หรือ 7 วันแรก จึงจะลดอัตราการเกิดของโรคเหล่านี้ได้
การตรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ
ในการตรวจเพิ่มเติมจากโรคคาวาซากิ แพทย์จะตรวจความผิดปกติที่หัวใจด้วย เช่น
- ตรวจประเมินภาวะหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง และการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Echocardiogram
- ตรวจประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiogram
- เอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจเลือด
- ตรวจการทำงานของเอนไซม์ตับ
หากพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จึงทำการรักษาตามโรคที่เกิดขึ้นต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคคาวาซากิ บัตรทองประกันสุขภาพ และประกันโรคคาวาซากิ
ปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคคาวาซากิขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย แต่เดิมเป็นยานำเข้า ซึ่งมีราคาสูงมากถึงหลักหมื่นบาท จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่เดิมอาจสูงถึงหลักแสน
ในปัจจุบันราคาของยา IVIG ซึ่งในรักษาโรคคาวาซากิในประเทศไทยถูกลงแล้ว อีกทั้งยังบรรจุอยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองอีกด้วย
สำหรับประกันชีวิต และประกันสุขภาพบางฉบับ อาจไม่ครอบคลุมโรคคาวาซากิ จึงควรสอบถามตัวแทนให้ดี หรืออ่านเอกสารประกอบก่อนตัดสินใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง วิธีเลือกประกันสุขภาพ ให้ครอบครัว 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
Source :
samitivejhospitals , phyathai , theworldmedicalcenter , si.mahidol , prachatai