ทำไมคนท้องปวดปัสสาวะบ่อย ปวดเยี่ยวคั้น ปัสสาวะแสบขัด
การปวดปัสสาวะบ่อยในคนท้องถือเป็นอาการแรกเริ่มอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น จนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะจุได้น้อยลง ในขณะเดียวกันไตก็ทำงานหนักขึ้น เพราะร่างกายต้องผลิตเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากกว่าปกติ เมื่อเลือดผ่านไตมากขึ้น ไตก็ต้องกรองเอาปัสสาวะออกมามากขึ้น จึงทำให้คุณแม่ท้องปวดปัสสาวะบ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
สำหรับไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะปวดปัสสาวะบ่อยอีกช่วงหนึ่ง เนื่องจากช่วงใกล้คลอด ศีรษะของลูกน้อยจะลดต่ำลงไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยไปจนกว่าจะคลอดเลยค่ะ
ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะแสบขัด ปัญหาใหญ่ของคนท้องที่ชอบกลั้นปัสสาวะ
การที่คุณแม่ท้องปัสสาวะบ่อย ถือเป็นเรื่องปกติของคนท้อง แต่หากคุณแม่มีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือสีของปัสสาวะเปลี่ยนไป นั่นแสดงความคุณแม่มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ทำไมคุณแม่ท้องจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
เนื่องจากการขยายขนาดและการบิดของมดลูกไปเบียดท่อไตที่ขอบกระดูกอุ้งเชิงกราน ทำให้ขัดขวางการไหลของปัสสาวะ ประกอบกับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของปัสสาวะ และเพิ่มโอกาสติดเชื้อขึ้นไปสู่ไตได้ง่ายขึ้น
สัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- สังเกตเห็นสีของปัสสาวะเปลี่ยนไป เช่น จากสีขาวใสหรือเหลืองใส เป็นขาวขุ่นหรือเหลืองขุ่น หรือเป็นสีส้มหรือสีแดงคล้ายเลือด แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ แต่ยังไม่มี การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สามารถพบได้ร้อยละ 5-6 ในคุณแม่ตั้งครรภ์
- ปัสาสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะแบบกะปริบกะปรอย แสดงว่ามีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในคุณแม่ตั้งครรภ์ พบบ่อยในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
- มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบั้นเอว กดแล้วเจ็บบริเวณหลัง แสดงว่ามีการติดเชื้อในระดับกรวยไตอักเสบ พบได้ถึงร้อยละ 30 ในคุณแม่ที่มีเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะแต่ไม่ได้รับการรักษา โดยมักเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอันตรายต่อแม่ท้องอย่างไร คลิกหน้าถัดไป>
การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอันตรายต่อแม่ท้องอย่างไร
หากคุณแม่ท้องไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เอง และลูกน้อยในครรภ์ เพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนด ทารกตัวเล็กน้ำหนักน้อย หรืออาจตายแรกคลอด หากติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะไตล้มเหลวได้
การรักษาพยาบาล
- เมื่อพบเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะแต่ยังไม่แสดงอาการ มีแนวทางการรักษาดังนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะทุก 6 ชั่วโมง อย่างน้อย 7-10 วัน
- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า ไม่สวนล้างช่องคลอด
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ 2,000-3,000 ซีซี เพื่อให้ปัสสาวะเอาเชื้อแบคทีเรียออกมา
- รับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
- เมื่อกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีแนวทางการรักษาดังนี้
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ 2,000-3,000 ซีซี
- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า ไม่สวนล้างช่องคลอด
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
- ไม่ควรสวมกางเกงในที่รัดหรือคับเกินไป
- รับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง
- เมื่อกรวยไตอักเสบ มีแนวทางการรักษาดังนี้
- สวนปัสสาวะเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์
- ให้ Antibiotic
- นอนพักบนเตียงในท่าตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้มากขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และทำ intake output
- ตรวจวันสัญญาณชีพของแม่และฟังเสียงหัวใจของลูกบ่อยๆ
- หากให้การรักษา 12 ชั่วโมงแล้วไม่ได้ผล คุณหมอจะอัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูความผิดปกติในทางเดินปัสสาวะ
- หลังคลอด 12 สัปดาห์ ควรตรวจซ้ำ เนื่องจากมีโอกาสเป็นซ้ำถึง 30-40% ในคุณแม่ท้องที่เคยติดเชื้อ
- หากไม่มีไข้ 24 ชั่วโมง คุณหมอจะให้ antibiotic 7-10 วัน หลังจากนั้นจะทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ 1-2 สัปดาห์
การป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับแบคทีเรียและเชื้อโรคออกไปพร้อมกับปัสสาวะให้มากที่สุด
- ไม่กลั้นปัสสาวะ ควรลุกไปเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่ปวด เพื่อกำจัดแบคทีเรียบางส่วนออกไป
- ใช้น้ำเปล่าล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ไม่สวนล้างช่องคลอด เพื่อไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดถูกทำลายจากน้ำยาอนามัยต่างๆ
- หลังจากปัสสาวะหรืออาบน้ำเสร็จควรใช้ผ้าซับให้แห้งทุกครั้ง
- สวมใส่กางเกงในที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันการอับชื้น และเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย
- ใช้ห้องน้ำสาธารณะด้วยความระมัดระวัง
หากคุณแม่ท้องสังเกตพบความผิดปกติตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ นะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ :
ข้อห้าม 7 อย่างที่คุณไม่ควรทำกับช่องคลอด
รู้ไว้ไม่เสี่ยง! 6 ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก