ใครกันนะที่ชอบโพสต์เรื่องร้ายๆ
คนที่โพสต์เป็นประจำจนกลายเป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะเรื่องอะไร วันนึงๆ ไม่ต่ำกว่า 3 โพสต์ บางคนโพสต์แทบทุกชั่วโมง ทุกเรื่องตั้งแต่วันแดงเดือด รถติด ทะเลาะกับแฟน เจ้านายด่า ลูกน้องไม่ถูกใจ เพราะอะไรถึงโพสต์เยอะขนาดนั้น เอาเป็นว่ายังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง รวมถึงการวิจัยอย่างเป็นทางการ เอาเท่าที่เดาๆ กัน อาจจะเป็นเพราะไม่มีความมั่นใจในตัวเองเหรอ เรียกร้องความสนใจไหม ต้องการกำลังใจรึเปล่า หรือแค่อยากระบาย
1.ความมั่นใจต่ำ โซเชียลช่วยให้มั่นใจมากขึ้น
คนแบบนี้จะมีลักษณะนิสัย อ่อนไหวง่ายต่อคำวิจารณ์, จิตตกง่าย สะเทือนใจง่าย, กลัวการเข้าสังคม, ไม่กล้าพูดกับใครก่อน, มีพฤติกรรมเช็กเรตติ้งในหลายรูปแบบ, ยึดติดกับวัตถุนอกกาย,หาความสุขจากสิ่งภายนอก, ไม่ดูแลตัวเองหรือที่อยู่อาศัย, ไม่กล้าตัดสินใจ,แคร์สายตาคนอื่นมากกว่าความต้องการของตัวเอง, กลัวผิด, ไม่กล้าลงมือ, วางอำนาจ, ชอบแก้ตัว, มักยกตนข่มผู้อื่น, รู้สึกว่าต้องทำดีกว่าเดิมให้ได้อยู่เสมอ (สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)
เมื่อคนที่ไม่มั่นใจและรู้สึกขาด จึงโพสต์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่บนโซเชียล เลือกโพสต์เฉพาะวันที่แต่งตัวสวย ไปเที่ยวที่ดีๆ เจออะไรเด็ดๆ โพสต์เพื่อให้คนอื่นเห็นเราในแบบที่เราอยากเป็น และให้เขามากดไลก์เพื่อให้ได้การยอมรับในตัวตนนั้น
แต่พอเราเริ่มจริงจังกับอัตลักษณ์บนโลกเสมือน เราก็ถ่ายเทหลายส่วนที่เป็นเราแล้วทำให้มันเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ่ายโอนทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แล้วก็พาลเชื่อเวลามีคนมากดไลก์สเตตัสที่ลบๆ ร้ายๆ ว่า เขาสามารถยอมรับและเข้าถึงตัวตน (เสมือน) ของเราได้ในทุกด้าน โอ้ววว…โลกในฝันดีๆ นี่เอง
2.อยากให้คนอื่นต้องการความใส่ใจ
ดูง่ายๆ คนที่โพสต์บ่อยมากเท่าไร ก็เพราะต้องการความสนใจจากเพื่อนและสาธารณะมาก มีงานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Union College of New York บอกว่า คุณกำลังโหยหาความเป็นที่สนใจอย่างทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
เอ…หรือเพราะเราไม่ได้ให้ความสนใจต่อกันและกันในชีวิตประจำวัน เพราะแต่ละวันสำหรับหลายคนมันก็เป็นแค่วันธรรมดา ก็เลยรู้สึกดีเวลาที่มีคนมากดไลก์กดเลิฟกับเรื่องบางเรื่องที่เราหยิบยกมาแชร์ เมื่อมีคนสนใจเรื่องของเรา เราก็รู้สึกพิเศษ แล้วบังเอิญว่าบ้านเรานั้นชอบเหลือเกินเรื่องดราม่า อกหัก รักซ้อน ชีวิตทรุด มนุษย์หลายคนก็เลยขยี้เรื่องที่ตัวเองกำลังประสบพอเจอให้ดูพิเศษราวกับว่าตัวเองเป็นตัวละครเอกในละครหลังข่าว ให้คนอ่านอินไปตามๆ กัน
ก็เห็นชัดกันอยู่ว่าบ้านเราชอบข่าวเมาท์ เรื่องดีๆ เบาๆ เหมือนที่เห็นในชีวิตประจำวันมันไม่ดึงความสนใจอะไรอีกแล้ว
3.สนใจตรูนิสนึงน้า
เราต้องการเช็กว่าซัพพอร์ต (support) รายล้อมเรายังมีชีวิตอยู่ไหม ยังแคร์เราอยู่ไหม เราก็เลยโยนภาวะทิ้งดิ่งลงไปในโซเชียล อย่างประโยคที่ว่า “ชีวิตที่ผ่านมาคืออะไร วันพรุ่งนี้ก็ไม่มีจริง” หรือบางทีเราก็โยนภาวะระเบิดในใจ อย่าง “staff ที่นี่น่าต่อยจริงๆ ขออย่าให้ได้ร่วมงานกันอีกเลย” เพื่อให้คนเข้ามาตอบง่ายๆ ว่า “เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ” “ใครทำมึง เดี๋ยวกูช่วย” อะไรเทือกนี้ ใครได้รับข้อความจากเพื่อนในเฟซบุ๊กแบบนี้ไปก็รู้สึกดีว่าเราเนี่ยมีคนคอยอยู่เคียงข้าง ไม่เดียวดาย
บางคนทำในสเกลใหญ่เข้าข่ายบานปลาย ด้วยการหาพวกโพสต์เพื่อโจมตีคนอื่น และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีๆ ที่อาจทำให้ต้องเสียงานเสียการกันได้นะคะ
4.เห็นใจกันบ้าง
หลายคนอาจต้องการกำลังใจชีวิตและความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ในวันที่แพ้พ่าย ก็เลยแชร์เรื่องแย่ๆ ให้คนอื่นฟัง เดี๋ยว…นี่เราไม่มีพื้นที่ปลอดภัยไว้เล่าเรื่องเศร้าเรื่องแย่ๆ จนคนต้องเอามาเขียนลงบนโซเชียลฯ กันแล้วใช่ไหม? คำตอบก็คือ…น่าจะใช่ ตามธรรมชาติคนเรามีความต้องการที่จะเล่าระบายเรื่องทุกข์ใจให้กับใครสักคนที่ไว้ใจฟัง เมื่อมีความต้องการเชื่อมโยงและต้องการความเห็นอกเห็นใจหรือ ‘empathy’ แล้วบังเอิญมีโลกแห่งความเชื่อมโยงอยู่ในโลกไซเบอร์ เออ…ใครจะไม่ลองใช้ แถมก็มีหลายทีที่เราได้กำลังใจผ่านทางโซเชียลตั้งมากมาย
5.ขาดการเก็บกลั้นอารมณ์
หรือเรียกง่ายๆ ว่าสิ่งที่บ่นในโลกจริงไม่ได้ เราโยนลงโซเชียลหมด โยนทุกอย่างที่วิ่งเข้ามาในหัว โยนทุกความรู้สึกที่ก่อผลึกอยู่ในใจให้ไปวางไว้ใน status update พอเราได้เขียนออกไป เราก็โล่งใจปลอดโปร่ง อันนี้เหมือนผลักให้ทุกอย่างไปกองลงในเฟซบุ๊ก เหมือนเวลาคนโกรธหรืออัดแน่นไปด้วยความคิดในใจมากๆ แล้วจัดการมันไม่ได้ เช่น โกรธเวลาไปรับบริการบางอย่างแล้วไม่รู้จะพูดกับใคร โกรธไปรษณีย์ไทย โกรธประเทศชาติ โกรธคอนโดฯ ที่สร้างอยู่ข้างบ้าน โพสต์ก่นด่ามันก็จะมากันเป็นพรวน
6.เขียนลงไดอารี่เชยแล้ว ต้องโพสต์เท่านั้นในยุคนี้
หลายคนใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียแทนไดอะรี จด บันทึก แปะภาพ ถ่ายโอนทุกอย่างที่อยากเก็บไว้ในความทรงจำทั้งหมดลงไปในไทม์ไลน์ แล้วพอเราเห็นมันเป็นไดอะรี เรื่องร้าย เรื่องดี เขียนหมดทุกอย่างในหลืบใจ เพราะเข้าใจว่าพื้นโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา เพราะเราจัดการมันได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ผิด เพราะพื้นที่เหล่านั้นห่างไกลจากคำว่าพื้นที่ส่วนตัวมาก มันเป็นที่สาธารณะที่ใครก็ตามสามารถเข้ามาดู ออกความเห็น แชร์ต่อ แคปหน้าจอ และทำอะไรได้หลายอย่าง ที่สำคัญแม้จะมีให้เลือกเซตค่าความเป็นส่วนตัว แต่เอาเข้าจริงๆ เราควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลได้ไม่หมดหรอก
สิ่งที่น่าคิดซ้ำก็คือ หลายๆ อย่างที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในตัวเอง ความใส่ใจจากคนรอบข้าง ซัพพอร์ตที่แบ็กอัพใจ ความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ เติมเต็มความรู้สึกเดียวดายและพื้นที่ปลอดภัยไว้ระบายความทุกข์ใจ และแหล่งกักเก็บความทรงจำอันมีค่าทั้งหลาย เราควรจะใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียในการทำหน้าที่นั้นไหม?
คำถามสำคัญ: เราต้องใช้โซเชียลมีเดียทำหน้าที่นั้นไหม?
ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า เราใช้พื้นที่โซเชียลออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการลึกๆ ทางใจหลายอย่าง ทุกอย่างมีที่มา เพียงแต่ว่าสิ่งที่น่าคิดซ้ำก็คือ หลายๆ อย่างที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในตัวเอง ความใส่ใจจากคนรอบข้าง ซัพพอร์ตที่แบ็กอัพใจ ความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ เติมเต็มความรู้สึกเดียวดายและพื้นที่ปลอดภัยไว้ระบายความทุกข์ใจ และแหล่งกักเก็บความทรงจำอันมีค่าทั้งหลาย เราควรจะใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียในการทำหน้าที่นั้นไหม?
‘การแยกแยะ’ หาเส้น ‘ขอบเขต’
ระหว่างตัวตนจริงและอัตลักษณ์เสมือนบนโลกโซเชียล คุณที่ได้รับยอดไลก์ ก็ไม่ใช่คุณจริงๆ ที่นั่งโพสต์รูปเหล่านั้นลงไป การที่คนชอบสิ่งที่คุณเขียนก็ไม่ได้แปลว่าเขายอมรับความเป็นคุณทั้งหมด เขาแค่ชอบข้อความนั้นๆ เท่าที่เขาเห็น เขาแค่ชอบตัวตนจำลองที่คุณปั้นแต่งลงไป
ระหว่างปฏิสัมพันธ์จริงกับปฏิสัมพันธ์ปลอม แน่ใจได้อย่างไรว่าคนที่เขากดไลก์เขาชอบสิ่งนั้นจริงๆ บางคนทำเพื่อเหตุผลอื่น เช่น กดเพื่อแสดงตัวว่าเห็นข้อความนั้นนะ กดไลค์เพื่อกดดัน เราไม่มีวันรู้ความหมายที่แท้จริงผ่านปฏิสัมพันธ์ปลอม
โซเชียลคือพื้นที่สาธารณะเด้อ
ท่องดังๆ วันละ 3 ครั้งค่ะว่า อินสตาแกรมเอย เฟซบุ๊กเอย ทวิตเตอร์เอย มันเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว และการใช้พื้นที่สาธารณะจำเป็นต้องแคร์คนอื่นที่ใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ไอเดียที่ว่า พอเป็นพื้นที่สาธารณะแล้วเราจะทำอย่างไรกับมันก็ได้ ในเมื่อเรายังมีคนอื่นๆ รายล้อมให้เคารพและใส่ใจ
พึงระลึกเสมอว่า อะไรที่คุณเขียนพ่นก่นด่า สาดส่งด้วยความเกลียด หรือแชร์ด้วยความชิงชังนั้น ไม่ได้ลอยอยู่แค่หน้าสเตตัสของคุณคนเดียว แต่เป็นคลื่นระลอกข่าวสารที่จะไปวนบนหน้าพื้นที่โซเชียลคนอื่น นั่นแปลว่าคุณกำลังโยนขยะความรู้สึกและปฏิกูลทางความคิดลอยเข้าไปในอากาศที่มีคนอีกหลายหมื่นคนอาจจะได้รับการปนเปื้อนมันไปโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วหลายคนเขาก็ไม่ได้อยากจะเห็นมัน เขาเลือกไม่ได้
โซเชียลบ่ใช่ถังขยะเด้อ
เพราะฉะนั้น มีขยะที่อยากขย้อนก็เอามันไปใส่ลงในพื้นที่ส่วนตัวที่มีคนใกล้ตัวสามารถฟัง ประคอง และกรองมันไปอย่างไว้ใจ หรือไม่ก็ไปพักไว้ในบ่อบำบัดน้ำเสียที่เรียกว่าไดอะรีจะดีกว่าไหม มันจะได้ไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เพราะมันไม่ใช่การจัดการความรู้สึกแง่ลบอย่างแท้จริง เพราะคุณก็แค่ผลักโยนมันออกไปนอกตัวชั่วคราว
เอาแบบจำง่ายๆ “ถ้ามีขยะ ก็ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง อย่าโยนมันขึ้นไปบนอากาศให้คนอื่นตามหลบ ตามอี๋ แล้วขยะเหล่านั้นมันก็มีข้อดี มันเคยมีประโยชน์กับเรามาก่อน แค่ตอนนี้อาจเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถือไว้ที่ตัวแป๊บนึง หยิบขึ้นมาดู พินิจพิเคราะห์ แล้วถ้าเจอถังขยะก็ค่อยปล่อยทิ้งมันให้ถูกที่ถูกทาง หรือบางครั้งเรามองมันนานพอที่จะเห็นประโยชน์จากขยะแล้วนำมันไปรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็เป็นได้”
อย่างที่สตรีมีคลาสกล่าว เราต้องรับผิดชอบความทุกข์ของตัวเองด้วยตัวของเราเอง นะคะ
และถ้าอยากได้ความเชื่อมโยงเพื่อเติมเต็มความเดียวดายอย่างแท้จริงในเวลาที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส แนะนำให้โทรหาเพื่อนสนิทหรือคนรู้ใจ แล้วใช้เวลาให้มันผ่านไปแบบลืมโทรศัพท์ไปเลย…อันนี้น่าจะเดียวดายน้อยลงได้อย่างแท้ทรู