ปัญหามะเร็งปากมดลูก ถือเป็นโรคร้ายแรงที่คนไทยต้องเผชิญ พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของหญิงไทย คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากถึงปีละประมาณ 5,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย!!!
ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้บอกถึงเรื่องนี้ว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติมีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปี
ขั้นตอนต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ ภายในปี 2560 โดยนำร่องให้บริการเด็กหญิงที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 ประมาณ 400,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งช่วงวัยของเด็กหญิงกลุ่มนี้ ถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการได้รับวัคซีน สอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก จากเดิมที่ต้องฉีด 3 เข็ม จะฉีดแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน นอกจากจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ยังคุ้มทุนกับการนำมาใช้และช่วยให้ทุ่นค่าใช้จ่ายลงได้
“ที่ผ่านมา การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทยได้มีมติเห็นชอบ แนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีนเอชพีวี) มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง สอดคล้องกับผลการศึกษานำร่องในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ที่พบว่าได้รับการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของกลุ่มเป้าหมายในเกณฑ์ดี ไม่มีอาการภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่” นายแพทย์อำนวย กล่าว
การให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะช่วยลดความสูญเสียชีวิต นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้ วัคซีนเอชพีวี ยังเป็นวัคซีนที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้เตรียมที่จะขยายสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนสำหรับเด็กเพิ่มเติม โดยได้จัดทำคำของบประมาณปี 2560 เพื่อรองรับการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวี ในสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพเรียบร้อยแล้ว หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา : pr.moph.go.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ระวัง! อาหารเสี่ยงมะเร็งที่แม่อาจเผลอให้ลูกกินบ่อยๆ
10 สัญญาณโรคมะเร็งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้