สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสอนกันได้ข้ามคืน แต่มาจากการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และมีหลักการ การที่คนคนหนึ่งจะสามารถมี ความยืดหยุ่นและมั่นคงทางอารมณ์ จะต้องมาจากประสบการณ์ที่เข้าใจว่าความผิดหวัง การไม่ได้อย่างใจ ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการของธรรมชาติ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เด็กควรจะได้รู้ว่าความรู้สึกโกรธ โมโห วิตกกังวล หรือเสียใจ เป็นความรู้สึกที่เราสามารถจัดการได้ และจะไม่อยู่กับเรานาน ถ้าเราสามารถอธิบาย และให้กำลังใจกับเด็กในเวลาที่เขาได้เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ลูกของเราก็จะได้เรียนรู้ไปในตัวว่า สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ และก็ไม่ได้แปลว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายความสุขของเราได้ในระยะยาว ถ้าคุณสามารถเป็นตัวอย่างในการจัดการทางอารมณ์ และชี้แนะลูกได้ ลูกของคุณจะเติบโตมาด้วยสุขภาพจิตที่ดีและอารมณ์ที่มั่นคง และลดโอกาสเป็นโรคผิดหวังไม่เป็น และโรคซึมเศร้า
เราลองมาดูกันว่า เราควรทำอย่างไร
1.ฟังลูกพูด ถามเรื่องราวแต่ละวัน เรื่องที่ทำให้ลูกโกรธและเสียใจเช่น เรื่องลูกทะเลาะกับเพื่อน โดยเราฟังมากกว่า ที่จะบอกว่าใครผิดใครถูก ฟังด้วยความตั้งใจ การฟังของคุณ เป็นการสื่อให้ลูกรับรู้ว่า คุณรับฟัง คุณเข้าใจและไม่ตัดสิน และคุณยังสามารถแชร์ประสบการณ์ตัวเองได้ด้วย คุณจะพบว่าลูกจะแปลกใจ และรู้สึกดีที่คุณเองก็เคยเจอเหมือนเขา “แม่ก็เคยทะเลาะกับเพื่อน แต่อีกสักพักเราก็คุยกัน เล่นกันไม่โกรธกันอีก การเป็นเพื่อนกันบางทีก็ต้องมีความเข้าใจผิดกันบ้างนะลูก”
2. อย่าปกป้องหรือตามใจลูก จนมากเกินไป การที่เราปกป้องลูกมากเกินไป เป็นการส่งเสริมให้ลูกมีความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น
3. พ่อแม่ที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกชนิดกับลูก เช่น เมื่อลูกถึงวัยที่สมควรจะช่วยเหลือตัวเองบ้าง โดยไม่มีผู้ช่วย เราก็ควรให้ลูกลองผิดลองถูก โดยที่เราลองดูอยู่ห่างๆ ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับวัยและสถานการณ์ สอนให้ลูกเข้าใจว่าคนเราไม่ต้องเก่งทุกๆเรื่องๆ และสามารถทำความผิดพลาดได้ และแก้ไขได้ สอนให้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยการแนะแนวทางการการจัดการและแก้ไขกับสถานการณ์และความรู้สึกกังวล เช่นลูกจะไปเข้าค่ายแทนที่จะบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรที่น่ากังวล ให้คุยถึงโปรแกรมที่ลูกจะต้องทำร่วมกับคนอื่น และการต้องปฎิบัติตัว หรือหากมีเหตุการณ์อะไรที่ลูกกังวลเป็นพิเศษ ให้ลองปรึกษาคุยกันถึงแนวทางแก้ไข หรือจัดการ หากลูกเป็นคนขี้อาย เราควรสอนทักษะที่ลูกต้องเรียนรู้ เช่นการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ต้องทำอย่างไร สอนวิธีการที่จะจัดการกับสิ่งที่ลูกมองว่าเป็นปัญหา และข้อกังวลใจ
สมมุติว่าลูกกลัวการเรียนว่ายน้ำ แทนที่จะบอกว่า เดี๋ยวลูกก็จะชอบเองให้ลองเปลี่ยนเป็นพูดว่าบางคนก็กลัวการว่ายน้ำแรกๆ เพราะไม่รู้ว่าจะว่ายน้ำยังไง แต่เราต้องเรียน เพราะถ้าลูกจมน้ำ พ่อแม่จะเสียใจที่สุด แม่จะนั่งรอดูข้างสระ ลองดูว่าวันนี้อาจทำได้ดีกว่าหนก่อนนัลูก การที่คุณสนับสนุนให้ลูกก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง เป็นการสอนให้ลูกสร้างความมั่นใจและสามารถทำอะไรให้สำเร็จได้
4. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ และการจัดการกับสถานการณ์ที่มีอารมณ์นั้นเกิดขึ้น เช่นว่าลูกโมโหที่ไม่ได้ ทานไอศรีม เราบอกลูกได้ว่า แม่เข้าใจว่าอยากทานแต่การตะโกนโวยวายเป็นพฤติกรรมที่แม่ว่าไม่ดีเลยหรือถ้าลูกโกรธ เราบอกลูกได้ว่า แม่เข้าใจว่าเป็นแม่ แม่ก็คงโกรธเหมือนลูก แต่เราจะทำอย่างไรกันดีต่อไป ดีกว่านั่งโกรธอยู่อย่างนี้ ด้วยวิธีนี้ คุณกำลังส่งเสริมให้ลูกมีความคิดวิเคราะห์พฤติกรรมตัวเองและจัดการชีวิตตัวเองได้อย่างมีระบบ
5. เป็นตัวอย่างที่ดี การมีลูกเป็นการบังคับเรากลายๆ ให้พัฒนาตัวเราเอง ให้เป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสิ่งที่ดีงามมักเริ่มจากพ่อแม่ ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นคนมี ความยืดหยุ่นและมั่นคงทางอารมณ์ สามารถเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยความหนักแน่น เราสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้
อาวีนันท์ กลีบบัว
School Executive Director
RBIS Rasami British International School