เรื่องราวที่จะแชร์ดังต่อไปนี้ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของเพจ HerKid รวมพลคนเห่อลูก ซึ่งคุณแม่เล่าว่า ลูกสาวของคุณแม่ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ซื้อยามากินก็ไม่ดีขึ้น จากนั้นก็เริ่มมีน้ำมูกสีเขียว น้ำตาเริ่มไหล จึงคิดว่าลูกคงไม่สบายตัว พอตอนเย็นตาของลูกเริ่มบวมแดงแต่ก็ยังไม่มาก จึงคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เพราะน้องก็เล่นได้กินได้ปกติไม่งอแงอะไร อาจเป็นเพราะน้องเอามือถูตาก็เป็นได้
พอวันที่สอง น้องเริ่มมีไข้ มีน้ำมูก ตาเริ่มบวมเยอะขึ้น คุณแม่เห็นท่าไม่ดี จึงรีบพาลูกไปคลีนิค หมอจึงได้ให้ยาแก้อักเสบ ยาลดบวมมาให้ทาน ตกกลางคืนน้องเริ่มซีด ตาไม่ดีขึ้น กินนมไม่ได้ คุณแม่เห็นท่าไม่ดี จึงรีบไปโรงพยาบาลตอน 5 ทุ่ม พอหมอเห็นเท่านั้นแหละ รีบให้แอดมิททันที หมอบอกว่า “นี่ถ้ามาช้าหรือรออาจทำให้น้องตาบอดได้”
หมอบอกว่า “น้องติดเชื้อไซนัสอักเสบลงตาทำให้ตาบวม ต้องล้างจมูกโดยใช้เครื่องล้างและยังต้องฉีดยาฆ่าเชื้อให้ แต่ตอนแรกดูเหมือนน้องจะไม่ดีขึ้น หมอจึงเป็นมาเป็นยาอีกตัวให้ คราวนี้ตาของน้องเริ่มยุบลง แต่ไข้ยังไม่ยอมลด หมอจึงเปลีี่ยนเป็นยาฆ่าเชื้อแบบแรงให้แทน”
น้องเริิ่มมีิอาการดีขึ้น ตายุบลง ไข้เริ่มหาย หมอจึงให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือวันละ 3 เวลาคือ เช้า กลางวันและเย็น ตอนนี้น้องก็ยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ จึงอยากฝากเตือนแม่ ๆ ทุกคนให้เห็นความสำคัญของการล้างจมูกว่าสำคัญและจำเป็นจริง ๆ”
ล้างจมูกไปเพื่ออะไร
การล้างจมูกเป็นการชะล้างน้ำมูก หนอง ฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออก เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก หรือปวดบริเวณไซนัส ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ลดอาการแทรกซ้อนจากโรคหวัด ทำให้โพรงจมูกสะอาด หายใจได้คล่อง เป็นวิธีที่ปลอดภัยในการรักษาโรคจมูก และไซนัสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ประโยชน์ของการล้างจมูก
- ช่วยล้างน้ำมูกที่เหนียวข้นให้ออกจากโพรงจมูก
- ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
- ทำให้อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น ลดน้ำมูกและเสมหะที่จะไหลลงคอ
- ลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ และสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก
- ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกไปยังหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอด
- บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก โดยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้หายใจโล่งขึ้น
อุปกรณ์สำหรับการล้างจมูก
1. น้ำเกลือเข้มข้น 0.9% หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
2. ถ้วยหรือภาชนะสำหรับใส่น้ำเกลือ
3. ไซริงค์แบบไม่มีเข็ม
- เด็กแรกเกิด -1 ปี ใช้ขนาดไม่เกิน 5 cc.
- เด็กอายุ 1-5 ปี ใช้ขนาด 5–10 cc.
4. ลูกยางแดงสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะสำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
- เด็กแรกเกิด -1 ปี ใช้เบอร์ 0–2
- เด็กอายุมากกว่า 1 ปี ใช้เบอร์ 2–4
5. ผ้าขนหนูสะอาดหรือทิชชู
ขั้นตอนการล้างจมูก
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนล้างจมูกให้ลูก
- สำหรับเด็กเล็กให้ลูกอยู่ในท่านอน ยกศีรษะให้สูง เพื่อป้องกันการสำลัก ส่วนเด็กโตให้นั่งหรือยืนก้มหน้า
- ใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือขึ้นมา แล้วค่อยๆ หยดใส่ในรูจมูกของลูกน้อยทีละน้อย หากคุณแม่ท่านไหนพอมีเวลา อาจนำน้ำเกลือไปอุ่น โดยเทใส่ถ้วยหรือภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วแช่ในน้ำร้อน (ก่อนนำน้ำเกลือมาล้างจมูก คุณแม่ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อนว่าไม่ร้อนจนเกินไป) เพราะการใช้น้ำเกลือที่อุ่นมาล้างจมูก จะช่วยทำให้ไม่เกิดอาการคัดจมูกหลังการล้างได้
- สำหรับเด็กเล็กที่ไม่สามารถสั่งน้ำมูกได้เอง ให้ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1– 5 ซม.
- ใช้ผ้าขนหนูหรือทิชชูเช็ดน้ำที่ไหลออกมาจากรูจมูก ส่วนที่ไหลเข้าปากลูกสามารถกลืนลงไปได้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับลูกหรือไม่
- เทน้ำเกลือที่เหลือทิ้ง ไม่ควรเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป หรือเทกลับเข้าไปในขวดเดิม
- ทำเช่นนี้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก จะช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูกของลูกได้อย่างดี
ข้อแนะนำ
ควรล้างจมูกก่อนทานอาหาร หรือหลังอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ขณะที่ท้องยังว่าง เพื่อป้องกันการสำลักและอาเจียน
ขอบคุณที่มา: Herkid รวมพลคนเห่อลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยเป็นหวัดVSไซนัสอักเสบ
สิ่งที่หมอเด็กอยากบอก เมื่อเด็กเล็กเป็นหวัด