บ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่นี้ บ้านไม้เล็กๆ หลังหนึ่งในหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายยังคงสภาพไม่ต่างกับเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน อะไรทำให้เจ้าของบ้านหลังนี้ไม่รื้อถอนหรือแม้แต่ต่อเติมใดๆ แม้ว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะหันไปสร้างบ้านจากอิฐและปูนที่แข็งแรงและทันสมัยขึ้น เจ้าของบ้าน วิโรจน์ พนากำเนิด หรือ ลุงหล้า เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่บ้านหลังนี้ และเขาตั้งใจจะดูแลรักษามันอย่างดีไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด
วิโรจน์ พนากำเนิด หรือ ลุงหล้า ขณะรอกราบพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ลุงหล้า เล่าถึงความประทับใจครั้งนั้นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่หมู่บ้าน เพื่อทรงศึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ มาที่บ้านของลุงหล้า ทรงสอบถามเรื่องการประกอบอาชีพในบริเวณนี้ พร้อมทั้งพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรแผนใหม่ ภาพที่ในหลวงทรงร่วมพิธีผูกดวงชะตาตามวิถีชาวเขาบริเวณหลังบ้าน และทรงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ยังคงแจ่มชัด
อยู่ในความทรงจำของลุงหล้า หลายครั้งที่หันไปมองผนังไม้ในห้องนั่งเล่น ก็ยังเห็นภาพพระองค์ประทับบนพื้นไม้ตรงนั้นซ้อนทับขึ้นมา ราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
ปัจจุบัน ชาวเขาในหมู่บ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก สถานีวิจัยโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ที่ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเมื่อปี 2522 (ปัจจุบันคือสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์) เปลี่ยนเนินเขาที่เต็มไปด้วยดอกฝิ่น ให้กลายมาเป็นไร่ที่เต็มไปด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล หลากหลายชนิด จากการทำไร่เลื่อนลอยเป็นอาชีพหลักก็กลายมาเป็นการทำเกษตรแบบถาวร ซึ่งช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวเขา ในขณะที่เด็กๆ ก็ได้มีการศึกษา ได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาท้องถิ่น และมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตน
ลุงหล้ามักเล่าให้ลูกหลานฟังเรื่องเหตุการณ์เมื่อเกือบ 40 ปีก่อนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่เสมอๆ และหวังว่าจะได้พบกับพระองค์ท่านอีกครั้ง แม้ว่าในวันนี้อาจจะทำได้แค่มากราบลาก็ตาม
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารกรุงศรี ออโต้ได้เดินทางไปที่ชุมชนม้งเพื่อศึกษาถึงเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ไป ตลอดจนโครงการหลวงที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มไว้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จึงมีโอกาสได้พบกับลุงหล้าและสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ด้วยความรู้สึกประทับใจที่ลุงหล้าถ่ายทอดออกมา คณะผู้บริหารจึงได้ชวนคุณลุงและครอบครัวมากราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กรุงเทพฯ
ลุงหล้าซึ่งไม่เคยมากรุงเทพฯ และไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลยสักครั้ง ได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งพูดคุยกับลูกหลานที่เคยเดินทางบ่อยๆ แต่คืนก่อนที่จะเดินทาง ลุงหล้าก็ยังคงนอนไม่หลับ เพราะความตื่นเต้นและตื้นตันเต็มแน่นอยู่ในหัวใจ เพราะพรุ่งนี้ลุงหล้าจะได้ร่วมส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัยแล้ว
ลุงหล้าและครอบครัวเดินทางมาถึงบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวังแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ในมือถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มองเผินๆ แล้วอาจดูเหมือนภาพพระราชกรณียกิจทั่วไป แต่หากดูโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ชายในชุดชาวเขาเผ่าม้งที่ยืนฟังพระองค์อยู่ตรงกลางรูปนั้นคือลุงหล้าในวัยหนุ่ม คุณลุงและครอบครัวได้บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจครั้งนั้นให้ผู้คนที่มาร่วมกราบพระบรมศพฟังด้วยสีหน้าปลื้มปิติ รู้ตัวอีกทีก็ได้เดินมาถึงหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว
แม้ว่าภายในพระที่นั่งจะเต็มไปด้วยพสกนิกรนับร้อย แต่บรรยากาศกลับสงบนิ่ง ลุงหล้าหันไปมองคนรอบข้างที่ต่างมาที่นี่ด้วยความตั้งใจหนึ่งเดียว ก่อนจะก้มตัวลงกราบเบื้องหน้าพระบรมโกศ พร้อมอธิษฐานในใจว่า “ในหลวงเปิ้นอยู่บนสวรรค์แล้ว ขอให้ท่านส่องแสงลงมา ให้ลูกหลานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี”
ภาพเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนแวบเข้ามาในความทรงจำอีกครั้ง ลุงหล้าถือพระบรมฉายาลักษณ์ไว้แน่น พร้อมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะนำกลับไปแขวนที่ผนังบ้าน และเล่าลูกหลานฟังถึงเหตุการณ์วันนั้นอีกครั้ง เหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล
บรรยายภาพ
(ซ้ายบน) ลุงหล้า ในบ้านไม้หลังเล็กที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน
(ซ้ายล่าง) ผู้บริหารกรุงศรี ออโต้ ล้อมวงฟังลุงหล้าที่ดอยอินทนนท์เล่าถึงเมื่อครั้งในหลวงเสด็จฯ มาที่นี่ (ภาพ: ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ EEC)
(ขวาบนและล่าง) ลุงหล้า ครอบครัว และเพื่อน ขณะรอกราบพระบรมศพที่พระบรมมหาราชวัง