องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าทารกแรกเกิดควรได้ดื่มนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด และควรดื่มแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต นอกจากนี้ WHO ยังแนะด้วยว่าเมื่อทารกเริ่มทานอาหารแล้ว ก็ยังควรให้นมแม่เสริมต่อไปจนเด็กอายุสองขวบเป็นอย่างน้อย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องนานกว่าขวบปีแรกเรียกว่า “การให้นมแม่ระยะยาว” ซึ่งสามารถทำได้นานเท่าที่แม่และลูกต้องการ จนกว่าลูกจะหย่านมเองตามธรรมชาติ หรือเมื่อคุณแม่อยากให้ลูกหย่านมค่ะ
เหตุผลในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระยะยาว
- เป็นช่วงเวลาสร้างสายใยรักระหว่างแม่กับลูก
- สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับทั้งแม่และลูก
- ความชอบส่วนตัวที่ต้องการให้ลูกได้นมแม่ถึงระยะหนึ่ง
- เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมที่เหมาะสมกับวัยที่สุด
- ความสะดวกสบาย
- ลูกมีภูมิต้านทานต่ำ
- ลูกไม่พร้อมหย่านม
ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระยะยาว
ข้อดีต่อแม่ได้แก่
- ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคซึมเศร้าหลังคลอด
- มีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก หากทานอาหารอย่างมีสมดุลย์และออกกำลังกายสม่ำเสมอไปด้วย
- เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ก็ยังมีสิทธิ์ตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากวิธีนี้ช่วยคุมกำเนิดได้ร้อยละ 98 ในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอดเท่านั้น
- เป็นวิธีหนึ่งในการหยั่งรากสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย
- ลดความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด หลังวัยหมดระดู
ข้อดีต่อลูกได้แก่
- นมแม่ในขวบปีที่สองยังคงเป็นแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมอันอุดมด้วยโปรตีน ไขมัน แคลเซียม วิตามิน รวมไปถึงภูมิต้านทานตามธรรมชาติ และเอนไซม์ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นทดแทนได้
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ลูกเจ็บป่วยน้อยลง และถ้าป่วยก็ฟื้นตัวเร็ว
- ลูกวัยซนที่ยังดื่มนมแม่จะมีปัญหาด้านพฤติกรรมน้อยกว่า เช่น การอยู่นิ่งไม่เป็น ความวิตกกังวลและการติดพ่อแม่ (ซึ่งมักถูกอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นผลเกี่ยวโยงจากการให้นมแม่ระยะยาว)
ระยะเวลาและความถี่ของการเลี้ยงลุูกด้วยนมแม่ในลูกวัยซนที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร อ่านต่อหน้าถัดไป >>
ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกวัยซน
แม่ที่เลือกให้นมแม่จะทราบดีว่าระยะเวลาให้นมแต่ละครั้งแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน การหลั่งของนมแม่และลักษณะที่ลูกดูดนม (เช่น ชอบดูดเร็วๆ หรือค่อยๆ ดูดอย่างช้าๆ) เป็นตัวกำหนดระยะเวลาให้นมแม่ในแต่ละครั้ง
เมื่อเข้าสู่วัยซน ลูกจะอยากเล่นสนุกและถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายในตอนกลางวัน ระยะเวลาให้นมแต่ละครั้งจึงมักจะสั้นลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ลูกยังเล็กกว่านี้ บ่อยครั้งที่ลูกจะอยาก “แวะ” มาดูดนมแม่แค่นิดหน่อยก่อนจะวิ่งกลับไปเล่นอย่างอื่นต่อ
ความถี่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในลูกวัยซน
ความถี่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อลูกวัยซนจะน้อยลงกว่าเมื่อแรกคลอด สำหรับลูกวัยซนแล้ว นมแม่คือแหล่งสร้างความอบอุ่นทางใจและความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าจะเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต
เด็กวัยซนอาจไม่มีตารางเวลาแน่นอนในการดื่มนมแม่ เช่น เด็กบางคนต้องการหนึ่งครั้งในตอนเช้าหลังตื่นนอน อีกครั้งตอนเที่ยงและอาจจะตบท้ายอีกทีก่อนเข้านอน ขณะที่บางคนอาจตื่นขึ้นมาดูดหลายครั้งตอนกลางคืน ไม่ใช่เพราะหิว แต่เพื่อความอุ่นใจว่าแม่ยังอยู่ใกล้ๆ เสมอ
ถ้าลูกเริ่มไปสถานรับเลี้ยงเด็ก คุณอาจพบว่าลูกจะอยากดื่มนมแม่ทันทีที่กลับถึงบ้าน นี่เป็นสัญญาณปกติที่บ่งว่าลูกของคุณเพียงแค่อยาก “ต่อติด” กับคุณหลังจากที่ต้องห่างกันระยะหนึ่ง
เมื่อลูกไม่สบาย โกรธ หงุดหงิดหรือกลัว ลูกมักจะมองหาคุณเพื่อดูดนมเป็นที่พักพิงทางใจ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องปกติเช่นกันค่ะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอาหารของลูกวัยซน
ความจริงแล้วนมแม่หลังขวบปีแรกยังคงอุดมด้วยสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีน ไขมัน แคลเซียม วิตามิน รวมไปถึงภูมิต้านทานตามธรรมชาติที่แหล่งอาหารอื่นไม่สามารถสร้างทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม นมแม่ควรเป็นเพียงอาหารเสริมสำหรับลูกวัยซน และคุณแม่ควรสังเกตปริมาณอาหารที่ลูกกินเพื่อความมั่นใจว่าลูกได้รับอาหารเป็นหลัก และมีนมแม่เป็นอาหารเสริม
ในช่วงขวบปีที่สองของลูก (วัย 12-23 เดือน) นมแม่ปริมาณ 448 มล. ประกอบด้วยสารอาหารดังนี้
- 29% ของพลังงานที่ลูกควรได้รับ
- 43% ของโปรตีนที่ลูกควรได้รับ
- 36% ของแคลเซียมที่ลูกควรได้รับ
- 75% ของวิตามินเอที่ลูกควรได้รับ
- 76% ของโฟเลตที่ลูกควรได้รับ
- 94% ของวิตามินบี 12 ที่ลูกควรได้รับ
- 60% ของวิตามินซีที่ลูกควรได้รับ
การให้นมแม่และอาหารที่แม่ควรรับประทาน
ส่วนประกอบในนมแม่จะเปลี่ยนแปลงและแปรผันไปตามความต้องการของลูก คุณแม่จึงควรใส่ใจอาหารที่ตนเองทานด้วยค่ะ
การให้นมแม่เผาผลาญพลังงาน 300-500 แคลอรีต่อวัน คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
รายการอาหารที่แม่ให้นมควรทานได้แก่
- อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักใบเขียวอย่างผักโขม คะน้า บร็อคโคลี เนื้อแดง รวมถึงธัญพืช ขนมปังและพาสต้าที่เสริมธาตุเหล็ก
- อาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น นมสด เต้าหู้ โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ปลาซาร์ดีน และขนมปังกับธัญพืชเสริมแคลเซียม
- อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น เนื้อไร้มัน ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ถั่วและอาหารทะเล (ถ้าลูกไม่แพ้นะคะ)
- กรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาแซลมอน อาหารเสริมจากปลา ถั่วและเมล็ดพืช
- ธัญพืชเต็มเมล็ด
- ผักและผลไม้
- ซุป
- น้ำ
ในช่วงให้นม คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทด้วยถ้าลูกมีอาการแพ้ เช่น แอลกอฮอล์และอาหารทะเล
หากคุณกังวลว่าอาจมีนมไม่พอให้ลูกดื่ม ก็ควรทานอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนม ได้แก่ หัวปลี ขิง ลูกซัด อินทผลัม กะเพรา ใบแมงลัก ใบกุยช่าย ใบตำลึง กานพลู พริกไทย มะละกอ ฟักทอง และเม็ดขนุน เป็นต้น
แม่ให้นมอาจทานอาหารเสริมที่มีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปเพื่อเสริมสร้างสุขภาพได้ แต่ก็ควรอ่านฉลากอย่างระมัดระวังด้วยว่าอาหารเสริมนั้นๆ เหมาะกับสตรีระหว่างให้นมบุตรหรือไม่
สารพันคำถามสิ่งคุณแม่มักเป็นกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีคำตอบอยู่ในหน้าถัดไป >>
สิ่งที่แม่ให้นมระยะยาวมักกังวล
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่าหนึ่งปีจะทำให้ลูกหย่านมยากหรือเปล่า?
คุณแม่หลายๆ คนได้ยินได้ฟังมาว่าการได้ดื่มนมแม่นานๆ จะทำให้ลูกติดนิสัย และทำให้หย่านมยากเมื่อแม่อยากหยุดให้นม
การหย่านมก็เช่นเดียวกับระยะอื่นๆ ของการให้นมแม่ คือต้องดูจังหวะความพร้อมของแม่หรือของลูก นักวิจัยบางคนมองว่าการหย่านมเมื่อเด็กพร้อมจะเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าและเด็กจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับทั้งแม่และลูกค่ะ
จะทำให้ลูกวัยซนดื่มนมแม่นิ่งๆ ได้อย่างไร?
ถ้าลูกน้อยของคุณเป็นจอมป่วนระหว่างดื่มนมแม่ละก็ คุณไม่ใช่คนเดียวที่ต้องรับศึกหนักหรอกค่ะ เรามีเคล็ดลับง่ายๆ ช่วยให้คุณจัดการกับจอมซนตัวน้อยระหว่างให้นมได้อย่างอยู่หมัด
- ถ้าลูกชอบเลิกเสื้อผ้าของคุณในที่สาธารณะหรือการให้นมทุกครั้งขลุกขลักจนคุณตกเป็นเป้าสายตา ลองตั้งกฎว่าคุณจะให้นมเฉพาะที่บ้านหรือในห้องให้นมเท่านั้น
- ใช้ผ้าคลุมให้นมลูกเพื่อความเรียบร้อยเป็นส่วนตัว หรือหามุมเงียบๆ สักแห่งในร้านอาหารหรือร้านกาแฟ (กรณีที่ไม่มีห้องให้นมอยู่ใกล้ๆ)
- แม่หลายคนจัดตารางให้นมเป็นกิจวัตรเพื่อความสะดวกในการบริหารเวลา
- สอนรหัสให้ลูกบอกเวลาที่ต้องการดื่มนมยามอยู่นอกบ้าน เช่นคำว่า “นมๆ” หรือ “หิวๆ” ลูกจะได้ไม่เลิกเสื้อเลิกกระโปรงของคุณในที่สาธารณะเมื่ออยากดื่มนมแม่
- ติดของเล่นชิ้นโปรดของลูกไปด้วย ลูกจะจับเล่นเพลินๆ ระหว่างดื่มนม
- ถ้าลูกไม่ชอบนั่งนิ่งๆ เวลาอยู่นอกบ้าน ลองใช้เป้อุ้มเด็กและเดินให้นมลูกไปด้วยในตัว
- ปั๊มนมใส่ขวดให้ลูกดื่มเวลาออกไปข้างนอก และให้ลูกเข้าเต้ายามอยู่บ้านหรืออยู่ในห้องมิดชิดเท่านั้น
จะยังให้นมลูกได้ไหมถ้าตั้งครรภ์?
ปริมาณน้ำนมของคุณจะลดลงเมื่อตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายเปลี่ยนไปส่งสารอาหารให้เด็กในครรภ์แทน นอกจากนี้ น้ำนมของคุณยังอาจมีรสชาติที่แตกต่างไปจากเดิมด้วย
คุณควรแจ้งให้สูตินรีแพทย์ทราบว่าคุณให้นมระยะยาวแก่ลูกคนโต หากการตั้งครรภ์มีความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้คุณหย่านมลูกคนโต เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กในครรภ์และของคุณเอง
สำหรับการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงดี มีแม่มากมายที่สามารถให้นมลูกคนโตต่อไปได้จนครบอายุครรภ์ และบางครั้งยังให้นมลูกพร้อมกันทั้งสองคนหลังคลอดด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพของคุณ สภาพร่างกายของทารก และร่างกายของคุณปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากน้อยเพียงไร
แม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจขยาดการให้นมขึ้นมา เพราะหน้าอกกลับมาคัดตึงและเจ็บหัวนมระหว่างให้นมลูกอีก ซึ่งนับว่าเป็นอาการปกติ การให้นมระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นความท้าทายสำหรับคุณแม่ขึ้นไปอีกระดับ
อย่างไรก็ตาม ลูกคนโตมักจะหย่านมเองตอนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติของน้ำนมที่เปลี่ยนไป ปริมาณน้ำนมน้อยลง และการที่รู้ว่าแม่เจ็บเวลาต้องให้นม
วิธีหย่านมลูกวัยซน
การหย่านมอย่างอ่อนโยนและค่อยเป็นค่อยไปนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ ขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยให้คุณและลูกหย่านมได้อย่างไม่เกิดความเครียดมากนัก
- จำกัดว่าให้นมแค่วันละครั้ง
- ลดระยะเวลาให้นมลง เช่น จาก 25 นาทีเหลือ 10 นาที
- ถ่วงเวลาเริ่มให้นม เช่น ถ้าปกติลูกดื่มนมห้าหรือสิบนาทีก่อนเข้านอน คุณอาจจะเข้าไปหาลูกช้าลงหน่อยในคืนที่ลูกเหนื่อยเป็นพิเศษ หลังจากนั้นลองแง้มประตูแอบดู ลูกอาจจะเผลอหลับไปแล้วก็ได้ค่ะ
อย่าลืมว่าความอดทนคือกุญแจสำคัญในการหย่านม ถ้าลูกเริ่มมีปฏิกิริยาด้วยการอาละวาดหรือร้องไห้โยเย คุณต้องเตือนตัวเองให้สงบไว้ อย่าโมโหลูก เพราะลูกเองก็กำลังพยายามเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกันค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
11 สุดยอดอาหารสมุนไพรช่วยเพิ่มน้ำนมแม่
รู้แล้วจะอึ้ง! อายุไม่ใช่อุปสรรคในการให้นมลูกสำหรับผู้หญิงคนนี้