แม่เล่า ลูกเป็นโรคความบกพร่องของกระดูกสันหลัง เพราะขาดโฟลิก

เพื่อให้คุณแม่ท้องทุกคนเห็นความสำคัญกับการทานกรดโฟลิค คุณแม่ Thanya Rat จึงได้แชร์เรื่องราวของตัวเอง เพราะหวังให้เกิดกับประโยชน์กับทุกครอบครัว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คุณแม่เล่าว่า ในขณะที่ท้องได้ 23 สัปดาห์ คุณแม่ก็ไปพบกับคุณหมอตามนัด โดยคุณหมอบอกว่า คุณแม่ได้น้องผู้หญิง คุณแม่รู้สึกดีใจมาก แต่เอะใจตรงที่ คุณหมอซาวด์ดูที่สมองของน้องนานมาก สักพักหมอก็บอกว่า น้องมีน้ำในสมอง 11.8 มิลลิลิตร คุณหมอจึงเขียนใบส่งตัวให้คุณแม่ไปยื่นรักษาต่อยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด

เมื่อไปถึงคุณหมอที่โรงพยาบาลก็ได้ตรวจเช็คอีกรอบว่า ทารกในครรภ์นั้นมีน้ำในสมองจริงหรือไม่ ผลคือจริงตามที่คุณหมอท่านแรกบอก เลยทำใบส่งตัวให้ไปโรงพยาบาล มอ. หาดใหญ่ พอไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอก็ให้ซาวด์อีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ เป็นการทำอัลตราซาวด์แบบสี่มิติ พบว่าน้องมีน้ำในสมอง 13 มิลลิลิตรในช่องสมองและบริเวณกระดูกสันหลังข้อสุดท้าย (บริเวณก้น) และขาของน้องผิดรูป

คุณหมอบอกว่า น้องอาจมีปัญหาที่ระบบขับถ่ายและการเดิน เพราะถุงน้ำที่ก้นไปดึงเส้นประสาทลงไปด้วย ซึ่งขณะนั้นน้องน้ำหนักได้ 504 กรัม เริ่มที่จะดิ้นแล้ว คุณหมอจึงเฝ้านัดดูอาการของน้อง โดยคุณหมอเฉพาะทาง จะทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อวัดขนาดศีรษะ ขนาดถุงน้ำที่ก้น ขนาดเนื้อสมองที่เหลือในทุก ๆ เดือนจนกว่าจะผ่าตัด และจะนัดตรวจคลื่นหัวใจของน้องทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อจะได้ดูว่าน้องยังแข็งแรงดีหรือไม่

24 สิงหาคม 2559 คุณหมอได้นัดผ่าคลอด ก่อนผ่าพบว่า น้องมีน้ำในสมอง 27 มิลลิลิตร สายสะดือพันคอสองรอบ คุณหมอพยายามดึงน้องออกมาเท่าไหร่ ก็ไม่ยอมออก สะบัดขาหลุดจากมือของคุณหมอ พอคุณหมอสามารถนำตัวน้องออกมาได้ น้องก็ไม่ร้อง คุณหมอจึงกระตุ้นน้องด้วยการตี ไม่นานน้องก็ร้องเสียงดังมาก น้ำหนักแรกคลอดคือ 3,020 กรัม หลังจากที่น้องคลอด คุณหมอก็เตรียมพาน้องไปผ่าตัดปิดกระดูกสันหลังในวันรุ่งขึ้นเลย เนื่องจากในถุงน้ำนั้นมีเส้นประสาทของกระดูกสันหลังอยู่ คุณหมอเลยต้องเอาเส้นประสาทนั้นใส่เข้าไปในตัวของน้องเหมือนเดิม แล้วเย็บปิดแผลโดยดึงเนื้อข้าง ๆ มาปิด โดยสาเหตุที่คุณหมอต้องทำการผ่าตัดเลยนั้น เป็นเพราะถ้าหากผ่าช้าเกินไป เด็กจะเสียชีวิตภายในสามวัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

25 สิงหาคม 2559 น้องเข้าห้องผ่าตัด น้องเข้าห้องผ่าตัดเวลา 09.28 น. และออกจากห้องประมาณเวลา 13.48 น. คุณหมอได้พาตัวน้องไปอยู่ในห้อง NICU เหมือนตอนแรกคลอดใหม่ ๆ อาการของน้องคงที่ กินนมแม่ได้ แข็งแรงทุกอย่าง แต่คุณหมอจะพยายามให้น้องนอนหลับเสียมากกว่า เพราะเวลาตื่นน้องจะร้องเพราะความเจ็บปวด ผ่านมาสองสามวัน อาการยังคงที่ น้องยังคงต้องใส่ออกซิเจนอยู่ เพราะออกซิเจนในเลือดต่ำ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

29 สิงหาคม 2559 พยาบาลโทรมาบอกให้คุณแม่เข้าไปคุยกับคุณหมอ พร้อมเซ็นเอกสาร โดยคุณหมอมีแผนที่จะผ่าตัดใส่สายระบายน้ำในสมองของน้องในวันรุ่งขึ้น

30 สิงหาคม 2559 คุณแม่ไปถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตีห้า โดยคุณหมอเรียกเข้าไปพบตอนประมาณเจ็ดโมงกว่า ๆ และให้มาดูแผลที่ก้นของน้อง คุณหมอถามว่า รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่าลูกเป็นแบบนี้ คุณแม่จึงตอบไปว่า รู้ตั้งแต่อยู่ในท้องตอนตั้งครรภ์ได้ 23 สัปดาห์แล้ว คุณหมอจึงบอกว่า น้องมีปัญหาระบบประสาทเสียส่วนใหญ่ จากการที่คุณหมอได้ทำการผ่าตัดปิดรูรั่วตรงกระดูกสันหลัง ถ้าน้ำในโพรงสมองมากเกินไป แผลที่กระดูกสันหลังจะเริ่มนูนและบวม แต่ตอนนี้ยังบวมไม่เยอะ เลยจะยังไม่ผ่า แต่ต้องขอดูอาการน้องเป็นวัน ๆ ไป วันไหนที่นูนกว่านี้ก็จะทำการผ่าเลย

31 สิงหาคม 2559 คุณแม่มาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เช้า พยาบาลแจ้งว่า คุณหมอจะทำการผ่าตัดน้องในวันนี้ พอได้ฟังแค่นั้นหัวใจของแม่เหมือนจะขาด รู้สึกสงสารลูกจับใจ และทุก ๆ วัน คุณแม่จะพูดให้กำลังใจกับลูกอยู่เสมอ และในวันนั้น เหมือนลูกจะรับรู้ได้ ก็เอามือมาจับนิ้วของคุณแม่และบีบแน่นจนหลับไป คุณแม่จึงบอกกับลูกว่า “อดทนนะลูก หนูไม่ต้องกลัวนะ แม่จะไม่ทิ้งหนูไปไหม ไม่ว่าหนูจะเป็นอย่างไร แม่จะขอดูแลหนูเอง ตอนนี้อดทนนะลูก แล้วเราจะกลับบ้านไปพร้อม ๆ กัน” หลังจากที่น้องผ่าตัดเสร็จ ก็ออกมาจากห้องแล้วเข้าพักรักษาตัวอยู่ในห้อง NICU ต่อ น้องสู้มาก ๆ ไม่นานก็สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจ และสามารถหายใจได้เอง ซึ่งในระหว่างนี้ หากน้องไม่มีภาวะติดเชื้อก็จะสามารถกลับบ้านได้
ไม่นานคุณหมอก็ทำการตัดไหมที่ศีรษะ หลังและท้อง พร้อมทั้งอนุญาตให้น้องกลับบ้านได้ในที่สุด ซึ่งคุณหมอกล่าวว่า ขาของน้องนั้นผิดรูปและข้อเท้าบิด ไม่สามารถยืดขาได้สุด ทำให้ไม่สามารถเดินได้ คุณหมอยังไม่สามารถทำการรักษาขาให้น้องได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ถึงวัย จึงแนะนำให้รักษาด้วยการนวด การกายภาพไปก่อน ซึ่งน้องจะสามารถเดินได้ขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับตัวของน้องเองว่า จะตอบสนองต่อการรักษามากแค่ไหน และต่อให้เดินได้ น้องก็จะไม่มีโอกาสกลับไป 100 เปอร์เซ็นเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ และถ้าร้ายแรงมาก น้องอาจจะต้องโดนผ่าตัดขา
ในส่วนของระบบขับถ่ายนั้น คุณหมอบอกว่า น้องไม่สามารถอั้นปัสสาวะได้ จริงอยู่ที่ตอนนี้น้องยังเป็นเด็กทารกอยู่ แต่เมื่อโตขึ้นน้องจะมีปัญหาในเรื่องของการอั้นปัสสาวะ โดยเด็กทั่วไปเมื่อโตขึ้นก็จะสามารถอั้นได้ แต่น้องจะอั้นไม่ได้ และต่อให้ฝึก ก็ไม่สามารถกลับไปปกติได้ 100 เปอร์เซ็นเช่นกัน
คุณหมอบอกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากตอนท้องช่วงแรก ๆ นั้น คุณหมอไม่ได้ให้กรดโฟลิกมาทาน และให้มาแค่ยาบำรุงและยาแก้แพ้เท่านั้น “อยากให้คุณแม่ทุกท่านที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ได้ใช้เรื่องราวของคุณแม่ไว้เป็นข้อมูล และใส่ใจกับการทานกรดโฟลิคไว้ให้มาก ๆ ถ้าหากคุณหมอไม่ได้ให้มา ก็ควรที่จะหาซื้อทาน และทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เช่นกัน”
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคน ขอขอบคุณคุณแม่ Thanya Rat มาก ๆ นะคะ ที่ได้แชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับพวกเราทุกคนได้ฟัง และขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่และน้องกิมหยกมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ และสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกท่านคะ กรดโฟลิคนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมาจากยาที่คุณหมอสั่งให้เพียงอย่างเดียว ยังสามารถหาได้จากผักและผลไม้เช่นกัน จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันค่ะ
  1. นมสำหรับแม่ 1 แก้ว มีปริมาณโฟลิก = 300  ไมโครกรัม
  2. ถั่วเลนทิลต้ม ½ ถ้วย มีปริมาณโฟลิก = 180  ไมโครกรัม
  3. กระเจี๊ยบมอญต้ม ½ ถ้วย มีปริมาณโฟลิก = 134 ไมโครกรัม
  4. หน่อไม้ฝรั่งสุก 6 หน่อ มีปริมาณโฟลิก = 132  ไมโครกรัม
  5. ผักปวยเล้งสุก ½ ถ้วย มีปริมาณโฟลิก = 130  ไมโครกรัม
  6. ถั่วแดง ½ มีปริมาณโฟลิก = 114 ไมโครกรัม
  7. อะโวคาโดสดขนาดกลาง ½ ผล มีปริมาณโฟลิก = 80 ไมโครกรัม
  8. น้ำส้มคั้นสด 1 แก้ว มีปริมาณโฟลิก = 80  ไมโครกรัม
  9. ข้าวโพดนึ่งฝักใหญ่ 1 ฝัก มีปริมาณโฟลิก = 55  ไมโครกรัม
  10. บร็อกโคลี่สุก ½ ถ้วย มีปริมาณโฟลิก = 52  ไมโครกรัม

ที่มา: คุณแม่ Thanya Rat

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
 บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

บทความโดย

Muninth