ในวัยสองขวบหรือครบ 1,000 วันของลูก สมองจะมีขนาดประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับน้ำหนักสมองของผู้ใหญ่ และมีน้ำหนักประมาณ 1,200 กรัมเมื่ออายุ 4 ปี ซึ่งน้อยกว่าน้ำหนักของสมองผู้ใหญ่เพียง 200 กรัมเท่านั้น1 นอกจากจะมีการเพิ่มขนาดในทางกายภาพแล้ว สมองยังมีการเพิ่มจำนวนเส้นใยประสาท ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเซลล์สมอง 1 เซลล์ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายผ่านสารสื่อประสาทได้เป็นหมื่นเซลล์ ซึ่งในช่วง 1,000 วัน ร่างกายจะสร้างเซลล์สมองมากถึง 100,000 ล้านเซลล์ ดังนั้นในช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาทองที่สำคัญที่สุด ที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับลูกได้พัฒนาสมองของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาสมองนอกจากพันธุกรรมแล้ว คือ การใส่ใจทางด้านโภชนาการต่อลูกน้อย จากการศึกษาพบว่าภาวะโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต จะส่งผลระยะยาวต่อการเจริญเติบโตของสมอง2 ระดับสติปัญญา ตลอดจนพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่3 การให้ทารกได้รับอาหารที่มีคุณประโยชน์ ทั้งจากสารอาหารหลัก รวมไปถึงวิตามินและแร่ธาตุ เช่น โฟเลต วิตามินเอ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสี ทองแดง และโคลีน เป็นต้น3 เหล่านี้ถือว่าเป็นโภชนาการสำคัญมากที่ส่งผลต่อการพัฒนาของสมองลูกน้อย โดยเฉพาะสารอาหารหลักอย่าง “โปรตีน”
โปรตีน จัดว่าเป็นสารอาหารที่มีบทบาทต่อการพัฒนาของสมองและระบบประสาทอย่างมาก เพราะกรดอะมิโนที่ได้จากการย่อยสลายของโปรตีนจะเข้าไปเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของกระบวนการทำงานในสมอง ซึ่งนอกจากสมองจะทำหน้าที่หลักในส่วนของความคิด ความจำ และพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว สมองยังมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะของร่างกายที่มีความสำคัญ ได้แก่ ระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น4 ดังนั้นหากทารกในช่วง 1,000 วันแรก (ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ช่วงวัยแรกเกิดจนถึงเด็กเล็ก) ขาดพลังงานและโปรตีน ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาของสมองและระบบประสาทมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญา ต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย และความสามารถในอนาคตของลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่เกิดก่อนกำหนด หรือทารกน้ำหนักตัวน้อย ก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวของทารกได้
จากงานวิจัยพบว่าการได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอ ไม่ได้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายที่น้อยกว่าเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและความสามารถในการทำงานของสมองที่ด้อยกว่าทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับพลังงานและโปรตีนอย่างเพียงพออีกด้วย โดยคณะนักวิจัยชาวอเมริกันพบว่าสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม การได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังเกิดในสัปดาห์แรก จะทำให้ทารกมีดัชนีพัฒนาจิต (Mental developmental index; MDI) เพิ่มขึ้น 4.6 คะแนน และทุก ๆ ปริมาณโปรตีนที่ทารกได้รับมากขึ้น 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้ทารกมีดัชนีพัฒนาจิตเพิ่มขึ้น 8.2 คะแนน เมื่อไปทำการทดสอบขณะที่ทารกอายุครบ 18 เดือน5)
ในช่วง 1,000 วันแรกของลูกน้อย จึงควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ที่สุด นั่นคือ “นมแม่” ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด เพียงพอกับความต้องการของทารกทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของโปรตีน และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้สมองของลูกน้อยพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพมากที่สุด
ที่มาจากบทความ “โปรตีนมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาด้านสมองและระบบประสาทของลูกน้อย” โดย แพทย์หญิงกุลนิภา กิตติศักดิ์มนตรี (กุมารแพทย์โภชนาการ)
เอกสารอ้างอิง
- Stephens BE, Vohr BR. Protein intake and neurodevelopmental outcomes. Clin Perinatol. 2014; 41(2): 323-9.
- Bonatto F, Polydoro M, Andrades ME, Conte da Frota ML Jr, Dal-Pizzol F, Rotta LN, et al. Effects of maternal protein malnutrition on oxidative markers in the young rat cortex and cerebellum. Neurosci Lett. 2006; 406(3):281-4.
- Anjos T, Altmäe S, Emmett P, Tiemeier H, Closa-Monasterolo R, Luque V, et al. Nutrition and neurodevelopment in children: focus on NUTRIMENTHE project. Eur J Nutr. 2013. 52(8):1825-42.
- Christine Dufès. Brain Delivery of Peptides and Proteins. In: Chris Van Der Walle, editor. Peptide and Protein Delivery. 1st Philadelphia, PA: Elsevier; 2011. p. 105-22.
- Stephens BE, Walden RV, Gargus RA, Tucker R, McKinley L, Mance M, Nye J, et al. First-week protein and energy intakes are associated with 18-month developmental outcomes in extremely low birth weight infants. Pediatrics. 2009; 123(5):1337-43.