โรคคางทูม ลูกมีไข้ ปวดและบวมบริเวณหน้าหู
แก้มบวมเกิดจากอะไร โรคคางทูม ลูกมีไข้ ปวดและบวมบริเวณหน้าหู …ช่วงสัปดาห์นี้ หมอได้เจอเด็กๆ ในวัยเรียนเป็นโรคคางทูมกันหลายคน จึงอยากจะมาทบทวนเรื่องนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีความรู้ความเข้าใจกันนะคะ
โรคคางทูมคืออะไร?
โรคคางทูม (mumps) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำลายบริเวณกกหู จนเห็นเป็นอาการบวมนูนของคางจึงเรียกว่า “คางทูม” ซึ่งมักพบในเด็กปฐมวัยขึ้นไปจนถึงวัยเรียน มักจะพบผู้ป่วยได้บ่อยในฤดูหนาวและในต้นฤดูร้อน
โรคคางทูมเกิดจากอะไร?
โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ Mumps virus ก่อให้เกิดอาการบวมจากการอักเสบของต่อมน้ำลายชื่อ ต่อมพาโรติด (Parotid glands) บริเวณกกหูเหนือขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถติดต่อได้จากระบบทางเดินหายใจ หรือสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย เช่น ใช้ภาชนะร่วมกันในการ กินน้ำ และอาหาร
อาการของโรคคางทูมเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคนี้จะเริ่มป่วยด้วยอาการมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร จากนั้น 2-3 วันต่อมาจะเริ่มเจ็บและบวมบริเวณหน้าหู อาจมีอาการข้างใดข้างหนึ่งก่อน ต่อมาจึงลามเป็นทั้ง 2 ข้าง
อาการบวมจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะค่อยๆยุบหายไปได้เอง ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในเด็ก เมื่อเทียบกับวัยรุ่น และผู้ใหญ่ หากมีประวัติเป็นคางทูมมาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนเกิดอาการปวด บวม บริเวณถุงอัณฑะ, ปวดท้องหรือปวดศีรษะมาก ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อการวินิจฉัย รักษา นะคะ
คุณหมอสามารถให้การวินิจฉัยคางทูมได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคนี้มีอาการที่เป็นลักษณะชัดเจน คุณหมอจึงสามารถให้การวินิจฉัยจากประวัติ อาการ และอาการแสดงของการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายได้ทันที โดยอาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการบางอย่างตามความเหมาะสม หรือมีข้อบ่งชี้ เช่น สงสัยอาการคางบวมจากโรคอื่นๆ ได้ การวินิจฉัยโรคที่จำเพาะ คือจากการตรวจหาเชื้อไวรัส จากน้ำลาย จากสารคัดหลั่ง หรือ ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้านทาน ของเชื้อไวรัสคางทูม
การรักษาโรคคางทูมทำได้อย่างไร?
เนื่องจากคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มีวิธีรักษาเฉพาะเจาะจง นอกจากการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ รับประทานอาหารอ่อน และสังเกตอาการ หากมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก คอแข็ง ปวดท้องมาก ทานไม่ได้ ซึมลง ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ค่ะ
การป้องกันโรคคางทูมทำได้อย่างไร?
โชคดีที่เรามีวัคซีนป้องกันโรคคางทูมได้ โดยเป็นวัคซีนเข็มรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงมาก ในปัจจุบัน นอกจากนั้นก็ควรส่งเสริมให้เด็กๆรู้จักการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากเด็กเป็นโรคคางทูมก็หยุดโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
โดยทั่วไปเมื่อเป็นคางทูมแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำเพราะ ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต แต่มีรายงานผู้ป่วยบางรายติดเชื้อได้อีก โดยที่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กรมควบคุมโรคเตือนพ่อแม่ ระวังเด็กเล็กป่วยเป็นโรคหัด
พาลูกฉีดวัคซีนเรื่องไม่เล็กที่พ่อแม่ควรรู้