โรคภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ในแม่ท้อง อันตรายแค่ไหน
ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่มีอันตรายมาก สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ เพื่อความปลอดภัย หญิงที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และยังมีอาการของโรคหรือยังควบคุมโรคได้ไม่ดี จะได้รับคำแนะนำให้รักษาโรคให้เป็นปกติก่อนวางแผนการมีบุตรหรือตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วจะต้องรับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยสูติแพทย์และอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ
การรักษาโรคภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินในแม่ท้อง
การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินระหว่างการตั้งครรภ์ จะเน้นไปที่การใช้ยารักษาเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้เป็นปกติ แต่ในบางรายที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานด้วยยาได้ อาจต้องได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ระหว่างการตั้งครรภ์
ความเสี่ยงของแม่ท้องและลูกในครรภ์
ถึงแม้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจะมีอาการปกติ ก็ยังพบว่ามีความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์หลายอย่างมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
ด้านแม่
- พบภาวะครรภ์เป็นพิษ
- หัวใจล้มเหลว
ด้านลูก
- พบภาวะคลอดก่อนกำหนด
- ทารกตัวเล็ก
- การทำงานของต่อมไทรอยด์ในลูกทำงานผิดปกติ
ไทรอยด์คืออะไร
ไทรอยด์ คือ อวัยวะที่อยู่ตรงบริเวณคอใกล้กับลูกกระเดือกมีรูปร่างคล้ายเกือกม้า หรือผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่จำเป็นต่อร่างกายในกระบวนการเผาผลาญและใช้พลังงาน และมีผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ
ทำไมฮอร์โมนไทรอยด์จึงสำคัญในขณะตั้งครรภ์
ฮอร์โมนไทรอยด์นั้นช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ หากขาดฮอร์โมนดังกล่าวก็จะส่งผลให้อวัยวะของทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่สมบูรณ์ ทั้งยังทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางระบบประสาท กล้ามเนื้อ พัฒนาการทางสมอง แคระแกรน และทำให้เป็นโรคเอ๋อได้เป็นต้น
ไทรอยด์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์
โรคไทรอยด์เป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาโปน มือสั่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย คอพอก ประจำ เดือนผิดปกติ ขี้ร้อน น้ำหนักลดแม้ว่าจะรับประทานอาหารได้ดี
อาการของไทรอยด์เป็นพิษ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วแบบผิดจังหวะ
- มือสั่น น้ำหนักลด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
- ท้องเสียง่าย
- ตาโปนกว่าปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลัน
เห็นไหมคะว่าต่อมไทรอยด์นั้นสำคัญกับคุณแม่และลูกในครรภ์มากขนาดไหน ดังนั้น หากคุณแม่สงสัยว่าจะมีภาวะดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ให้ไวที่สุดนะคะ
ฮอร์โมนไทรอยด์ สำคัญอย่างไรในภาวะตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าต่อจากหลอดลม บริเวณคอด้านล่างจะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจากหลายกลไก ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่หลายอย่างที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ การเผาผลาญอาหารและไขมัน กระตุ้นการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และสมอง เป็นต้น
ดังนั้นหากในภาวะตั้งครรภ์มีการขาดฮอร์โมนตัวนี้ไป อาจทำให้ทารกในครรภ์มีการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เป็นโรคเอ๋อ เนื่องจากมีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ มีพัฒนาการทางสมอง สติปัญญาและร่างกายช้ากว่าปกติ มีโอกาสเตี้ยแคระแกร็น และทำให้ต่อมไทรอยด์ของทารกต้องทำงานหนักเพื่อผลิตฮอร์โมนจนเกิดภาวะคอพอกได้ ซึ่งถ้าหากรุนแรง คอพอกอาจมีขนาดใหญ่ จนกดการหายใจของทารกช่วงที่คลอดได้
อันตราย!! ไทรอยด์ตอนท้อง นับจากนี้ถึง 9 เดือนตอนอุ้มท้องต้องระวังให้ดี!
“โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้าง หรือหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เอง ที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้เพียงพอ อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ที่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่มากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย” (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)
ไทรอยด์ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เป็นยังไง อ่านหน้าถัดไปนะคะ >>
ไทรอยด์ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่
#ไทรอยด์บกพร่อง
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไทรอยด์อักเสบเรื้อรังหรือโรคภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ เป็นต้น หากมีอาการไทรอยด์บกพร่องขณะตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อย เป็นสาเหตุให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การตายคลอด รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารก
#ไทรอยด์เป็นพิษ
หากสังเกตุว่าระหว่างตั้งครรภ์มีเหงื่อออกมา ขี้ร้อนผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลียมาก หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก มีภาวะแพ้ท้องรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของอาการไทรอยด์เป็นพิษ มีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะตายคลอด หรือทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่ากำหนดและพิการ
#ต่อมไทรอยด์โตแต่ยังทำหน้าที่ปกติ
เกิดจากมีภาวะภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ ทำให้มีไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง เสี่ยงต่อต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ดังนั้นแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อเฝ้าระวังไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ
#ก้อนที่ต่อมไทรอยด์
โอกาสที่แม่ตั้งครรภ์จะเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีมากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
ป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นไทรอยด์ตอนท้อง
ก่อนที่คุณแม่จะตั้งครรภ์หรือวางแผนที่บุตร ควรได้รับการตรวจร่างกายและได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์จากแพทย์ โดยเฉพาะแม่ที่รู้ตัวว่ามีภาวะภูมิแพ้ ภูมิต้านทานผิดปกติ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารไอโอดีนในอาหารปริมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน และควรรับประทานอาหาร 5 หมู่ที่ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม ในมื้ออาหารเพื่อได้การบำรุงครรภ์ให้แม่และลูกในท้องมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคภัยในช่วงท้องกันนะคะ
นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3