คุณแม่ท่านนี้ได้โพสต์แชร์เรื่องราวของตัวเธอและลูก ๆ หลังป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส แต่ด้วยความที่เธอและลูกคนโตเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว จึงไม่ได้เป็นอะไรมาก โชคร้ายที่ลูกชายวัยเพียง 11 เดือนของเธอก็ต้องป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน
ในที่สุด ลูกชายคนเล็ก ก็ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล Ipwich Hospital หลังมีเม็ดขึ้นตามร่างกาย ผลการตรวจทำเธออึ้ง เมื่อหมอบอกว่าลูกชายติดเชื้อไวรัสชื่อว่า วาริเซลล่า แม่กล่าวว่า ลูกของเธอเด็กเกินกว่าที่จะเป็นโรคอีสุกอีใส เขามีอายุได้เพียงแค่ 11 เดือนเท่านั้น และเพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยกับทุก ๆ คน คุณแม่ท่านนี้จึงอยากเตือนให้ทุกครอบครัวให้ความสำคัญกับการพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสด้วย เพราะโรคอีสุกอีใสนั้นน่ากลัวกว่าที่เราคิด และเป็นอะไรที่น่าสงสารมากหากเด็กตัวเล็ก ๆ ต้องมาป่วยเป็นโรคนี้
โรคอีสุกอีใสเกิดจากอะไร?
โรคสุกใสหรืออีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า วาริเซลล่า (Varicella) ซึ่งติดต่อได้ง่ายๆโดยการหายใจรดกัน ไอจามใส่กัน และการสัมผัสตุ่มแผลของโรคโดยตรงหรือสัมผัสของใช้ผู้ป่วยเช่น ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จึงสามารถติดต่อได้ง่ายในเด็กที่อยู่ร่วมกันที่โรงเรียนค่ะ
อาการของโรคอีสุกอีใสเป็นอย่างไร?
อาการของโรคจะเริ่มจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว แล้วจึงมีผื่นแดงขึ้น ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ขึ้นตามหน้า ลำตัว หลัง และแขนขา โดยผื่นแต่ละบริเวณของร่างกายอาจมีลักษณะของผื่นแตกต่างกัน เช่น ที่แขนขาเริ่มเป็นผื่นแดง ที่หลังเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนที่หน้าเริ่มแห้งและตกสะเก็ด
หากลูกเป็นอีสุกอีใสคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไร?
เนื่องจากอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายได้เอง และอาการไม่รุนแรงในเด็ก หากลูกมีอาการของโรคอีสุกอีใส และมีไข้ต่ำๆ คุณพ่อคุณแม่อาจดูแลลูกที่บ้านได้โดยให้ทานยาลดไข้พาราเซตามอล เช็ดตัวลดไข้ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ ร่วมกับสังเกตอาการของลูก ถ้ามีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจหอบ ชัก ซึมลง ควรไปพบคุณหมอค่ะ
ให้ลูกทานยาเขียวได้หรือไม่?
ยาเขียว เป็นยาตำรับไทยที่ใช้มานานในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น มีส่วนผสมทำจากใบไม้สีเขียวและสมุนไพรต่างๆ มีความเชื่อว่าช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น โดยยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ายาเขียวมีฤทธิ์ต้านไวรัสโรคอีสุกอีใส ดังนั้นการทานยาเขียวอาจไม่ได้มีประโยชน์อย่างชัดเจนในการรักษาโรคอีสุกอีใส แต่ก็ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกายอย่างชัดเจนเช่นกัน มีข้อควรระวังคือ ยาเขียวบางตำรับมีส่วนผสมของดอกไม้ จึงควรหลีกเลี่ยงหากลูกแพ้เกสรดอกไม้นะคะ
หากไม่ต้องการให้ลูกมีแผลเป็นจากอีสุกอีใสควรทำอย่างไร?
แผลเป็นจากอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้โดยไม่ไปแกะเกาตุ่มสุกใส ถ้าลูกมีอาการคันก็ควรทานยาแก้คัน นอกจากนี้ควรตัดเล็บให้สั้นเพราะเชื้อแบคทีเรียจากมือและเล็บสามารถเข้าสู่ กระแสเลือดได้จากการแกะเกาตุ่ม จนเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนอย่างรุนแรงที่อวัยวะภายในต่างๆตามมาได้
เราจะป้องกันการติดเชื้ออีสุกอีใสได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคสุกใสสามารถติดต่อได้โดยการไอจามและหายใจรดกัน รวมทั้งสัมผัสกับผื่นของโรคหรือของใช้ส่วนตัวผู้ป่วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับเพื่อนที่เป็น อีสุกอีใส ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาด นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสซึ่งฉีดได้ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
หากลูกเป็นอีสุกอีใสจะสามารถไปโรงเรียนได้เมื่อไร?
โดยทั่วไประยะที่สามารถติดต่อได้ของสุกใสคือตั้งแต่ 48 ชั่วโมงก่อนจะมีผื่นขึ้น (ซึ่งทำให้เด็กๆอาจไปสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสก่อนจะมี อาการ โดยไม่รู้ตัวได้) จนถึงระยะที่ผื่นแห้งเป็นสะเก็ดหมดทุกตุ่มทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการป่วย ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนนะคะ
ที่มา: Theindusparent
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อีสุกอีใสตอนท้อง ลูกเสี่ยงพิการ