คุณแม่ท่านนี้เป็นหนึ่งในสมาชิกเฟสบุ๊คและเพจคนท้องคุยกัน โดยถามถึงยาที่จะช่วยรักษาอาการมือพองของลูก อันเกิดจากความ ประมาท ของผู้เป็นพ่อ ภายหลังจากที่คุณแม่ต้องฝากให้พ่อดูเพราะตัวเองต้องออกไปส่งของที่ไปรษณีย์
คุณแม่เล่ากับทีมงานว่า คุณแม่ได้มีปากเสียงกับคุณพ่อเรื่องผู้หญิง โดยคุณพ่อก็ได้แยกตัวออกไปอยู่บ้านพักในค่าย ทำให้คุณแม่ต้องอยู่ลำพังกับลูกสองคน ที่สำคัญตอนนี้คุณแม่ก็กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองได้ 5 เดือนด้วย ในวันเกิดเหตุนั้น คุณพ่อของน้องขอมาหาลูก คุณแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร และได้ฝากคุณพ่อให้ช่วยดู เนื่องจากคุณแม่ขายของทางเน็ต จึงต้องมีไปส่งของที่ไปรษณีย์
ก่อนออกจากบ้าน คุณพ่อก็ขอให้คุณแม่ช่วยหุงข้าวให้ แต่ด้วยความที่ปลั๊กในครัวที่เสียบหม้อข้าวประจำเสีย คุณแม่ก็เลยต้องวางหม้อหุงข้าวไว้ที่พื้นครัวแทน พอหุงข้าวเสร็จก็รีบออกไปทันที แต่ไม่ถึง 10 นาที พี่คนข้างบ้านก็โทรมาบอกว่า ลูกโดนหม้อหุงข้าวนะ ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล
คุณแม่กลับมาก็เห็นว่ามือน้องพันผ้าไว้ เลยยังไม่เห็นแผล แต่พอวันต่อมาไปตามที่คุณหมอนัดล้างแผล พอหมอเปิดผ้าเท่านั้นแหละ แม่ใจแทบขาด เพราะไม่คิดว่ามือลูกจะพองมากถึงขนาดนี้ เลยโทรไปถามคุณพ่อว่าลูกโดนหม้อหุงข้าวแน่เหรอ คุณพ่อก็บอกว่าใช่ ซึ่งหลังจากวันเกิดเหตุคุณพ่อก็ไม่ได้มาดูน้องอีกเลย
และนี่คือแผลน่าสุดของน้องค่ะ คุณหมอได้ทำการตัดหนังที่พองออกและใช้แล้วปิดด้วยแผ่นช่วยสร้างเนื้อให้ โดยน้องจะต้องไปล้างแผลทุก ๆ 3 วัน จากนั้นอีกสองอาทิตย์คุณหมอถึงจะนัดดูแผลอีกทีนึง คุณแม่ยังเล่าอีกว่า โชคดีที่น้องไม่มีไข้อะไร ทานอาหารและเล่นได้ตามปกติ จึงอยากขอขอบคุณทุก ๆ กำลังใจ คำแนะนำและความช่วยเหลือจากทุก ๆ คนมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
สิ่งแรกที่ควรทำ เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
– ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
– หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
* แต่ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใด ๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ข้อห้าม เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
– ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใด ๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะ”ยาสีฟัน” “น้ำปลา” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น
การดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
การรักษาบาดแผลไฟไหม้ให้ได้ผลดีจำเป็นต้องให้วินิจฉัยดีกรีความลึกของบาดแผลไฟไหม้ได้ดี ด้วยเพราะ ปัจจุบันถ้าเป็นบาดแผลไฟไหม้ดีกรีตื้น นิยมรักษาโดยการทาด้วยครีมยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ (topical antibiotic treatment) หรือปิดผลิตภัณฑ์ปิดแผลต่างๆซึ่งมีหลายชนิดในท้องตลาดก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นบาดแผลไฟไหม้ดีกรีลึกการรักษาโดยวิธีผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า
การประเมินดีกรีความลึกของบาดแผลไฟไหม้
การประเมินความลึกของบาดแผลไหม้มีความสำคัญในการบอกถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บ การวางแผนการรักษา และผลการรักษา
ดีกรีความลึกของบาดแผลไฟไหม้ (Degree of burn wound) แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
– ระดับแรก (First degree burn)
– ระดับที่สอง (Second degree burn)
– ระดับที่สาม (Third degree burn)
1. แผลไหม้ระดับแรก (First degree burn)
การไหม้จะจำกัดอยู่ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) เท่านั้น โดยบาดแผลจะแดง (Erythema) แต่ไม่มีตุ่มพอง (Blister) มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อน โดยแผลประเภทนี้จะใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้(ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ) ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดได้แก่แผลไหม้จากแสงอาทิตย์ กลุ่มผู้ป่วยที่กลับจากการพักตากอากาศ ไปชายทะเลมา หรือเป็นพวก sun burn การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือดหรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน
การรักษาที่เหมาะสมคือ การใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก (Topical antibiotic treatment) หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ
2. แผลไหม้ระดับที่สอง (Second degree burn) แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด
– บาดแผลระดับที่สองชนิดตื้น (Superficial partial-thickness burn) จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น (ทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด) และหนังแท้ (dermis) ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ)
มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ ลักษณะอาการและบาดแผลโดยรวมคือมีตุ่มพองใส ถ้าลอกเอาตุ่มพองออก พื้นแผลจะมีสีชมพู ชื้นๆ มีน้ำเหลืองซึม และคนไข้จะมีอาการปวดแสบมากเพราะ เส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่ไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก การหายของแผลใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไม่เกิดแผลเป็น
การรักษาที่เหมาะสมคือ การใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก (Topical antibiotic treatment) หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ
– ส่วนบาดแผลระดับที่สองชนิดลึก (Deep partial-thickness burns) จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลระดับที่สองชนิดตื้น (superficial secondary degree burn) คือ จะไม่ค่อยมีตุ่มพอง, แผลสีเหลืองขาว, แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำเติม แผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ การใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ
3. แผลไหม้ระดับที่สาม(Third degree burn)
บาดแผลไหม้จะลึกลงไปจนทำลายหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล อาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก บาดแผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ หนาแข็งเหมือนแผ่นหนัง แห้งและกร้าน อาจเห็นรอยเส้นเลือดอยู่ใต้แผ่นหนานั้น และเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมดทำให้แผลนี้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด บาดแผลประเภทนี้จะไม่หายเอง จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง นอกจากนี้จะมีการดึงรั้งของแผลทำให้ข้อยึดติด เมื่อหายแล้วจะเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูนมาก (hypertrophic scar or keloid) มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง
การรักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
เมื่อได้รับบาดเจ็บ ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดประคบ เพราะอาจทำให้บาดแผลลึกมากขึ้นได้ ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง อาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อนและล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นใช้ผ้าสะอาดปิดแผลและไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาสีฟันหรือครีมอื่นใดชะโลมบนแผล เพราะอาจทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn) มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีวัสดุปิดแผลใหม่ๆ (Burn wound dressing product) ที่มีคุณภาพดีหลายชนิด การเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้องและการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกลงได้มาก และการเกิดแผลเป็นลดลง ดังนั้นหากมีบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาแผล superficial secondary degree burn ด้วยยาฆ่าเชื้อทาภายนอก (Topicial antibiotic) และ Burn wound dressing product
Topical antibiotic และ burn wound dressing product นั้นเหมาะที่จะใช้ในบาดแผลไฟไหม้แบบตื้น ที่เป็นแบบ superficial secondary degree burn โดย Topical antibiotic ที่นิยมใช้กันมากสุดคือ 1% ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (silver sulfadiazine) เพราะมีฤทธิ์กว้างในการครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีที่ใช้ไปนานๆเกิดเชื้อดื้อยา อาจเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่นตาม sensitivity ของเชื้อ เช่นใช้ Gentamicin cream ถ้าเป็นเชื้อ gram negative, ใช้เป็น Fucidine cream ถ้าเป็นเชื้อ gram positive เช่น Streptococcus, staphylococcus หรือเชื้อ MRSA, MEBO หรือ Oxoferin ช่วยกระตุ้น wound epithelization ใช้ดีในกรณีที่บาดแผลไฟไหม้ใกล้หายแล้ว
Burn wound dressing product มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันแพร่หลาย เช่น Acticoat, Urgotul SSD, Aquacel Ag, Mepitel, Askina Calgitrol Ag เป็นต้น ทุกผลิตภัณฑ์ใช้ได้ผลดี ถ้าเราเลือกใช้เหมาะกับดีกรีของบาดแผลได้ถูกต้อง จะเห็นได้ว่า จะได้ผลดีเมื่อเลือกใช้กับบาดแผลตื้น แบบ superficial secondary degree burn เท่านั้น ถ้าเป็นบาดแผลลึกตั้งแต่ deep secondary degree ถึง third degree burn นั้น การรักษาโดยการผ่าตัดได้ผลดีกว่า
แนวทางการดูแลบาดแผลไฟไหม้ที่มีความรุนแรงน้อยและแผลเฉพาะที่
1.สามารถให้การรักษาแบบคนไข้นอกได้ โดยล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ และถ้ามีคราบเขม่าติดแน่น อาจใช้สบู่ช่วยล้างออกได้ ห้ามถูแผลแรงๆ เพราะจะทำให้มีการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หลังจากล้างแผลแล้ว ใช้ผ้าที่ปราศจากเชื้อซับน้ำให้แห้ง ให้ยาปฏิชีวนะชนิดทาและให้ยากันบาดทะยัก
2.แผล Second degree burn ขนาดไม่กว้าง หลังจากล้างแผลแล้ว ทายาลงบนแผล และปิดทับด้วย non adherent dressing หรือปิดแผลด้วย biologic dressing เลย แล้วใช้ผ้าก๊อซหลายๆ ชั้นปิดทับอีกครั้ง
3.แผล Second degree burn ขนาดกว้างมากกว่า 3% หรือแผล Third degree burn ควรทาแผลด้วย topical chemotherapeutic agent แล้วปิดทับด้วย non adherent dressing และ ผ้าก๊อซหลายๆ ชั้น และควรเปิดแผลดูและเปลี่ยน dressing หลังจากนั้น 24-48 ชั่วโมง ถ้าแผลไม่มีอาการ ติดเชื้อก็ทิ้งไว้นาน 2-3 วัน จึงเปลี่ยนแผลอีกครั้ง ถ้าแผลไม่หายเองภายใน 3 อาทิตย์และมีขนาดใหญ่ควรทำ skin graft
4.บาดแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า ควรทาแผลด้วย 1% คลอแรมฟินีคอล (chloramphenicol ointment) และเปิดแผลทิ้งไว้ ควรทายาบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อไม่ให้แผลแห้ง ถ้าจะใช้ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (silver sulfadiazine) ต้องระวังอย่าให้ยาเข้าตา
5.บาดแผลไฟไหม้ที่มือ หลังจากทายาและปิดแผลแล้ว แนะนำให้ใส่เฝือกดาม ยกมือและแขนสูงกว่าระดับหัวใจ หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้ว สามารถถอดเฝือกออกและเริ่มทำการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณที่มีบาดแผลต่อ
6.บาดแผลไฟไหม้ที่ขา หลังจากทายาและปิดแผลแล้ว ให้ยกขาสูง และ bed rest นาน 72 ชั่วโมง แล้วจึงเริ่มให้เดินได้ ถ้าไม่มีแผลที่ฝ่าเท้า
7.บาดแผลไฟไหม้ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ (genitalia) ให้เปิดแผลทิ้งไว้หลังจากทายาแล้วโดยไม่ต้องปิด แผล ล้างแผลและทายาใหม่ทุกครั้งที่ขับถ่าย
8.บริเวณข้อต่อต่างๆของร่างกายที่มีแผลค่อนข้างลึก เช่น ข้อพับแขน ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ข้อเท้า ไหล่ คอ อาจเกิดแผลเป็นดึงรั้ง มีผลให้ข้อต่อต่างๆยึดติด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ ผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม และอาจเกิดความพิการขึ้นได้ ควรบริหารข้อต่อนั้นๆอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
9.เมื่อแผลหายดีแล้วต้องระวังไม่ให้ถูกแสงแดด 3-6 เดือน และใช้น้ำมันหรือครีมโลชั่นทาที่ผิวหนัง เพื่อลดอาการแห้งและคัน สำหรับแผลที่หาย โดยใช้เวลามากกว่า 3 อาทิตย์ หรือแผลที่หายหลังจากทำผ่าตัด skin graft แนะนำให้ใส่ผ้ายืด (pressure garment) เพื่อป้องกันแผลเป็นนูนหนา (hypertrophic scar)
ที่มา : คนท้องคุยกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ปฐมพยาบาลด่วน เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ตา จมูกของลูก
5 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกได้รับบาดเจ็บ