เส้นผมพันนิ้วทารก เรื่องใหญ่กว่าที่แม่คิด
คุณแม่ Kristina Clarke จากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้แชร์ประสบการณ์เรื่องนี้ไว้ว่า ขณะที่เธอกำลังจะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อย ก็ได้สังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างกับลูกสาววัย 5 เดือนของเธอ จนกระทั่งถอดถุงเท้าของลูกสาวออกมา แล้วพบร่องรอยผิดปกติ
นิ้วเท้าเล็กๆ ของ Bryleigh บวมๆ และมีสีผิดเพี้ยนจากปกติ ดูออกม่วงๆ สาเหตุเพราะเส้นผมรัดอยู่รอบนิ้วเท้า ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน (Hair Tourniquet) และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือเหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำกับเด็กทารก โดยเส้นผมที่อยู่ในถุงเท้าจะรัดแน่นบริเวณข้อนิ้วเท้า เพราะทารกมักจะดิ้นดุ๊กดิ๊กไปมา ผลก็คือ ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแน่น จนเกิดเป็นอันตรายร้ายแรงได้
ครีมกำจัดขน ช่วยแก้ปัญหา Hair Tourniquet
หลังจากที่ คุณแม่ Kristina เห็นเส้นผมที่พันแน่นหนาที่นิ้วเท้าของลูกสาว เธอก็รีบมองหาวิธีช่วยให้เส้นผมนี้หลุดออกไป แต่ยิ่งพยายามจะทำให้เส้นผมหลุดออกมามากเท่าไหร่ เส้นผมก็ยิ่งพันนิ้วเท้าลูกแน่นขึ้นเท่านั้น ครั้นจะหาอุปกรณ์คมๆ อย่างกรรไกรมาตัด ก็กลัวว่าจะพลาด ทำให้ลูกเป็นแผลจนเลือดไหล
ในที่สุด เธอก็ตัดสินใจรีบพาลูกไปโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอเองก็พยายามจะเอาเส้นผมออกจากนิ้วเท้าหนูน้อยอยู่นานหลายชั่วโมง จนกระทั่งมีคุณหมอคนหนึ่งเข้ามาแนะนำให้ใช้ ครีมกำจัดขน! ที่ช่วยให้เส้นผมขาดออกจากนิ้วเท้าของหนูน้อยได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ คุณหมอยังบอกด้วยว่า พบเคสแบบเดียวกันมาแล้วถึง 3 ราย ในสัปดาห์นี้
สำหรับเคส Hair Tourniquet หรือเส้นผมที่รัดนิ้วเท้าเจ้าตัวน้อย เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เช่น เหตุการณ์ของคุณพ่อ Scott Walker ที่พบว่านิ้วเท้าลูกสาวโดนเส้นผมในถุงเท้ารัดจนแน่น แต่ก็โชคดีเช่นกัน เพราะคุณหมอสามารถเอาออกได้ก่อนจะเกิดอันตราย
Hair Tourniquet หรือ Toe-Tourniquet Syndrome อันตรายที่ต้องระวัง
สำหรับ Hair Tourniquet หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Toe-Tourniquet Syndrome เกิดได้ทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า โดยเด็กทารกอาจจะถูกเส้นผมหรือเส้นด้าย ที่อยู่ในถุงมือหรือถุงเท้า พันบริเวณนิ้วจนแน่นหนา เกิดเป็นรอยแผลบาดลึก อาจกระทบต่อระบบไหลเวียนของเลือด หรือเกิดแผลติดเชื้อจนต้องผ่าตัดนิ้ว
ทางที่ดี พ่อแม่ต้องหมั่นตรวจเช็คสิ่งของทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูก ตรวจตราไม่ให้มีเส้นผมติดอยู่ภายในถุงเท้า และที่สำคัญ ต้องหัดสังเกตอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของลูกเป็นประจำ หากพบสิ่งผิดปกติก็อย่านิ่งนอนใจ รีบพาลูกไปโรงพยาบาลนะคะ
ที่มา : ph.theasianparent.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เคล็ดลับจัดการ “ฝุ่น”…ภัยร้ายตัวจิ๋วรอบตัวลูก
ภัยในร้านอาหาร เมื่อลูกเกือบกลืนเศษพลาสติกลงคอ